“ม.ล.กรกสิวัฒน์” ย้ำคนไทยเป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำมันในประเทศ ไม่ใช่ต่างชาติ รัชกาล 7 พระราชทานให้คนไทย แต่ระบบสัมปทานกลับยกให้ต่างชาติ ขุดน้ำมันในประเทศแต่คนไทยซื้อกลับมาใช้ในราคาตลาดโลก แนะปฏิรูปพลังงานต้องเริ่มต้นที่การจัดการทรัพยากรที่ถูกต้อง วอน คสช.เปิดรับข้อมูลรอบด้าน ยับยั้งเปิดสัมปทานรอบที่ 21
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อดีตคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา และนักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า หลักคิดเรื่องทรัพยากรปิโตรเลียมของข้าราชการและนักการเมืองกับภาคประชาชนปฏิรูปพลังงานมีความแตกต่างกัน จึงอยากจะขอยกตัวอย่างคำพูดของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในงานสัมมนาเรื่องสัมปทานขุดก๊าซและน้ำมัน ซึ่งกลุ่มข้าราชการมีหลักคิดว่า ทรัพยากรน้ำมันและก๊าซที่อยู่ใต้ดินมีค่าเป็น 0 คือไม่มีค่าเลย แต่เมื่อฝรั่งมาช่วยขุดใช้ในประเทศและส่งออก มันก็มีค่าขึ้น ประเทศไทยได้ค่าภาคหลวงและภาษีมาบ้างถือว่าเหมาะสมแล้ว น้ำมันไทยที่ขุดได้ถ้าไทยอยากใช้ เราก็ต้องไปซื้อเขากลับมาในราคาตลาดโลก ส่วนก๊าซไทยที่ขุดได้ก็ต้องซื้อเขาในราคา(เฉพาะเนื้อก๊าซ)สูงกว่าราคานิวยอร์ก 2-3 เท่า(NYMEX Natural Gas) แล้วข้าราชการก็อยากให้คนไทยขอบคุณฝรั่งที่มาช่วยขุดให้คนไทยมีพลังงานใช้ โดยคนไทยมีฐานะเป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น เพราะไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักคิดว่าคนไทยเป็นเจ้าของทรัพยากรเลยทั้งที่เป็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานให้แก่ประชาราษฎร
ทั้งนี้ภาคประชาชนปฏิรูปพลังงานตระหนักว่า ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของบรรพบุรุษไทยที่เสียเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อรักษาแผ่นดินไว้ และในปี พ.ศ.2475 รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานให้คนไทยแก่ทุกคน จนมาบัดนี้ ประชาธิปไตยผ่านมา 82 ปี สมบัติชิ้นนี้ยังไม่ถึงมือคนไทย เนื่องจากระบบสัมปทานในการขุดปิโตรเลียมที่ใช้อยู่ เป็นการยกความเป็นเจ้าของทรัพยากรของคนทั้งชาติให้แก่ต่างชาติ ดังนั้น เมื่อให้สัมปทานไปคนไทยจึงขาดจากความเป็นเจ้าของทันที การมีทรัพยากรในประเทศก็เหมือนไม่มี ถึงขุดในประเทศไทยแต่คนไทยก็ต้องซื้อในราคาตลาดโลก
แนวคิดการปฏิรูปทรัพยากรปิโตรเลียมของประชาชนเกิดขึ้นมิได้มีจุดประสงค์เพื่อให้ราคาพลังงานถูกมากๆ แบบประชานิยม แต่มีเป้าหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมแบบเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักการพึ่งพิงตนเอง โดยลดการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากนอกประเทศเป็นขั้นต้น สนับสนุนนพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มศักยภาพเพื่อนำไปสู่การลดการพึ่งพิงพลังงานจากปิโตรเลียมในระยะยาว และสำคัญที่สุดคือ การกำจัดการผูกขาดพลังงาน การกำหนดราคาพลังงานที่ถูกต้องโปร่งใส และเกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง
ดังนั้น การปฏิรูปพลังงานต้องเริ่มต้นที่การจัดการทรัพยากรที่ถูกต้องเหมาะสม ระบบสัมปทานไม่ใช่ระบบที่สอนให้เราจับปลาเป็น แต่เป็นระบบที่เราขอปลาตัวเล็กๆ เขากินไปวันๆ ขณะที่ ประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมดใช้ระบบแบ่งผลผลิตในการจัดการ ซึ่งเสมือนหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยรัฐลงทุนด้วยทรัพยากร เอกชนลงทุนเงินและเทคโนโลยี กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจึงตกเป็นของชาติ เอกชนจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับรัฐทั้งหมด โดยรัฐจ่ายค่าขุดเจาะเป็นปิโตรเลียมที่ขุดได้ ระบบนี้ รัฐจะสามารถบริหารจัดการนโยบายพลังงานได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีทั้งก๊าซและน้ำมันในมือเอง ไม่ว่ารัฐจะขายพลังงานราคาใดประโยชน์ก็จะตกกับประเทศและคนไทยในที่สุด และระบบนี้จะทำให้ไทยยืนบนขาตนเองได้ในอนาคต ด้วยหลักคิดที่แตกต่างกันนี้เอง ทำให้กลุ่มข้าราชการที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” จึงยืนตรงข้ามกับภาคประชาชนมาโดยตลอด ภาคประชาชนจึงขอเสนอว่า ควรยับยั้งข้อเสนอในการเร่งรีบเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพราะคนไทยจะต้องเป็นทุกข์จากทรัพยากรไทยใต้แผ่นดินตนเองไปอีกกว่า 30 ปี ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เปิดรับฟังข้อมูลรอบให้ด้าน
ขณะเดียวกัน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน หนึ่งใน "กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน" ได้เขียนบทความบนคอลัมน์พลังงานเพื่อความยั่งยืน หัวข้อปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนบนเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วรรคหนึ่งว่า ภาคพลังงานไทยถือว่าได้พัฒนาก้าวหน้าไปมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีปัญหาที่ควรแก้ไขโดยเร็ว โดยเฉพาะเราไม่ได้มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบมากมาย แม้ว่าการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสู่ระดับหนึ่งล้านบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ แต่การใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน จึงต้องนำเข้าพลังงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ และมีแนวโน้มว่าเราจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในต้นทุนที่สูงกว่าที่ผลิตในประเทศมากซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า
อีกทั้งในปัจจุบันการควบคุมดูแลกิจการพลังงานของรัฐก็มีความเสี่ยงของการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล และฝ่ายปฏิบัติ ทำให้เกิดภาวะการแทรกแซงโดยมิชอบอยู่บ่อยครั้ง