xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจี้ปฏิรูปพลังงานปลอดจากการเมือง-เลิกประชานิยมราคาถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดเวทีปฏิรูปพลังงาน นักวิชาการเสนอผ่าทางตันต้องกำจัดธุรกิจพลังงานให้ปลอดจากการเมืองเข้าแทรกแซง โดยเฉพาะห้ามส่งคนการเมืองเข้าคุมบอร์ด รสก. รวมถึงราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนจริงเพื่อความมั่นคงระยะยาว ยกเคสเวเนซุเอลายังโดนขับไล่ รุมสวด รง.4 อุปสรรคใหญ่กีดกั้นลงทุนหวังให้วิ่งเต้น

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานเสวนา “ความจริงคนไทยควรรู้.... ความมั่นคงด้านพลังงาน” ซึ่งจัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า แนวทางการปฏฺิรูปพลังงานนั้นเห็นว่าจำเป็นจะต้องมองเป้าหมายของการปฏฺิรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่จะต้องไม่ละเลยการมองผลกระทบต่อนักลงทุนด้วย ดังนั้นการบริหารจัดการที่โปร่งใสคือหัวใจซึ่งจะต้องให้ธุรกิจพลังงานปลอดจากการเมือง บริษัทรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นจะต้องไม่มีตัวแทนการเมืองเข้ามาบริหาร ไม่มีการแต่งตั้งคนของการเมืองเข้ามาล้วงลูก และราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ควรเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทที่รัฐถือหุ้นและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

“กรณีหากมอง ปตท.ผูกขาดการจะไปยึดคืนมันเป็นไปได้ยากเพราะจะกระทบหลายส่วน แต่เราสามารถจัดตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติที่รัฐถือหุ้น 100% ใหม่เข้ามาดูแลกิจการบางอย่างที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยได้และไม่ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ จีนเองก็มีหลายบริษัทมาก แต่ข้อจำกัดคือหากต้องลงทุนมากก็จะมีปัญหา และสำคัญคือต้องไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่ง อย่างกรณีปัญหาการขอใบอนุญาตประกอบบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 ขณะนี้มีปัญหามากสำหรับการลงทุนทำอย่างไรไม่ให้มีอุปสรรค” นายอนุสรณ์กล่าว

สำหรับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานจะต้องคิดว่าจะไปทางไหนระหว่างยึดราคาต่ำ หรือสะท้อนกลไกตลาด ส่วนตัวคิดว่าระยะสั้นไทยจะต้องผสมผสานเพื่อมาปรับกลไกภายในเช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมองว่ายังจำเป็นต้องมีอยู่เพื่อไว้ดูแลราคาช่วงผันผวน ภาษีฯ กรณีภาษีฯ เช่นดีเซลควรจะพิจารณาให้ดีเพราะการตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรนอกจากสูญเสียรายได้ปีละเป็นแสนล้านบาทยังทำให้ประชาชนใช้ไม่ประหยัด เป็นต้น

นายปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ราชบัณฑิต และนักวิจัยอาวุโสด้านพลังงาน กล่าวว่า การปฏิรูปพลังงานเป็นเรื่องยากพอๆ กับการปฏิรูปการเมือง เรื่องพลังงานมีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง แต่ต่างคนต่างทำงานและรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง รวมถึงยังมีการแทรกแซงจากการเมือง ยกตัวอย่างการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลงที่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน ควรดำเนินการให้กองทุนน้ำมันฯ อิสระเหมือนเช่นในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นการปฏิรูปพลังงานก็ควรจะต้องปฏิรูปการเมืองก่อน

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การปฏิรูปพลังงานจะต้องพูดกันที่ข้อมูลที่ตรงกัน ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาหน่วยต่างกัน โดยอดีตไทยผลิตน้ำมันดิบเพียงพันบาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันรวมผลิตพลังงานได้หนึ่งล้านบาร์เรลต่อวันเทียบเเท่าน้ำมันดิบ แต่ความต้องการใช้ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากอดีตไทยนำเข้า 90%ขณะนี้เหลือ 50% เพราะไทยผลิตก๊าซธรรมชาติได้มาก นี่คือเหตุผลที่ทำไมไทยจึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบที่มากและหนีไม่พ้นการสะท้อนกลไกตลาด และกรณีที่ต้องการให้ราคาน้ำมันต่ำนั้นเป็นสิ่งที่ต้องคิดเพราะเวเนซุเอลามีสำรองมากและใช้นโยบายราคาต่ำทำประชานิยมขณะนี้รัฐบาลก็ถูกขับไล่ไม่ต่างจากรัฐบาลไทย จึงชี้ให้เห็นว่านโยบายประชานิยมที่มากไปที่สุดประชาชนก็ไม่ได้ยอมรับอยู่

“การหันมาพึ่งพิงพลังงานทดแทนมากขึ้นจะเป็นตัวช่วยลดการนำเข้าของประเทศ ซึ่งนโยบายหลายอย่างก็เเดินมาถูกทางแต่การปฏิบัติกลับมีอุปสรรคจากปัญหาของภาครัฐเองเช่น รง.4 ที่ทำให้การลงทุนด้านพลังงานมีปัญหา ซึ่งง่ายๆ คือต้องการให้เกิดการวิ่งเต้นถ้าแก้ทุกอย่างก็เป็นไปได้หมด ซึ่งกรณีนี้ภาคอุตสาหกรรรมอื่นๆ ก็เจอทำให้เขาอัดอั้นเลยเป็นเหตุผลให้คนมาต่อต้านรัฐบาลเยอะ” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานมีความจำเป็นต่อความมั่นคงระยะยาว ดังนั้นเห็นว่าการปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนจริงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น กรณีก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ถูกเกินไปทำให้ไม่เอื้อให้เกิดการขยายการลงทุน ภาษีน้ำมันเบนซินควรจะปรับลด ส่วนภาษีฯ ดีเซลก็ถูกเกินไป ดังนั้นนักวิชาการที่บริหารประเทศจะต้องกล้าที่จะแก้ไขเพราะประชานิยมมากไปก็ถูกขับไล่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น