xs
xsm
sm
md
lg

แม้ว นายหน้าฮุบพลังงาน อีกหลักฐาน ทุนสามานย์ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ได้เห็นข่าว บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ที่ทำธุรกิจด้านพลังงานของรัฐอาบูดาบี ในสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) ได้ออกคำแถลงผ่านสื่อต่างประเทศว่าพวกเขาได้รับสัมปทานเข้าไปพัฒนาแหล่งพลังงานในอ่าวไทย ที่เรียกว่า “แหล่งนงเยาว์” โดยจะเริ่มดำเนินการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ภายในปีหน้า (2558) เป็นต้นไป
รายงานข่าวดังกล่าวเผยแพร่โดยสำนักข่าวต่างประเทศ เมื่อสองสามวันก่อน ที่อ้างคำแถลงอย่างเป็นทางการจากบริษัทดังกล่าวที่มี คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค เป็นซีอีโอ เปิดเผยเรื่องนี้ให้ทราบ โดย เขายังควบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสโมสรฟุตบอล “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในศึกพรีเมียร์ลีกในอังกฤษ ที่ซื้อกิจการต่อมาจาก ทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ
ตามรายงานข่าวดังกล่าวระบุว่า บริษัทมูบาดาลาฯจะได้รับประโยชน์จากสัญญาสัมปทานพลังงานแปลง “นงเยาว์” ในอ่าวไทยในสัดส่วนราวร้อยละ 75 และมีบริษัทพลังงานในชื่อ คริส เอ็นเนอร์จี จากสิงคโปร์ที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนได้รับส่วนแบ่งที่เหลืออีกร้อยละ 25
ที่น่าสนใจก็คือแหล่งน้ำมันแห่งนี้มีศักยภาพในการผลิตน้ำมันรองรับได้ถึงวันละ 15,000 บาร์เรล
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทพลังงานของรัฐอาบูดาบี ดังกล่าวยังมีการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในชื่อ “เพิร์ล ออยส์(ประเทศไทย) จำกัด” มีสำนักงานอยู่ที่ “ตึกชินวัตร 3” โดย บริษัทเพิร์ลออยส์ฯถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านธุรกิจพลังงานกับ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะในด้านการทำธุรกิจด้านพลังงานในอ่าวไทย ทั้งที่อยู่ในเขตไทย และในเขตที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธิ์ โดยมีการดึงเอาบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือ ปตท.สผ.เข้ามาเป็นหุ้นส่วนมาก่อนหน้านี้แล้ว
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 นายสรรเสริญ สมะลาภา อดีตสส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่ยกทรัพยากรธรรมชาติของชาติไปให้ ทักษิณ ชินวัตร ไปขายให้กับต่างชาติ
สอดคล้องกันกับคำให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงพลังงาน ณอคุณ สิทธิพงศ์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นกรรมการปิโตรเลียม เปิดเผยว่าคณะกรรมการปิโตรเลียมได้เปิดพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมใน แหล่งนงเยาว์ตามข้อเสนอของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยมีบริษัท เพิร์ลออยส์ฯเข้าไปพัฒนา อยู่ในแปลงสำรวจ จี11/48 ในอ่าวไทย
เมื่อเชื่อมโยงคำแถลงล่าสุดของบริษัทคัลดูน คาลิฟาฯซึ่งเป็นบริษัทแม่ และตัวซีอีโอที่ออกมายอมรับการเข้าทำธุรกิจพลังงานในอ่าวไทย โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป และการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่มาที่ไปกับ ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เป็นลงนามสั่งการ รวมไปถึงบรรดารัฐมนตรี “ขี้ข้า” ที่พร้อม “รับงาน” ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทั้งคนก่อนคนปัจจุบันอย่าง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
ความเคลื่อนไหวที่เห็นแม้ไม่ต้องอธิบายก็สามารถหลับตานึกภาพเห็นได้ชัดเจนกันอยู่แล้ว ว่านี่คือรายการ “สมคบกันฮุบทรัพยากรของชาติ” ไปเป็นของส่วนตัว โดยใช้อำนาจรัฐ ใช้รัฐบาลที่มีน้องสาวนตัวเอง และบรรดารัฐมนตรี “ขี้ข้า” ทั้งหลายช่วยอำนวยความสะดวก ทุกอย่างเป็น “จิ๊กซอร์”ที่ต่อเชื่อมเห็นภาพได้อย่างชัดเจน และที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการรับรู้ และคาดการณ์กันอยู่ล่วงหน้าในทำนองว่า “กูว่าแล้ว” อะไรประมาณนั้นแหละ เพียงแต่ว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจน มีแต่การปะติดปะต่อ คาดเดาจากความเคลื่อนไหวและการเดินสายไปเจรจากับต่างประเทศที่มีพิรุธ และสื่อต่างประเทศก็เคยมีการรายงานตั้งข้อสงสัยออกมาให้เห็นเป็นระยะ ไล่หลังการเดินทางของ ทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ทักษิณ ชินวัตร อยู่เสมอในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจพลังงาน ทั้งในอ่าวไทย พม่า เป็นต้น
รวมทั้งเวลานั้นกระแสต่อต้านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และระบอบทักษิณ ยังไม่มีแรงพอ ทำให้สังคมเกิดความรู้สึกร่วมได้มากเหมือนในตอนนี้ ดังนั้นการยอมรับและการแถลงอย่างเป็นทางการของบริษัทพลังงานที่เข้ามารับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยของบริษัทที่เชื่อมโยงกับ ทักษิณ คราวนี้มันจึงไม่ต่างจาก “ใบเสร็จ” ชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าคนในครอบครัวนี้กำลัง “ฮุบทรัพยากรของชาติ” ไปเป็นของส่วนตัว อย่างหน้าไม่อาย และนี่แหละคือ “ทุนสามานย์ข้ามชาติ” ที่คนอย่างเขาทำตัวทั้งเป็น “นายหน้า” และร่วมหุ้นแบบที่ไม่ต้องลงทุน ขณะเดียวกันกรณีนี้ยังเป็นตัวอย่างและเป็นอีกคำตอบว่าทำไมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทรราชของ “มวลมหาประชาชน” ในไทยจึงได้รับการบิดเบือนและโจมตีจากมหาอำนาจตะวันตก ก็เพราะมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นแหละ
ยิ่งเห็นภาพชัดแบบนี้ก็ต้องถึงเวลาที่ต้องรวมพลังกันขับไล่ ไปทั้งโคตร !!
กำลังโหลดความคิดเห็น