ผ่าประเด็นร้อน
ในตอนแรกเรื่องการปฏิรูปพลังงานทำท่าจะอ่อนแรงลงไป หลังจากในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายรัฐ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้วิธีลดแรงกดดันจากสังคมด้วยการเปิดช่องให้มีการถกเถียง และให้แต่ละฝ่ายนำเสนอข้อมูลด้านพลังงานเพื่อหาข้อสรุปในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยขีดเส้นให้เวลา 2 เดือน แล้วนำมาเสนอให้รัฐบาลพิจารณา
ต้องยอมรับว่าด้วยวิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นจิตวิทยาที่ลดแรงกดดันอย่างได้ผล ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐยินดีรับฟังความคิดเห็น เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรออกมาก็พร้อมจะรับฟัง แม้จะไม่ได้บอกว่าจะทำตามหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบตัวบุคคลในสภาปฏิรูปด้านพลังงานแทบทั้งหมดล้วนเป็นคนในกลุ่มธุรกิจพลังงาน และเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงานที่ล้วนมีสายสัมพันธ์ต่อกันมานาน ซึ่งสามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าแล้วว่าผลจะออกมาแบบไหน เพราะหากมองแบบรู้ทันอีกมุมหนึ่งก็ต้องบอกว่านี่คือ “ปาหี่” เพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้นเอง
เพราะสิ่งที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำคู่ขนานกันไปก็คือยังเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบใหม่คือรอบที่ 21 ต่อไป โดยไม่รอข้อสรุปจาก สปช.เสียก่อน อ้างว่าเป็นช่วงที่เปิดรับข้อเสนอจากบริษัทเอกชนยังไม่มีการอนุมัติสัมปทานแต่อย่างใด โดยดำเนินการในลักษณะนี้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าก็ตาม แต่จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี ก็ล้วนออกมาในโทนเดียวกันคือต้องรีบเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบใหม่อ้างว่าหากชักช้าจะเกิดวิกฤตพลังงานขาดแคลน ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธระบบแบ่งปันผลประโยชน์แม้ว่าหลายประเทศในอาเซียนใช้วิธีนี้ โดยอ้างว่าสำหรับประเทศไทยนั้นไม่คุ้มค่า
ขณะเดียวกัน ข้อสงสัยในเรื่องตัวบุคคลที่เชื่อมโยงผลประโยชน์ด้านพลังงานไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการบอร์ดบริษัท ปตท.จำกัด ที่มี ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธาน ล้วนเป็นตัวแทนกลุ่มทุนและอำนาจรัฐส่งเข้ามา รวมไปถึงเชื่อมโยงไปถึงคณะผู้นำใน คสช. หรือแม้กระทั่งข้อสงสัยว่ายังเชื่อมโยงไปถึง ทักษิณ ชินวัตร ในระยะหลังเสียงก็เริ่มเบาลง หลายคนแทบจะสิ้นหวังคงต้องปล่อยไปตามยถากรรม ไปเคลื่อนไหวเรียกร้องอะไรไม่ได้แล้ว
อย่างไรก็ดี ก็ได้ข้อมูลใหม่ๆออกมาเรื่อยๆจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเรื่องความไม่ชอบมาพากลของบริษัทปตท.
โดยล่าสุดเขาได้โพสต์หลักฐาน ข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2550 โดยระบุว่ามีการล็อบบี้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุคนั้นเห็นชอบให้แก้ไขเพดานขยายพื้นที่สัมปทานจากเดิมไม่เกิน 2 หมื่นตารางกิโลเมตร เป็นการยกเลิกเพดาน นั่นคือให้พื้นที่สัมปทานแบบไม่อั้น และยังสามารถนำไปขายต่อได้อีก โดยตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือ “บริษัท เพิร์ลออยล์” ซึ่งสงสัยว่าเชื่อมโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร (อ่าน แม้ว นายหน้าฮุบพลังงานฯ)
โดยตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่า ช่วงที่ล็อบบี้ให้แก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมดังกล่าวอยู่ในช่วงตรงกับที่ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2549 ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2551 รวมไปถึงแสดงหลักฐานให้เห็นว่าเป็นคนที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นอนุมัติเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 19 ให้กับ 3 บริษัท ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บริษัท เพิร์ล ออยล์(ประเทศไทย) จำกัด และการเปิดสัมปทานรอบที่ 20 คนที่ผลักดันก็ยังเป็นคนเดียวกัน หรือแม้กระทั่งการเปิดสัมปทานรอบหลังสุดคือรอบที่ 21 ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดียวกันอีก
เพื่อให้สามารถปะติดปะต่อข้อมูลและทำให้เชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันได้มากขึ้นก็ต้องย้อนกลับไปดูข่าวเก่าๆเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2557 ที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานคำแถลงของ คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ที่ทำธุรกิจด้านพลังงานของรัฐอาบูดาบี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้ออกคำแถลงผ่านสื่อต่างประเทศว่าพวกเขาได้รับสัมปทานเข้าไปพัฒนาแหล่งพลังงานในอ่าวไทย ที่เรียกว่า “แหล่งนงเยาว์” (หนึ่งในนั้นมีแปลงสำรวจ จี 11/48 ในอ่าวไทย)โดยจะเริ่มดำเนินการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ภายในปีหน้า (2558) เป็นต้นไป
สำหรับ คันดูน คาลิฟา คนนี้ยังควบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสโมสรฟุตบอล “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี ในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่ซื้อกิจการต่อมาจาก ทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ
ก่อนหน้านี้ตามรายงานข่าวดังกล่าวระบุว่า บริษัท มูบาดาลาฯ จะได้รับประโยชน์จากสัญญาสัมปทานพลังงานแปลง “นงเยาว์” ในอ่าวไทยในสัดส่วนราวร้อยละ 75 และมีบริษัทพลังงานในชื่อ คริส เอ็นเนอร์จี จากสิงคโปร์ที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนได้รับส่วนแบ่งที่เหลืออีกร้อยละ 25
น่าสนใจก็คือ แหล่งน้ำมันแห่งนี้มีศักยภาพในการผลิตน้ำมันรองรับได้ถึงวันละ 15,000 บาร์เรล
สำหรับบริษัทพลังงานของรัฐอาบูดาบี ดังกล่าวมีการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในชื่อ “เพิร์ล ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด” มีสำนักงานอยู่ที่ “ตึกชินวัตร 3” ทำธุรกิจด้านพลังงานในอ่าวไทย ทั้งที่อยู่ในเขตไทย และในเขตที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธิ โดยมีข้อมูลระบุว่าได้ดึงเอาบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.เข้ามาเป็นหุ้นส่วนแล้ว
เมื่อเชื่อมต่อกับข้อมูลในปัจจุบันที่ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ดปตท.ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในยุคที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร่วมเป็นกรรมการด้วย มันก็เป็นข้อสังเกตว่าคนพวกนี้ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นพวกเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน และถึงเวลาที่คนไทยต้องได้รับคำอธิบายที่เป็นจริง!