ASTVผู้จัดการรายวัน - “ไพรินทร์” ตีมึนกระแสเรียกร้อง “ทวงคืนปตท.” อ้าง ปตท.เป็นบริษัทพลังงานของคนไทยอยู่แล้ว ไม่เข้าใจทวงคืนทำไม ชี้หากจะเพิกถอน ปตท.ออกจากตลาดหุ้นรัฐต้องตั้งงบประมาณมหาศาลซื้อหุ้นคืน จากปัจจุบันหุ้น ปตท.มีมาร์เกตแคปสูง 8 แสนล้านบาท และไม่มีผลทำให้ประชาชนใช้น้ำมันถูกลง เผยไล่ฟ้องผู้ที่โพสต์และแชร์ข้อมูลบิดเบือนผ่านโซเชียลมีเดีย สร้างความเสียหายต่อ ปตท.และตนเอง ชี้หุ้น ปตท.ตกสะท้อนต่างชาติลดความเชื่อมั่นประเทศลง เข็น GPSC ซึ่งดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในเครือ ปตท.เข้าตลาดหุ้นกลางปีหน้า
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสการทวงคืน ปตท.ให้กลับมาเป็นบริษัทพลังงานของคนไทยว่า ขณะนี้ ปตท.ก็เป็นบริษัทมหาชนของคนไทยอยู่แล้ว จึงไม่เข้าใจเหตุผลทำไมต้องทวงคืน ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของไทยมาเป็นของคนไทยด้วย หากจะให้ ปตท.ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจำนวนมากในการซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนสถาบันและรายย่อย ซึ่งรัฐจะมีงบประมาณมาซื้อหุ้นคืนหรือไม่
ที่ผ่านมาประเทศอาร์เจนตินาก็เคยมีการทวงคืนบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐเหมือนกัน แต่เป็นบริษัทน้ำมันต่างชาติ (สเปน) คืนมาเป็นของรัฐ ทำให้บริษัทดังกล่าวเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลอาร์เจนตินา ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่
ปัจจุบัน ปตท.มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ประมาณ 8.12 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทฯ มีมาร์เกตแคปสูงที่สุดในตลาดหุ้นไทย
นอกจากนี้ การทวงคืน ปตท.กลับมาไม่มีผลทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลง 50% หรือดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 19 บาท เพราะขณะนี้ราคาเนื้อน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 25 บาท หากต้องการขายในราคา 19 บาท/ลิตรก็ทำได้ถ้าขายขาดทุน แต่ใครจะรับภาระดังกล่าว
นายไพรินทร์กล่าวว่า มีบางคนพยายามเอาการแปรรูป ปตท.มาโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยในช่วงนั้นมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสำเร็จจำนวน 3 บริษัท คือ ปตท. อสมท และท่าอากาศยานไทย ทำให้มีกระแสโจมตีและให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องของ ปตท.และตนเองเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น การให้ข่าวว่าตนเองมีเงินเดือนในตำแหน่งซีอีโอ ปตท.สูงถึง 4.5 ล้านบาท และบางรายระบุว่าผู้บริหาร ปตท.มีเงินเดือนเดือนละ 13 ล้านบาท ยังไม่รวมโบนัส โดยตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง หากดูจากรายงานประจำปี ปตท.2555 ระบุชัดเจนว่านายไพรินทร์มีรายได้ค่าตอบแทนจากเบี้ยประชุมและโบนัสรวม 2.70 ล้านบาท และปี 2555 ค่าตอบแทนรวมของผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.จำนวน 9 คน (รวมนายไพรินทร์) ทั้งเงินเดือนและโบนัสรวมกันแล้วอยู่ที่ 86.76 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมมาคำนวณแล้วจะเห็นได้ว่าเงินเดือนตำแหน่งซีอีโอ ปตท.ไม่ได้สูงดังที่กล่าวอ้าง และยืนยันว่าไม่มีห้องลับเก็บทรัพย์สินหรือเงินสดในห้องซีอีโอ ปตท.แต่อย่างใด
“จากการให้ข้อมูลที่มั่วและมีการแชร์ส่งต่อผ่านโซเชียลมีเดียได้สร้างความเสียหายต่อ ปตท.และตนเอง ดังนั้นจึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แก่ผู้ที่เขียนและแชร์ข้อมูลดังกล่าวผ่านโซเชียลมีเดียไปแล้วหลายราย ยืนยันว่า ปตท.เป็นองค์กรที่ถูกตรวจสอบมากที่สุดองค์กรหนึ่งของไทย เนื่องจากอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่มีบทลงโทษที่รุนแรงและยังอยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจด้วย และตระกูลชินวัตรก็ไม่ได้ถือหุ้นใน ปตท.เลย”
นายไพรินทร์กล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2557 ว่า ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้คณะกรรมการบริษัทฯ จะพิจารณาแผนวิสาหกิจ ก่อนเสนอไปยังสภาพัฒน์และคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป โดย ปตท.ยังมีความเชื่อมั่นในประเทศ ดังนั้นบริษัทฯ ยังมีการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังจำเป็นที่ต้องแสวงหาพลังงานในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะดีขึ้น หลังจากประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่นมีแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น คาดว่าราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบในปี 2557 จะอ่อนตัวลง 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลมาอยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 107 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนกำไรสุทธิปีละ 1 แสนล้านบาทของ ปตท.นอกเหนือจากการจ่ายปันผลคืนให้ผู้ถือหุ้น 35-40% แล้วจะนำมาใช้ในการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่จะนำเงินงบประมาณหรือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ในการซื้อแหล่งพลังงานเหมือนหลายประเทศ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังต้องหารายได้เสริมโดยมีการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว พม่า ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และแยกธุรกิจไฟฟ้าออกมาเป็น Business Unit เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง เพื่อนำรายได้เหล่านี้มาชดเชยภาระ NGV และ LPG ที่ ปตท.ต้องแบกรับภาระขาดทุนอยู่ปีละเกือบ 3 หมื่นล้านบาท
สำหรับราคาหุ้น ปตท.ที่หลุดราคา 300 บาท/หุ้นมาอยู่ที่ 286 บาท/หุ้น ทั้งๆ ที่ ปตท.เป็นบริษัทที่มีความมั่นคงมากนั้น เป็นการสะท้อนว่านักลงทุนสถาบันลดความเชื่อมั่นประเทศไทยลง เพราะนักลงทุนต่างชาติมองหุ้น ปตท.เหมือนมองประเทศเป็นหลัก
เข็น GPSC เข้าตลาดหุ้นกลางปี 57
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.เตรียมนำบริษัทโกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. ไทยออยล์ และพีทีทีจีซี กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลางปีหน้า โดยเม็ดเงินที่ได้ขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และลดความเสี่ยงทางธุรกิจ สร้างกระแสเงินสดให้ ปตท.อย่างสม่ำเสมอ
ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งในไทย และลาวรวม 2,000 เมกะวัตต์ และวางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 6,000 เมกะวัตต์ในปี 2563 เพื่อลงทุนผลิตไฟฟ้าในลาว อินโดนีเซีย พม่า และไทย รวมทั้งลงทุนเหมืองถ่านหิน พลังงานทดแทน รวมถึงระบบสาธารณูปโภค และจะกระจายหุ้น 25-30% ของทุนจดทะเบียน คาดว่าธุรกิจไฟฟ้าจะสร้างรายได้คิดเป็น 5-10% ของรายได้รวม ปตท.ภายในปี 2563