xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เสนอแนวทางปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ค้านลดภาษีเหตุเป็นประชานิยมส่งผลเสียระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
“รสนา” เสนอแนวทางปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ระบุต้องพิจารณา 3 ประการ “เนื้อน้ำมันควรเลิกอิงราคาสิงคโปร์ ให้ใช้ราคาที่โรงกลั่นส่งออกขายต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงทันทีอย่างน้อย 1 - 2 บาท, จัดสรรก๊าซแอลพีจีให้ภาคครัวเรือนใช้เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ภาคอุตสาหกรรม - ปิโตรเคมีนำเข้าโดยรับภาระไปเอง, พิจารณาค่าการตลาดให้เหมาะสมในราคาประมาณลิตรละ 1.50 บาท” พร้อมชี้กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทยไม่เห็นด้วยกับการลดภาษีเพื่อลดราคาน้ำมัน เพราะจะเป็นประชานิยมที่ทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาว

วันนี้ (7 มิ.ย.) เมื่อเวลา 02.10 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” ในหัวข้อ “ข้อเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง” ความว่า

ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงที่ควรได้รับการพิจารณามีอยู่ 3 ประการ ได้แก่

1) เนื้อน้ำมัน ที่เรียกว่า ราคาหน้าโรงกลั่นก่อนบวกภาษี (ภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล, ภาษี Vat) กองทุนน้ำมัน และค่าการตลาด ปัจจุบันใช้ราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ โดยบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ได้แก่ ค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย, ค่าสูญเสียระหว่างทาง และค่าประกันภัย

ค่าใช้จ่ายเทียมนั้น รัฐบาลในอดีตเสนอให้โรงกลั่นเป็นแรงจูงใจให้มีคนมาตั้งโรงกลั่นในไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แต่ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมัน สามารถผลิตล้นเกินจนส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าอันดับ 3 ใน 15 อันดับแรกของไทย จึงควรยกเลิกแรงจูงใจหรือค่าใช้จ่ายเทียมนั้นได้แล้ว

ราคาเนื้อน้ำมันที่เรียกว่าราคาหน้าโรงกลั่น ที่ขายให้คนไทยจึงควรใช้ราคาที่โรงกลั่นส่งออกไปขายประเทศต่างๆ แทนที่จะใช้ราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงทันที อย่างน้อย 1-2 บาท

ยกตัวอย่าง สมมติว่าราคาน้ำมันขายปลีกที่ตลาดสิงคโปร์ราคา 24 บาทต่อลิตร ถ้าสมมติค่าใช้จ่ายเทียมที่เป็นค่าขนส่งและค่าประกันภัยเป็นเงินลิตรละ1บาท โรงกลั่นจะขายคนไทยที่ราคา 24+1 = 25 บาทต่อลิตร แต่เวลาส่งออกโรงกลั่นจะได้รับเงินจากการขายส่งเพียงลิตรละ 24-1 = 23 บาท เพราะต้องหักค่าขนส่ง ค่าประกันภัยออก 1 บาท

ดังนั้น ถ้าขายให้คนไทยในราคาเท่ากับการส่งออก คนไทยจะได้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในราคาลิตรละ 23 บาท แทนที่จะเป็นราคาลิตรละ 25 บาท

2) กองทุนน้ำมันในปัจจุบันที่เก็บจากคนใช้น้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 10 บาท แก๊สโซฮอลล์ 95 ลิตรละ 3.30 บาท แก๊สโซฮอลล์ลิตรละ 1.20 บาท และดีเซล ลิตรละ .25 บาท

กองทุนน้ำมันจ่ายเก็บเงินจากน้ำมัน 4 ชนิด และชดเชยให้น้ำมัน 2 ชนิด คือ E20 ลิตรละ 1.05 บาท และ E85 ลิตรละ 11.60 บาท
ราคาหน้าโรงกลั่นของกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ที่มีเอทานอลผสมอยู่ 10% บ้าง 20% บ้าง 85% บ้าง ควรจะมีราคาถูกกว่าเบนซิน 100% เพราะเอทานอลเป็นน้ำมันที่มาจากพืช และกากน้ำตาล การที่มีราคาสูงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซิน 95 จึงเป็นเรื่องผิดปกติ ควรที่จะมีการตรวจสอบราคาเอทานอลในประเทศไทย ว่าสาเหตุใดจึงมีราคาแพงกว่าน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งที่ราคาเอทานอลในปัจจุบัน ที่มีการสำรวจโดยมหาวิทยาลัยไอโอว่าในสหรัฐอเมริกาพบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2557 ราคาของเอทานอลมีราคาต่ำลงเหลือเพียง 58% ของราคาน้ำมันขายปลีก เท่านั้น

ถ้าราคาแก๊สโซฮอลล์ที่มีส่วนผสมของเอทานอลมีราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด เนื้อน้ำมันในกลุ่มของแก๊สโซฮอลล์ก็จะมีราคาถูกลงโดยตัวเนื้อน้ำมันเอง ไม่ใช่มีราคาถูกแบบอำพราง เพราะการชดเชยจากกระเป๋าของผู้ใช้น้ำมันอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นราคาถูกแบบเทียมๆ เท่านั้นเอง

นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันที่นำไปชดเชยให้กับก๊าซแอลพีจีนั้น สามารถปลดล็อกด้วยการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ระบุว่า “หลักการจัดสรรปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศให้กับปริมาณความต้องการใน “ภาคครัวเรือนและปิโตรเคมี” เป็นลำดับแรก ส่วนปริมาณการผลิตก๊าซแอลพีจีที่เหลือจากการจัดสรรข้างต้น จะถูกนำไปจัดสรรให้กับ “ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมอื่น” เป็นลำดับต่อไป หากปริมาณที่เหลือจากการจัดสรรในลำดับแรกไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ให้มีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศ และนำกองทุนน้ำมันไปชดเชยในส่วนที่ขาด”

จากมติ ครม. ดังกล่าวทำให้ปิโตรเคมี มีอาณาจักรอิสระจากการถูกควบคุมราคาโดยหน่วยงานรัฐ แต่ราคาซื้อขายเป็นการกำหนดกันเองระหว่างบริษัทปตท.แม่ กับปตท.ลูก โดยอ้างอิงราคา Net Back กับเม็ดพลาสติดตลาดโลก ซึ่งมีราคาถูกกว่าแอลพีจีราคาตลาดโลกถึง 40%

กระทรวงพลังงาน อ้างว่า ไม่ได้เป็นผู้กำหนดหรือควบคุมราคาแอลพีจีที่ปิโตรเคมีใช้ เพราะว่าปิโตรเคมีใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบ จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานกระทรวงพลังงานดูแลเฉพาะราคาของผู้ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง ได้แก่ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

การมีมติ ครม. สมัย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และประกอบกับกิจการก๊าซตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อยู่ในการควบคุมของ ปตท. ทั้งระบบ จึงเปิดโอกาสให้ปิโตรเคมีได้ใช้แอลพีจีจากโรงแยกก๊าซที่มีราคาถูกโดยอิสระ ทำให้ปริมาณก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคส่วนอื่นไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย

ดังปรากฏว่า การใช้ก๊าซแอลพีจีของภาคปิโตรเคมีเพิ่มสูงกว่าภาคครัวเรือนแล้ว ในปี 2556 ปิโตรเคมีใช้ในปริมาณ 2,740 ล้านกิโลกรัม ภาคครัวเรือนใช้ 2,409 ล้านกิโลกรัม โรงแยกก๊าซผลิตได้ 3,865 ล้านกิโลกรัม

ถ้ายกเลิกมติ ครม. สมัย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเปลี่ยนนโยบายมาจัดสรรก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นเป็นทรัพยากรของประชาชนทุกคน ให้ภาคครัวเรือนใช้เป็นลำดับแรกก่อนในราคาต้นทุนบวกกำไรพอประมาณ เมื่อเหลือจึงจัดสรรให้ภาคส่วนอื่นในราคาที่กำหนดให้เหมาะสม และเป็นธรรมหากปริมาณความต้องการไม่เพียงพอ ให้อุตสาหกรรม และปิโตรเคมีนำเข้าก๊าซแอลพีจีเองโดยรับต้นทุนนำเข้าเอง กองทุนน้ำมันก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เมื่อกองทุนไม่มีความจำเป็นต้องเอามาชดเชย ราคาน้ำมันก็จะลดลงเอง

3) ค่าการตลาด ก็เป็นตัวโยกราคาเมื่อราคาของเนื้อน้ำมันลดลงโดยไปเพิ่มที่ค่าการตลาด จึงควรพิจารณาค่าการตลาดที่เหมาะสมในราคาประมาณลิตรละ 1.50 บาท

ทางกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทยไม่เห็นด้วยกับการลดภาษีเพื่อลดราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นประชานิยมที่ทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น