xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปตท.หลอน คสช.เขย่าขวัญ รื้อโครงสร้างพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน)
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระแสสังคมที่เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบที่ดังกระหึ่มขึ้น นับแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. รัฐประหารยึดอำนาจ ทำให้ยักษ์ใหญ่ ปตท. ออกอาการร้อนรนผิดปกติ คล้ายกับเกรงว่าความลับกำไรแสนล้านจากการทำธุรกิจบนความทุกข์ร้อนของประชาชนจะได้รับผลกระทบ เพราะหัวหน้าคสช.นั้นวางมาดเข้มเสียจนเดาใจไม่ถูกว่าจะมีรายการ “ประยุทธ์นิยม” กดราคาพลังงานคืนความสุขให้ประชาชน หรือจะยังอุ้มปตท.กันต่อไปหรือไม่

ยิ่งถ้าอ่านสัญญาณจาก คสช. ซึ่งเคยเปลี่ยนใจไม่ขึ้นค่าก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนตามกำหนดการเดิมด้วยแล้ว ถือว่าไม่มีอะไรแน่นอนสำหรับปตท. เพราะที่ผ่านมาสู้อุตส่าห์ผลักดันให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ไฟเขียวขึ้นค่าก๊าซแอลพีจีจนสำเร็จ มีกำหนดเวลาปรับเพิ่มขึ้นที่แน่นอนชัดเจน แต่สุดท้ายก็เจอคำสั่งคสช.ให้ชะลอเอาไว้ก่อนโดยไม่มีกำหนด

ปตท. ต้องไม่ลืมว่าเวลานี้ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษ และหัวหน้าคณะคสช.ประกาศลั่นไม่รับผลประโยชน์จะทำทุกอย่างให้โปร่งใสและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากกลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปพลังงาน คือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งแต่งตั้ง ยังคงสะท้อนว่า นายทหารใหญ่ที่สวมบทบาทผู้นำประเทศในยามนี้ยังให้บทบาทกับข้าราชการประจำ ซึ่งมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะนั่งเป็นบอร์ดปตท.และบริษัทลูกอยู่ด้วยเช่นเดิม และไม่มีที่ทางสำหรับตัวแทนภาคประชาชนพอที่จะเห็นว่าเป็นนิมิตหมายใหม่แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตามคำสั่งคสช.ที่ 54/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธานนั้น มีคณะกรรมการ กพช. ที่เป็นบอร์ด ปตท. อยู่ด้วย คือ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว), ปลัดกระทรวงพลังงาน (นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ), เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ) เป็นต้น

ส่วนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 55/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) แต่งตั้งให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้าคสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานกรรมการ ก็มีคณะกรรมการ กบง.ที่ไปนั่งเป็นบอร์ดบริษัทพีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือปตท.อยู่ด้วยเช่นกัน คือ ปลัดกระทรวงพลังงาน, เลขาธิการสภาพัฒน์, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

สำหรับหน้าที่หลักๆ ของกพช. คือ เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคสช. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานตามที่คสช.มอบหมาย ส่วน กบง. นั้น นอกจากจะทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาและมาตรการทางด้านพลังงาน จัดลำดับความสำคัญของแผนงานและโครงการแล้ว ยังมีหน้าที่กำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเสนอแนะนโยบายและมาตรการและกำกับการแปลี่ยนแปลงอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติอีกด้วย

หากมองในแง่ตัวบุคคลที่นั่งอยู่ในกพช.และกบง. ที่มาจากหน่วยงานราชการนั้นแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีเพียงหัวเท่านั้นที่เปลี่ยนจากนักการเมืองคือนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน มาเป็นหัวหน้า คสช.และรองหัวหน้าคสช. ส่วนการทำหน้าที่ก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเมื่อดูองค์ประกอบของคณะกรรมการทั้งสองชุดแล้ว ความหวังในการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายและการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศคงไม่ง่ายนัก

ตัวแปรนำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในนโยบายพลังงานหากจะมีขึ้นในคราวนี้ จึงขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช. ผู้มาใหม่ และกระแสสังคมที่หนุนให้คสช.ทำภารกิจปฏิรูปพลังงานให้สำเร็จเท่านั้น ซึ่งนี่ทำให้ยักษ์ใหญ่ ปตท.เป็นกังวลเพราะสองตัวแปรนี้อยู่นอกเหนือการควบคุม

ปรากฏการณ์จุดพลุประเด็นที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ร้อนแรงต่อเนื่องตลอด 2 - 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งการปรับลดราคาน้ำมันและราคาก๊าซแอลพีจี และการยุบกองทุนน้ำมัน เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะสร้างแรงสั่นสะเทือนถึงระดับที่ว่าซีอีโอของปตท. ออกมาแถลงข่าวใหญ่โตจะแยกธุรกิจน้ำมันออกไป และทำให้ ปตท. มีสภาพเป็นโฮลดิ้ง คอมปะนี เต็มรูปแบบทำหน้าที่เข้าไปถือหุ้นบริษัทในเครือเท่านั้น

หากมองแค่ผิวเผินชาวเน็ตก็อาจสะใจที่ปตท.หลอนจนต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า นี่อาจเป็นการถอยอย่างมีชั้นเชิงและมีความซับซ้อนหลายชั้น อาจมองได้ว่าเป็นการถอยเพื่อรุกและเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะบริษัทลูกมีความเป็นเอกชนเต็มตัวไม่อยู่ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่จะต้องตอบคำถามใครๆ ให้มากความ ขณะที่ปตท.ก็ยังคงสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันอยู่เช่นเดิม เรื่องที่ชวนติดตามต่อก็คือปตท.และบริษัทลูกจะกลายเป็นเครือข่ายองค์กรซ่อนเงื่อนยิ่งกว่าเดิมหรือไม่ ?

แต่ก่อนอื่นมาติดตามดูกันว่าในประเด็นที่จุดกระแสขึ้นมาเรื่องการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและการยุบเลิกกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นกองทุนที่ กบง. อนุมัติให้นำเม็ดเงินไปใช้ชดเชยส่วนต่างค่าก๊าซฯ ให้ปตท. เป็นหลักนั้น ทำไมถึงจี้ใจดำปตท.จนออกอาการร้อนรนเหมือนไส้เดือนถูกขี้เถ้า

เรื่องนี้มีการปลุกกระแสกันตั้งแต่สัปดาห์แรกที่คสช.ยึดอำนาจแล้วว่า จะมีการปรับลดราคาน้ำมันลงมาลิตรละ 10 บาท แต่สุดท้ายก็กลายเป็นแค่เรื่องร่ำลือกันในโซเซียลเน็ตเวิร์คเท่านั้น เพราะคสช.ออกมาปฏิเสธและขอศึกษาโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบก่อน กระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการกพช.และ กบง. ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบายพลังงาน และหลักเกณฑ์เงื่อนไขกำหนดราคาพลังงาน จึงเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นอีกครั้ง

กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) ที่นำโดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กรุงเทพฯ โยนข้อเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและชำแหละกองทุนน้ำมันให้แชร์กันสนั่นโลกออนไลน์เป็นการส่งเสียงสะท้อนไปยังคสช. โดยระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง ที่ควรได้รับการพิจารณามีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ เนื้อน้ำมัน, กองทุนน้ำมัน และค่าการตลาด

1) เนื้อน้ำมัน หรือที่เรียกว่าราคาหน้าโรงกลั่นก่อนบวกภาษี (ภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล, ภาษี Vat) ปัจจุบันใช้ราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ โดยบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหรือค่าใช้จ่ายเทียม ได้แก่ ค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย, ค่าสูญเสียระหว่างทาง และค่าประกันภัย

ค่าใช้จ่ายเทียมนั้น รัฐบาลในอดีตเสนอให้โรงกลั่นเป็นแรงจูงใจให้มีคนมาตั้งโรงกลั่นในไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แต่ปัจจุบัน โรงกลั่นน้ำมัน สามารถผลิตล้นเกินจนส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าอันดับ 3 ใน 15 อันดับแรกของไทย จึงควรยกเลิกแรงจูงใจหรือค่าใช้จ่ายเทียมนั้นได้แล้ว

ราคาเนื้อน้ำมันที่เรียกว่าราคาหน้าโรงกลั่น ที่ขายให้คนไทยจึงควรใช้ราคาที่โรงกลั่นส่งออกไปขายประเทศต่างๆ แทนที่จะใช้ราคาสมมติว่า นำเข้าจากสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงทันที อย่างน้อย 1-2 บาท

2) กองทุนน้ำมัน ในปัจจุบันที่เก็บจากคนใช้น้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 10 บาท แก๊สโซฮอลล์ 95 ลิตรละ 3.30 บาท แก๊สโซฮอลล์ ลิตรละ 1.20 บาท และดีเซล ลิตรละ 0.25 บาท กองทุนน้ำมันเก็บเงินจากน้ำมัน 4 ชนิด และชดเชยให้น้ำมัน 2 ชนิด คือ E 20 ลิตรละ 1.05 บาท และ E85 ลิตรละ 11.60 บาท

ราคาหน้าโรงกลั่นของกลุ่มแก๊สโซฮอลล์ ที่มีเอทานอลผสมอยู่ 10% บ้าง 20% บ้าง 85% บ้างควรจะมีราคาถูกกว่าเบนซิน 100% เพราะเอทานอลเป็นน้ำมันที่มาจากพืชและกากน้ำตาล การที่มีราคาสูงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซิน 95 จึงเป็นเรื่องผิดปกติ ควรที่จะมีการตรวจสอบราคาเอทานอลในประเทศไทยว่าสาเหตุใดจึงมีราคาแพงกว่าน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งที่ราคาเอทานอลในปัจจุบัน ที่มีการสำรวจโดยมหาวิทยาลัยไอโอว่าในสหรัฐอเมริกา พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2557 ราคาของเอทานอลมีราคาต่ำลงเหลือเพียง 58% ของราคาน้ำมันขายปลีกเท่านั้น ถ้าราคาแก๊สโซฮอลล์ที่มีส่วนผสมของเอทานอลมีราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด เนื้อน้ำมันในกลุ่มของแก๊สโซฮอลล์ก็จะมีราคาถูกลงโดยตัวเนื้อน้ำมันเอง

นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันที่นำไปชดเชยให้กับก๊าซแอลพีจีนั้น สามารถปลดล็อคด้วยการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ระบุว่า "หลักการจัดสรรปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศให้กับปริมาณความต้องการใน "ภาคครัวเรือนและปิโตรเคมี" เป็นลำดับแรก ส่วนปริมาณการผลิตก๊าซแอลพีจีที่เหลือจากการจัดสรรข้างต้น จะถูกนำไปจัดสรรให้กับ "ภาคขนส่งแลอุตสาหกรรมอื่น" เป็นลำดับต่อไป หากปริมาณที่เหลือจากการจัดสรรในลำดับแรกไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ให้มีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศ และนำกองทุนน้ำมันไปชดเชยในส่วนที่ขาด"

จากมติครม.ดังกล่าว ทำให้ปิโตรเคมี มีอิสระจากการถูกควบคุมราคาโดยหน่วยงานรัฐ แต่ราคาซื้อขายเป็นการกำหนดกันเองระหว่างบริษัทปตท.แม่ กับปตท.ลูก โดยอ้างอิงราคา Net Back กับเม็ดพลาสติดตลาดโลก ซึ่งมีราคาถูกกว่าแอลพีจีราคาตลาดโลกถึง 40%

กระทรวงพลังงานอ้างว่า ไม่ได้เป็นผู้กำหนดหรือควบคุมราคาแอลพีจีที่ปิโตรเคมีใช้ เพราะว่าปิโตรเคมีใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบ จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานดูแลเฉพาะราคาของผู้ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง ได้แก่ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

การมีมติครม. สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และประกอบกับกิจการก๊าซตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอยู่ในการควบคุมของปตท.ทั้งระบบ จึงเปิดโอกาสให้ปิโตรเคมีได้ใช้แอลพีจีจากโรงแยกก๊าซที่มีราคาถูกโดยอิสระ ทำให้ปริมาณก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคส่วนอื่นไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย ดังปรากฎว่า การใช้ก๊าซแอลพีจีของภาคปิโตรเคมี เพิ่มสูงกว่าภาคครัวเรือนในปี 2556 โดยปิโตรเคมีใช้ในปริมาณ 2,740 ล้านกิโลกรัม ภาคครัวเรือนใช้ 2,409 ล้านกิโลกรัม โรงแยกก๊าซผลิตได้ 3,865 ล้านกิโลกรัม

ถ้ายกเลิกมติครม.สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเปลี่ยนนโยบายมาจัดสรรก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นเป็นทรัพยากรของประชาชนทุกคน ให้ภาคครัวเรือนใช้เป็นลำดับแรกก่อนในราคาต้นทุนบวกกำไรพอประมาณ เมื่อเหลือจึงจัดสรรให้ภาคส่วนอื่นในราคาที่กำหนดให้เหมาะสมและเป็นธรรมหากปริมาณความต้องการไม่เพียงพอ ให้อุตสาหกรรม และปิโตรเคมีนำเข้าก๊าซแอลพีจีเองโดยรับต้นทุนนำเข้าเอง กองทุนน้ำมันก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป และราคาน้ำมันก็จะลดลงเอง

3) ค่าการตลาด เป็นตัวโยกราคา เมื่อราคาของเนื้อน้ำมันลดลงโดยไปเพิ่มที่ค่าการตลาด จึงควรพิจารณาค่าการตลาดที่เหมาะสมในราคาประมาณลิตรละ 1.50 บาท

จุดยืนของกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการลดภาษีเพื่อลดราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นประชานิยมที่ทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาว แต่เห็นควรเขย่าสูตรการกำหนดราคาน้ำมันอิงสิงคโปร์และยกเลิกกองทุนน้ำมัน

ส่วนนายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระ จากกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ก็มีข้อเสนอว่า จากโครงสร้างราคาน้ำมัน 3 ส่วนหลัก คือ เนื้อน้ำมัน, ภาษีและกองทุนน้ำมัน และค่าการกลั่นและค่าการตลาดนั้น ราคาเนื้อน้ำมันขณะนี้มีราคาหน้าโรงกลั่นประมาณ 25-26 บาท ส่วนที่หนักที่สุดอยู่ในส่วนของภาษีและกองทุนน้ำมัน ที่ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเทศบาล เมื่อรวมกันแล้วจะทำให้ราคาน้ำมันสูงกว่าราคาจริง โดยน้ำมันเบนซิน จะเพิ่มขึ้นประมาณ 21 บาท แก๊ซโซฮอล์ ราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 10 กว่าบาท น้ำมันดีเซลจะมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ของราคาขายปลีก ส่วนราคาค่าการตลาดจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4-5 ของราคาขายปลีก ซึ่งถือเป็นจำนวนไม่มากนัก

ทางออกในการทำให้ราคาน้ำมันถูกลงเร็วที่สุดว่า คสช.ควรทบทวนลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้ต่ำลง แต่จะกระทบฐานะกองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่จำนวนมากเพราะรัฐบาลที่ผ่านมานำกองทุนน้ำมันไปอุ้มการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ดังนั้นควรปล่อยให้ก๊าซแอลพีจีลอยตัวตามราคาตลาดโลก

จะเห็นว่าทั้งกลุ่มจปพ.และกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน มีข้อเสนอสอดคล้องกันในส่วนของกองทุนน้ำมันว่า เป็นปัญหาที่จะต้องได้รับ การชำระสะสางถึงขั้นยุบทิ้ง

สอดคล้องกับข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งหนังสือถึงหัวหน้า คสช. ให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเพราะจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธ.ค 2547 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามมาตรา 12 ของพ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491

“.... เงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวจึงเป็นการนำเงินไปใช้จ่ายในการอุดหนุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพียงบางราย การเรียกเก็บเงินและการจ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงเป็นการดำเนินการไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับและให้อำนาจไว้ ขณะที่ตามหลักการคลังมหาชนการเก็บเงินจากประชาชนของภาครัฐนั้นจะต้องใช้ฐานอำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ .....เมื่อกองทุนน้ำมันจัดตั้งและดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการจัดเก็บ การจ่ายเงินกองทุนน้ำมัน การบริหารกองทุนของสถาบันบริหารกองทุนพลังงานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ” ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุ

เรื่องนี้ นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายความเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาจาก พ.ร.ก.กำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 มาตรา 3 ที่นายกรัฐมนตรีอ้างใช้ฐานในการมีคำสั่งจัดตั้งกองทุนน้ำมัน ก็ไม่พบว่ามีการให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการเรียกเก็บเงินในลักษณะ “ภาษี” หรือให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการจัดตั้ง “กองทุน” เพื่อเป็นฐานการเรียกเก็บเงินจากประชาชนในลักษณะ “ภาษี” ได้ แต่ประการใด

แถมยังศอกกลับแรงๆ ไปยังนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาคัดค้านการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยว่า การตั้งกองทุนน้ำมันนั้นขัดกฎหมายอย่างมาก และมีการใช้กองทุนโดยการนำเงินที่จัดเก็บได้ไปอุดหนุนผิดเรื่อง ที่มีคนบอกว่าไม่ควรเลิกเพราะเขารู้ดีว่ากำไรของบริษัท ปตท.ไม่ได้มาจากการขายของในร้านจิฟฟี่ หรือขายกาแฟอเมซอนอย่างที่มีการให้ข้อมูล แต่มาจากกองทุนน้ำมัน หน่วยงานที่ได้รับเงินของกองทุนน้ำมัน 70-80% ก็คือบริษัท ปตท.

เจอรุมกระหน่ำรอบด้าน ฉุดราคาหุ้นปตท.ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) จึงออกมาชี้แจงออดอ้อนให้สังคมเห็นใจเม็ดเงินกำไรแสนล้านต่อปีของปตท.นั้น ไม่ได้มาจากผูกขาดตลาดน้ำมัน ปตท.ได้นำกำไรส่วนใหญ่ไปลงทุนสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและต่อกรกับบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ โปรดเข้าใจและโปรดสำนึกกันบ้างว่าปตท.ทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน

นายไพรินทร์ หวั่นเหลือเกินกับกระแสโจมตีปตท.ในสื่อออนไลน์ โดยแก้ต่างว่า ไม่มีมูลความจริงและเป็นห่วงที่สุดคือการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ และกระแสสังคมถูกเหนี่ยวนำทำให้เกิดกระแสกดดันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปฏิรูปพลังงานทั้งระบบได้

ท่าทีของปตท.เช่นนี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่ากลัวว่า คสช. จะรื้อใหญ่โครงสร้างระบบพลังงานที่หมกเม็ดกันเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับปตท.ทั้งขึ้นทั้งล่องมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะการกำหนดราคาน้ำมันอิงตลาดสิงคโปร์ที่กินเปล่าจากต้นทุนเทียม และกองทุนน้ำมันที่อุ้มปิโตรเคมีของเครือปตท. ที่กลุ่มจปพ.ชำแหละให้เห็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนอย่างจะแจ้ง

ซีอีโอปตท. ยืนยันว่า ปตท.ดำเนินธุรกิจน้ำมันภายใต้การค้าเสรี ไม่ได้ผูกขาดตลาด เพราะการทำธุรกิจพลังงานมีกฎหมายควบคุม ปตท. เป็น 1 ใน 41 บริษัทผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันอยู่ที่ 39% โดยเอสโซ่ มีส่วนแบ่งตลาดเท่ากับบางจากที่ 10% เชลล์ส่วนแบ่งตลาด 9% เชฟรอน 7% จึงเป็นไปไม่ได้ที่ปตท.จะผูกขาด

สำหรับประเด็นกำไรของ ปตท.ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น ก็ไม่ได้มาจากธุรกิจน้ำมันเพียงอย่างเดียว ปตท.ทำหลายธุรกิจทั้งสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก๊าซฯ โรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี โดยปตท.รับรู้กำไรจากธุรกิจน้ำมันปีละ 8,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งรวมธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน อาทิ ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และร้านคาเฟ่อเมซอน ที่มีกำไรคิดเป็น 15-16 %ของกำไรธุรกิจน้ำมัน

“เมื่อเข้าไปดูในแต่ละธุรกิจของปตท. จะพบว่า กำไรแสนล้านบาทนั้น ร้อยละ 35-40 มากจาก ปตท. และอีกร้อยละ 35-40% มาจากธุรกิจปตท.สผ . ที่ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 68 ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจของบริษัทลูก ซึ่งกำไรมาจากธุรกิจน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิแสนล้านบาทเท่านั้น”

สำหรับกำไรของ ปตท.ร้อยละ 40 นำมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ที่เหลืออีกร้อยละ 60 เป็นส่วนที่ปตท. นำมาใช้ในการลงทุนจัดหาด้านพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณในการแสวงหาพลังงานเหมือนบางประเทศ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าธุรกิจน้ำมันของปตท.เอาเปรียบผู้บริโภค ฝ่ายบริหารจึงมีแนวคิดที่จะแยกธุรกิจน้ำมันของปตท. ออกมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ เปลี่ยนแบรนด์ จากปตท. มาเป็นแบรนด์อื่นแทน

นายไพรินทร์ กล่าวตอบโต้ประเด็นที่ระบุว่าเงินเดือน ซีอีโอ ปตท. เดือนละ 4.7 ล้านบาท ก็ไม่เป็นความจริง เพราะตัวเลขผลตอบแทนผู้บริหารปตท.ทั้ง 10 คน ประกอบด้วยเงินเดือนและโบนัส ในปี 2556 อยู่ที่ 99.79 ล้านบาท โดยปีที่แล้วมีกระแสข่าวว่าตนมีเงินเดือน 13 ล้านบาท หากนำมาหารด้วย 12 จะใกล้เคียงเงินเดือนตนในขณะนี้ ส่วนเรื่องที่ระบุว่าปตท.มีการเปิดบัญชีธนาคารเคย์แมน ดินแดนฟอกเงินเพื่อผ่องถ่ายกำไร ปตท.นั้นก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน หากมีข้อมูลเช่นนี้น่าจะส่งเรื่องไปยังสตง. และตนก็คงไม่สามารถบริหารปตท.ต่อไปได้ คงต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว

ในความเห็นของนายไพรินทร์แล้ว แนวทางการปฏิรูปพลังงานนั้นต้องเชื่อมั่นในกลไกตลาดเสรี ปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด แต่อาจเข้าไปอุดหนุนราคาเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ส่วนก๊าซเอ็นจีวีที่คุมราคาต่ำกว่าต้นทุนก็ควรปรับราคาขึ้นเช่นเดียวกับดีเซล ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังเห็นช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาไม่ให้ผันผวนและป้องกันการขาดแคลน แม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่นนำไปอุดหนุนราคาแอลพีจี แต่หากยังไม่มีกลไกอื่นมาทำหน้าที่แทนก็จำเป็นต้องมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

นายวิรัตน์ เอื้อนนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าในปีนี้ ปตท.จะมีกำไรใกล้เคียงปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 9.46 หมื่นล้านบาท โดยยังต้องแบกรับภาระการขาดทุนจาก NGV และ LPG ไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาทต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซฯในปีนี้ไม่ได้ปรับขึ้นมาก

ถ้อยแถลงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ซีอีโอปตท.เลือกพูดความจริงเพียงบางส่วนที่ทำให้ปตท.ดูดี คือ ธุรกิจปั๊มน้ำมันซึ่งเป็นกิจการน้ำมันขั้นปลายน้ำ ที่แม้ปตท.จะไม่ได้ผูกขาดแต่เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดรายใหญ่ที่สุด ขณะที่กิจการต้นน้ำ คือการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งได้ทั้งก๊าซและน้ำมัน การนำเข้าน้ำมันและก๊าซฯ และธุรกิจกลางน้ำที่ปตท.ผูกขาด คือ โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซฯ กิจการท่อก๊าซนั้นไม่มีคำอธิบายให้เห็นภาพรวมมีแต่คำอธิบายให้เห็นภาพลวง แยกเป็นท่อนๆ ส่วนๆ ทั้งที่กิจการทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวโยงกันทั้งระบบ ทำกำไรกันหลายชั้นและเป็นข้อต่อสำคัญที่ทำให้ปตท.มีกำไรปีละแสนล้าน ดังเช่นที่กลุ่มจปพ.แจกแจงให้เห็นทั้งเรื่องการกำหนดราคาน้ำมันอิงตลาดสิงคโปร์และกองทุนน้ำมันดังกล่าวข้างต้น

ส่วนประเด็นว่าประเทศไทยมีปิโตรเลียมมากมายมหาศาลนั้น ซีอีโอของปตท. โต้ว่า ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะโครงสร้างทางธรณีของประเทศไทยต่างจากมาเลเซียและเมียนมาร์ ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีไม่มากเหลือใช้เพียง 7 ปี หากไม่มีการเจาะสำรวจเพิ่มเติม หากประชาชนไม่เชื่อมั่นในข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ก็สามารถหาข้อมูลจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยได้

ด้านปริมาณการผลิตปิโตรเลียมของไทยมักเป็นประเด็นโต้แย้งกันอยู่เสมอ ปตท.และกระทรวงพลังงาน มักโต้ว่ามีอยู่น้อย แต่ภาคประชาชนและจากการตรวจสอบของวุฒิสภา แย้งว่า ถึงไม่มากมายมหาศาลแต่ก็มากอักโข โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Energy Information Administration (EIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา พบว่า เมื่อปี 2552 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแผ่นดินไทย อยู่ในอันดับ 35 ของโลก จาก 224 ประเทศ และก๊าซธรรมชาติอยู่ในอันดับที่ 23 จาก 224 ประเทศ ซึ่งไทยผลิตน้ำมันดิบและก๊าซฯ มากกว่าประเทศบรูไน โบลิเวีย พม่า คูเวต และเวเนซูเอล่า และปริมาณการผลิตก็เพิ่มขึ้นตามลำดับทุกปี

รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ยังระบุว่า จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่ดำเนินการผลิตแล้วกว่า 50 แหล่ง มีความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันดิบรวมกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2554 ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมของไทยเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 848,654 บาร์เรลต่อวัน หรือ 134 ล้านลิตรต่อวัน จากปี 2551 ที่ผลิตได้ 713,311 บาร์เรลต่อวัน หรือเท่ากับ 113 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนปี 2555 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตได้วันละ 968,000 บาร์เรล หรือ 153 ล้านลิตรต่อวัน (1 บาร์เรล เท่ากับ 159 ลิตร)

นอกจากนั้น ไทยยังเป็นประเทศส่งออกน้ำมันมาเป็นเวลา 13 ปีแล้ว โดยปี 2551 มูลค่าการส่งออกพลังงานของไทยทั้งน้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบและก๊าซปิโตรเลียมเหลว มีมูลค่าถึง 9,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าเพียง 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วงปี 2552 - 2555 ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปี 2552 รวม 35,420 ล้านบาท แต่พอปี 2555 พุ่งพรวดขึ้นมาเป็น 51,338 ล้านบาท โดยการส่งออกน้ำมันดิบของไทยไปต่างประเทศ มีลูกค้าหลักๆ 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา, จีน, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแล้วมีมาตรฐานสูงทั้งนั้น

วันนี้ ประชาชนคนไทย กำลังตั้งความหวังอย่างสูงยิ่งว่า คสช. จะเป็นอัศวินม้าขาวเข้ามาคลี่คลายความซับซ้อนซ่อนเงื่อนในกิจการพลังงานของประเทศที่ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชนคนไทยมานมนานให้มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และเป็นของขวัญที่คสช. คืนความสุขให้คนไทยอย่างแท้จริง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คนใหม่
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คนใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น