xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจ คสช.เลิกกองทุนน้ำมัน “ดีเซล-LPG” จ่อขึ้นราคา-คนจนซวย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตา คสช. เดินเครื่องสางปัญหาพลังงาน ที่ผูกโยงเงื่อนปมซับซ้อน ภาคประชาชนเสนอหลากหลายแนวทางแก้ ย้ำวันนี้ คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจเคลียร์โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งน้ำมันและก๊าซ LPG ด้านผู้เชี่ยวชาญพลังงานชี้เลิกกองทุนน้ำมัน ดีเซล-LPG ขึ้นแน่ ขณะที่นักวิชาการอิสระระบุปัญหาทั้งหมดเป็นเพราะปิดบังข้อมูล ยันสัมปทานด้านพลังงานแก้ไขได้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ หากไม่เร่งดำเนินการรถเก๋งเครื่องดีเซลเต็มตลาดแน่

หลังจากการเดินเครื่องหาเงินมาจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนา จนได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกจากการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เข้าทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 สร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับคนไทยได้ไม่น้อย

จากนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินเครื่องต่อในการเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน หนึ่งในนั้นคือแนวทางในการแก้ปัญหาพลังงาน

ก่อนหน้านี้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศและรองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ อนุมัติให้มีการขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนโดยจะปรับขึ้นอีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มิถุนายน แต่ในวันดังกล่าวกลับมีมติให้ตรึงราคา LPG ในอัตราเดิมคือที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม และให้ตรึงจนกว่าจะปรับโครงสร้างภาพรวมเสร็จ

ขณะที่ภาคประชาชนเดินหน้าเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงาน โดย 5 มิถุนายน 2557 กลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย ที่มี นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร เป็นแกนนำในการยื่นข้อเสนอถึงแนวทางในการแก้ปัญหาต่อ คสช. คือ

1. ให้ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี 2. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองโดยเท่าเทียมกันกับภาครัฐและภาคธุรกิจ 3. ให้ยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่อิงราคาสิงคโปร์แล้วบวกค่าพรีเมียม เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าความสูญเสียระหว่างการขนส่งจากสิงคโปร์มายังโรงกลั่นไทยเพราะมันไม่มีจริง 4. ให้ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้มีตัวแทนภาคประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม

ในวันเดียวกัน นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเสนอเห็นควรให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2547 หรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ที่อ้างว่าคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 พ.ร.ก. แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.ก. ฉบับนี้แล้วไม่พบว่ามีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจในเรื่องนี้ การมีคำสั่งนายกฯ ครั้งนี้จึงเป็นการออกคำสั่งที่มีเนื้อหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

กลายเป็นอีกแรงหนุนหนึ่งที่ทำให้แนวทางในการปฏิรูปพลังงานมีน้ำหนักมากขึ้น

ตามมาด้วย 9 มิถุนายน 2557 คสช.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน โดยมอบหมายให้รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ กำกับดูแลการแก้ไขปัญหา และเสนอแนวทางในการกำกับนโยบายการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศให้มีความเหมาะสม และมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมาย

ดูเหมือนปฏิบัติการรุกคืบทางด้านพลังงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะเดียวกันส่วนงานที่ถูกครหาเรื่องการผูกขาดพลังงานอย่าง ปตท. ต้องออกมาโอดครวญว่าถูกโจมตีและบิดเบือนข้อมูลด้านพลังงานกับ ปตท.ที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์

จากนี้ไปจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างมากกับแนวทางในการปฏิรูปพลังงานของไทยที่ผูกขาดมาเป็นเวลานาน
โครงสร้างราคาน้ำมัน 11 มิถุนายน 2557
วัดใจ คสช.สางปมพลังงาน

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทุกอย่างจะค่อยเป็นค่อยไปหลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาพลังงาน

ทางฝ่ายเราก็ได้เสนอแนวทางในการปฏิรูปพลังงาน สูตรที่เรานำเสนอไปมีหลายแนวทาง อาจจะแบ่งกันคนละครึ่งหรือให้ปิโตรเคมีเข้ามารับภาระให้มากขึ้นกว่าเดิม ฝ่ายของคุณปิยะสวัสดิ์ก็เสนอไปเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ทาง คสช.ต้องนำไปพิจารณาแล้วตัดสินใจ ตอนนี้ คสช.ถือว่าเป็นผู้กำหนดนโยบาย เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องนำไปแก้ ต้องนำแนวทางและข้อเสนอต่างๆ ไปประมวลผล

สำหรับเรื่องก๊าซ LPG ตอนนี้ประชาชนได้รับกระทบแล้ว ก็ต้องมีการแก้ ขึ้นกับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะแก้อะไรก่อน ต้องดูว่าเหตุมาจากอะไร ใครใช้เยอะกว่ากันระหว่างผู้ใช้ภาคประชาชนกับภาคปิโตรเคมี

ต้องรอดูนโยบายว่าจะเดินหน้าหรือทำอย่างไรต่อ ทำเพื่อประโยชน์ให้กับประชาชนจริงหรือไม่ อย่างที่ผ่านมา คสช.ประกาศขึ้น LPG ภาคครัวเรือนไปแล้วยังยุติได้ แสดงว่า คสช. ระมัดระวังมากขึ้น คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน วันนี้ คสช.มีอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไข และอาจมีการเรียกประชุมบอร์ด ปตท. ในอีกไม่ช้า ซึ่งประชาชนเห็นว่าพลังงานต้องใช้อำนาจที่เข้มแข็ง

ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขคือ ราคาน้ำมันและราคาก๊าซ LPG ส่วนเรื่องสัมปทานใหม่นั้นยังมีเวลาที่จะดำเนินการอย่างรอบคอบ

อย่างเรื่องของกองทุนน้ำมันอาจจะค่อยๆ ดำเนินการไปด้วยการลดราคาน้ำมัน ลดพร้อมๆ กับการลดบทบาทของกองทุนน้ำมันลง เพราะตอนนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เตรียมที่จะยื่นเรื่องนี้ต่อศาลปกครองอยู่ ส่วนเรื่องโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่นก็ต้องเข้ามาตรวจสอบดู หรืออย่างเรื่องเอทานอลที่ตอนนี้ราคาแพงกว่าน้ำมันเบนซิน 95 หรือภาษีสรรพสามิตที่ถูกเอาเปรียบจากกระบวนการกำหนดราคาก็สามารถใช้ช่วงจังหวะนี้เข้ามาปรับปรุง รวมไปถึงค่าการตลาดก็ต้องเข้ามาดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นอกจากนี้ควรพิจารณาด้วยว่ารายการเรียกเก็บต่างๆ นั้นมีอยู่จริงหรือไม่

ที่ผ่านมาปัญหาด้านพลังงานจะมีการผูกเงื่อนไขกันมาต่อเนื่อง เช่น เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันนำไปอุดหนุนก๊าซ LPG หากยกเลิกการเรียกเก็บเงินดังกล่าวก็จะไปกระทบกับราคาก๊าซ แต่กลับไม่มีใครทราบถึงราคาก๊าซที่ผู้ใช้หลักอย่างกลุ่มปิโตรเคมีนั้นซื้อกันที่ราคาเท่าไหร่
โครงสร้างราคา LPG 11 มิถุนายน 2557
เลิกกองทุนน้ำมันดีเซล-LPG จ่อขึ้น

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า แนวทางปฏิรูปพลังงานที่เสนอกันมานั้นมีทั้งในส่วนของการปรับโครงสร้างราคา การบริหาร และในส่วนของ ปตท. รวมถึงข้อเสนอปรับการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันใหม่ และวิธีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต

สำหรับแนวทางที่จะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงมานั้น หากมองในส่วนของราคาหน้าโรงกลั่นนั้นไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ถ้าหักไม่เอาค่าขนส่งต่างๆ เข้ามารวม ราคาจะลดลงได้ราว 30-40 สตางค์เท่านั้น หากพิจารณาที่กองทุนน้ำมันตัวใหญ่ที่สุดคือน้ำมันเบนซิน 95 ที่เรียกเก็บเงินเข้ากองทุน 10 บาทต่อลิตร ตรงนี้จะทำให้ลดลงได้มาก

แต่เงินส่วนนี้ใช้อุดหนุนก๊าซ LPG ที่เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากลดเงินกองทุนน้ำมันก๊าซ LPG จะต้องขึ้นราคา หากดำเนินการยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ราคาน้ำมันจะลดลงได้บางชนิดคือเบนซิน แต่ LPG และน้ำมันดีเซลจะต้องปรับตัวขึ้น

ส่วนข้อเสนอให้มีการใช้ราคาก๊าซที่โรงแยกสำหรับภาคครัวเรือน แล้วให้ปิโตรเคมีใช้ราคานำเข้านั้น โดยมองว่าราคาก๊าซในส่วนนี้ถูกเนื่องจากถูกตรึงไว้ที่ราว 10 บาท แต่ราคาที่แท้จริงในวันนี้อยู่ที่ราว 18-19 บาท

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานนั้นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องดูต้นทุนของน้ำมันแต่ละตัว การแก้ปัญหาด้านหนึ่งแม้อาจทำให้ราคาปรับลดลงมาแต่อาจเป็นการเพิ่มราคาให้กับอีกด้านหนึ่งได้
ราคาน้ำมันดีเซลมีโอกาสปรับขึ้นจากการเลิกกองทุนน้ำมัน(ภาพ:www.pttbsa.com)
ปิดบัง-แก้ปัญหาไม่จบ

นายประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรื่องพลังงานในประเทศไทยคือไม่มีการเปิดเผยต้นทุนที่แท้จริงว่าเป็นเท่าไหร่ ด้วยข้ออ้างเรื่องความลับทางการค้า ดังนั้นจึงเกิดการโต้แย้งกันไปมาจึงทำให้ข้อโต้แย้งเหล่านี้ไม่ได้ข้อยุติ อย่าง LPG ไม่เปิดเผยราคาตลาดโลก แต่พบว่าต่างประเทศถูกกว่าประเทศไทย หรืออย่างเช่นในช่วงที่มีการตอบกระทู้ในสภา แจ้งว่าราคาที่ปิโตรเคมีใช้อยู่ที่ 16.10 บาท แต่ในหนังสือชี้แจงกลับระบุว่าราคาที่ปิโตรเคมีใช้อยู่ที่ 24 บาท

หรืออย่างราคาเอทานอล สหรัฐฯ ขาย 15 บาท ไทยเกือบ 27 บาท แพงกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 เมื่อต้องนำเอาเอทานอลมาผสมเพื่อให้เป็นแก๊สโซฮอล์ 95 จึงทำให้ราคาเนื้อน้ำมันจริงแพงกว่าเบนซิน 95 หรือค่าการกลั่นของเราสูงมาก 19 เหรียญ (4.40 บาท/ลิตร) ขณะที่สิงคโปร์มีค่าการกลั่นเพียง 12 เหรียญต่อบาร์เรล

อีกทั้งเรื่องการให้สัมปทานกับต่างชาติไปแล้วนั้น เราในฐานะเจ้าของสัมปทานกลับไม่มีสิทธิใดๆ เลย อย่างในต่างประเทศระบบสัมปทานด้านพลังงาน เมื่อมีการลงนามไปแล้ว หากพบว่ามูลค่าของพลังงานนั้นเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่าจะปรับเงื่อนไขของสัมปทานนั้นไม่ได้ อย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย เมื่อให้สัมปทานกับต่างประเทศไปแล้วก็เข้าเจรจากันใหม่ โดยใช้เวลา 3 ปี ทุกฝ่ายก็ยอมรับเงื่อนไข
ราคา LPG มีโอกาสปรับขึ้นหากไม่สามารถแก้ปัญหาพลังงานได้ครบวงจร(ภาพ: www.pttplc.com)
ผูกโยงเป็นลูกโซ่

ปัญหาด้านพลังงานนับได้ว่าเป็นปมที่ถูกปิดบังต่อสาธารณชนมาโดยตลอด ไม่ว่ารัฐบาลใดหรือคณะรัฐประหารชุดใดที่เข้ามา ล้วนแล้วแต่ไม่กล้าเข้าไปแตะต้องหรือตรวจสอบความโปร่งใสด้านราคาที่ถูกเก็บงำมาโดยตลอดบนการแบกรับของประชาชนทุกคนที่ต้องใช้หรือจ่ายค่าพลังงานในราคาที่สูงกว่าหลายประเทศ

ยิ่งภายใต้โครงสร้างราคาน้ำมันที่มีการเรียกเก็บจากหลายส่วน เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าการตลาด ทำให้กว่าจะมาเป็นราคาขายปลีก แพงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 18-91%

ขณะที่ราคาก๊าซ LPG มีการเรียกเก็บเข้าหน่วยงานต่างๆ เช่นกัน แต่มีการเก็บเงินเข้ากองทุน 2 ครั้ง และค่าการตลาดของ LPG สูงถึง 3.25 บาท

นอกจากนี้นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทน อย่างเช่น เอทานอล ปัจจุบันกลับมีราคาที่แพงกว่าน้ำมันเบนซิน เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินเพื่อเป็นแก๊สโซฮอล์ราคาหน้าโรงกลั่นจึงสูงกว่าน้ำมันเบนซินปกติ

หรืออย่างเรื่องก๊าซ LPG ที่ถกเถียงกันมาตลอด ข้อตกลงเรื่องภาคปิโตรเคมีที่มีสิทธิซื้อโดยไม่เปิดเผยราคาที่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าภาคครัวเรือน วันนี้ปริมาณการใช้ของภาคปิโตรเคมีแซงหน้าภาคครัวเรือนไปแล้ว ข้ออ้างเรื่องต้องขึ้นราคาเพื่อนำเงินมาชดเชยก๊าซนำเข้าหรือเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเพื่อมาอุ้มผู้ใช้แก๊ส

ยังเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบว่าผู้ใช้น้ำมันต้องมาอุ้มใครระหว่างภาคครัวเรือนหรือภาคปิโตรเคมี และสิงห์มอเตอร์ไซค์ทั้งหลายล้วนไม่ใช่ผู้มีรายได้มาก ต่างก็ต้องจำใจจ่ายค่าน้ำมันในราคาเดียวกับผู้ใช้รถเก๋ง ขณะที่ทุกรัฐบาลกลับตรึงราคาน้ำมันดีเซล ด้วยเหตุผลว่าเป็นน้ำมันของผู้มีรายได้น้อยและเป็นต้นทุนการผลิต

แต่ลองเหลียวกลับไปมองอุตสาหกรรมรถยนต์ในเวลานี้ว่ามีรถเบนซ์และรถหรูบางยี่ห้อที่นำเอาเครื่องยนต์ดีเซลมาใส่ไว้ในรถเก๋งเหล่านี้จำนวนไม่น้อย หรือหลายคนเริ่มหันมาใช้รถอเนกประสงค์เครื่องยนต์ดีเซลและอีกไม่นานรถเก๋งขนาดเล็กเครื่องดีเซลก็จะออกตามมา แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

กำลังโหลดความคิดเห็น