ปธ.ผู้ตรวจฯ ร่อนหนังสือ หน.คสช.ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ให้ ปชช.ใช้ในราคาที่เป็นธรรม นิ่งเฉยส่งศาลปกครอง แจงมีผู้ร้องเพียบ เตรียมยกร่างหนังสือชงรัฐ แต่มีรัฐประหารก่อน ยกเหตุตั้งกองทุนน้ำมัน ไม่สอดคล้อง ม.12 พ.ร.บ.เงินคงคลัง ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันผลักภาระ ปชช. ขายปลีกราคาสูง เอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการบางราย ออกคำสั่งเนื้อหาเกิน กม.กำหนด
วันนี้ (5 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเสนอเห็นควรให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2547 หรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น จึงควรพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป โดยมีการระบุว่าหากไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอแนะ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณา
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อเดือน เม.ย. 56 ขอให้พิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีรัฐเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรวมเข้ากับราคาน้ำมันขายปลีกในท้องตลาด ทำให้ประชาชนผู้บริโภคตกเป็นผู้ต้องรับภาระกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเป็นเหตุให้ได้ความรับความเดือดร้อน ซึ่งผู้ตรวจฯ ได้การพิจารณาจนแล้วเสร็จก่อนหน้านี้ แต่ระหว่างการยกร่างหนังสือเพื่อส่งข้อเสนอแนะดังกล่าวให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว แต่เกิดการรัฐประหารขึ้นก่อน คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง ผู้ตรวจฯ จึงได้มีหนังสือดังกล่าวส่งไปยังคสช.
สำหรับหนังสือที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปยัง คสช. ระบุเหตุผลประกอบข้อเสนอให้ คสช.พิจารณายกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า การจัดตั้งกองทุนน้ำมันตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่สอดคล้องกับมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ที่ระบุว่า การจ่ายเงินเป็นทุนหรือเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย โดยโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติประกอบไปด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หรือก๊าซธรรมชาติ (LPG) ภาษีและเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เป็นผู้เรียกเก็บจากผู้ค้าน้ำมันผ่านหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษี ทำให้ผู้ค้าน้ำมัน ผลักภาระเงินที่จะต้องส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าวไปยังประชาชนผู้บริโภคในรูปของราคาขายปลีกที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากประชาชนผู้บริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรียกเก็บผ่านผู้ค้าน้ำมันโดยหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษีของรัฐ คือ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร เงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นรายได้ของรัฐที่รัฐบาลบังคับเก็บจากผู้บริโภค โดยไม่มีสิ่งตอบแทนโดยตรง เงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวจึงเป็นการนำเงินไปใช้จ่ายในการอุดหนุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพียงบางราย การเรียกเก็บเงินและการจ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงเป็นการดำเนินการไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับและให้อำนาจไว้ ขณะที่ตามหลักการคลังมหาชนการเก็บเงินจากประชาชนของภาครัฐนั้นจะต้องใช้ฐานอำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
หนังสือดังกล่าวยังระบุอีกว่า ที่นายกฯอ้างว่าออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 แต่เมื่อพิจารณาแล้ว พ.ร.ก.ฉบับนี้แล้วไม่พบว่ามีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจในเรื่องนี้ การมีคำสั่งนายกฯ ครั้งนี้จึงเป็นการออกคำสั่งที่มีเนื้อหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกันการจะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้ต้องออกเป็นกฎหมายในลำดับชั้นเดียวกัน
“ทำให้การจัดตั้งกองทุนน้ำมันไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการเรียกเก็บเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯตามคำสั่งนายกฯที่กำหนดให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยไม่นำส่งคลังก่อน จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 12 รวมถึง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 ด้วย เห็นควรที่คสช.จะให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณายกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสมควรพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ทางผู้ตรวจฯ ยังมีความเห็นเสนอว่าการบริหารกองทุนพลังงาน ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เนื่องจากเมื่ออพิจารณา พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน พ.ศ. 2556 ที่จัดตั้งเป็นองค์การมหาชน มีหน้าที่จัดหาเงินมาดำเนินการเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมั้นเชื้อเพลิงภายในประเทศ พร้อมดำเนินการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการบริหารกองทุนพลังงาน เมื่อกองทุนน้ำมันฯ จัดตั้งและดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการจัดเก็บ การจ่ายเงินกองทุนน้ำมัน การบริหารกองทุนของสถาบันบริหารกองทุนพลังงานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย