xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชง "ประยุทธ์" ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชี้ผู้บริโภครับภาระหนัก-รายได้ไม่เข้าคลัง

เผยแพร่:

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึง หน. คสช. ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชี้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ซ้ำเงินที่จัดเก็บยังไม่นำส่งคลัง ขัด พ.ร.บ. เงินคงคลัง ระบุหากยังไม่มีการแก้ไขเตรียมชงศาลปกครอง รักษาประโยชน์ประชาชนเพื่อให้ได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรม

วันนี้ (5 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา นางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเสนอเห็นควรให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2547 หรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเห็นว่า เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น จึงควรพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป โดยมีการระบุว่า หากไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอแนะ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณา

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อเดือน เม.ย. 56 ขอให้พิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีรัฐเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมเข้ากับราคาน้ำมันขายปลีกในท้องตลาด ทำให้ประชาชนผู้บริโภคตกเป็นผู้ต้องรับภาระกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเป็นเหตุให้ได้ความรับความเดือดร้อน ซึ่งผู้ตรวจฯ ได้การพิจารณาจนแล้วเสร็จก่อนหน้านี้ แต่ระหว่างการยกร่างหนังสือเพื่อส่งข้อเสนอแนะดังกล่าวให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว แต่เกิดการรัฐประหารขึ้นก่อน คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง ผู้ตรวจฯ จึงได้มีหนังสือดังกล่าวส่งไปยัง คสช.

สำหรับหนังสือที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปยัง คสช. ระบุเหตุผลประกอบข้อเสนอให้ คสช. พิจารณายกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ว่า การจัดตั้งกองทุนน้ำมันตามคำสั่งนายกรัฐมนตรรีดังกล่าว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่สอดคล้องกับมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ที่ระบุว่า การจ่ายเงินเป็นทุนหรือเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย โดยโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติประกอบไปด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หรือก๊าซธรรมชาติ (LPG) ภาษีและเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เป็นผู้เรียกเก็บจากผู้ค้าน้ำมันผ่านหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษี ทำให้ผู้ค้าน้ำมัน ผลักภาระเงินที่จะต้องส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าวไปยังประชาชนผู้บริโภคในรูปของราคาขายปลีกที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากประชาชนผู้บริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรียกเก็บผ่านผู้ค้าน้ำมันโดยหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษีของรัฐ คือ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ซึ่งเงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นรายได้ของรัฐที่รัฐบาลบังคับเก็บจากผู้บริโภค โดยไม่มีสิ่งตอบแทนโดยตรง เงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวจึงเป็นการนำเงินไปใช้จ่ายในการอุดหนุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพียงบางราย การเรียกเก็บเงินและการจ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงเป็นการดำเนินการไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับและให้อำนาจไว้ ขณะที่ตามหลักการคลังมหาชนการเก็บเงินจากประชาชนของภาครัฐนั้นจะต้องใช้ฐานอำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

หนังสือดังกล่าวยังระบุอีกว่า ที่นายกฯอ้างว่าออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 แต่เมื่อพิจารณาแล้ว พ.ร.ก. ฉบับนี้แล้วไม่พบว่ามีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจในเรื่องนี้ การมีคำสั่งนายกฯครั้งนี้จึงเป็นการออกคำสั่งที่มีเนื้อหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกันการจะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้ต้องออกเป็นกฎหมายในลำดับชั้นเดียวกัน ทำให้การจัดตั้งกองทุนน้ำมันไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการเรียกเก็บเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯ ตามคำสั่งนายกฯ ที่กำหนดให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยไม่นำส่งคลังก่อน จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 12 รวมถึง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ ปี 2502 ด้วย เห็นควรที่คสช.จะให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณายกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสมควรพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ตรวจฯ ยังมีความเห็นเสนอว่าการบริหารกองทุนพลังงาน ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เนื่องจากเมื่อพิจารณา พ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน พ.ศ. 2556 ที่จัดตั้งเป็นองค์การมหาชน มีหน้าที่จัดหาเงินมาดำเนินการเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมั้นเชื้อเพลิงภายในประเทศ พร้อมดำเนินการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการบริหารกองทุนพลังงาน เมื่อกองทุนน้ำมันฯ จัดตั้งและดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการจัดเก็บ การจ่ายเงินกองทุนน้ำมัน การบริหารกองทุนของสถาบันบริหารกองทุนพลังงานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น