“คมสัน” ชี้กองทุนน้ำมันเปรียบมะเร็งร้ายสำหรับผู้บริโภค จี้คสช.ยกเลิก เหน็บพวกอยากให้คงไว้เพราะรู้ดีกำไรปตท.ไม่ได้มาจากร้านจิฟฟี่ ขายกาแฟอเมซอน แต่มาจากกองทุนน้ำมัน หวั่นข้อมูลผู้ตรวจฯชงยกเลิกอ่อน เสนอหลักฐานการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ มีลักษณะเป็นภาษี ขณะที่ ประธาน คสช. ตั้ง "ประยุทธ์" ประธานบอร์ดพลังงานแห่งชาติ “ไพรินทร์”ซัดกระแสข่าวโซเชียล มีเดีย บิดเบือนข้อมูลและโจมตีปตท. หวั่นสร้างกระแสกดดันกระทบต่อการปฎิรูปพลังงานของคสช. พร้อมค้านยุบกองทุนน้ำมัน อ้างช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาไม่ให้มีความผันผวน ชี้หากหากยังไม่มีกลไกอื่น มาทำหน้าที่แทน ก็จำเป็นจะต้องคงมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ ขณะที่ยังไร้คำสั่งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน
นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกรณีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน คัดค้านการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า การตั้งกองทุนน้ำมันนั้นขัดกฎหมายอย่างมาก และมีการใช้กองทุนโดยการนำเงินที่จัดเก็บได้ไปอุดหนุนผิดเรื่อง ที่มีคนบอกว่าไม่ควรเลิกเพราะเขารู้ดีว่ากำไรของบริษัทปตท. ไมได้มาจากการขายของในร้านจิฟฟี่ หรือขายกาแฟอเม ซอนอย่างที่มีการให้ข้อมูล แต่มาจากกองทุนน้ำมัน หน่วยงานทิ่เงินของกองทุนน้ำมัน 70-80% ก็คือบริษัทปตท. ซึ่งต้นทุนในความเป็นจริงแล้วมีเรื่องซับซ้อนในระบบของปตท.เยอะมาก
เช่น เรื่องราคาน้ำมันที่ตั้งขึ้นมา คือ ขายในประเทศ แต่คิดราคาสิงค์โปร์ ซึ่งราคาสิงค์โปร์จะรวมค่าขนส่ง ประกันภัยค่าเดินเรือเจากสิงค์โปร์เข้ามาในไทยด้วย ซึ่งมันไม่ควรคิด เพราะการเอาราคาขายปลีกของสิงค์โปร์มาเป็นฐานของเราแล้วบวกภาษี และกองทุนน้ำมัน เข้าไปด้วย ก็ทำให้ราคาน้ำมันของไทยแพงลิ่ว คำถามก็คือทำไมสิงค์โปร์คิดได้แล้ว ผู้บริหารไทยจึงคิดไม่ได้
นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันฯไม่ได้ใช้ในการรักษาระดับราคาน้ำมันแล้ว เพราะว่ามีการปล่อยราคาน้ำมันลอยตัว ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงเท่าไร น้ำมันในประเทศก็สูงเท่านั้น การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันก็เป็นการดับเบิ้ลราคาเข้าไปอีก ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกสูงขึ้นไปอีกโดยไม่มีความจำเป็น ส่วนเรื่องการใช้ก๊าซธรรมชาติ บริษัทปตท. ผูกขาดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติอยู่เพียงรายเดียว วิธีแก้ปัญหา ต้องเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ราคาก็จะลงมาเอง ไม่ใช่ไปใช้วิธีการชดเชยให้กับปตท.แบบนี้ แต่ต้องให้ปตท.มาแข่งขันในตลาดแบบคนอื่นเขา ฉะนั้นกองทุนน้ำมันจึงเป็นมะเร็งสำหรับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคไม่ได้ต้องการ มันกลายมาเป็นการเสียซ้ำซ้อน โดยไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับผู้บริโภค แต่มีประโยชน์กับผู้ค้าน้ำมันบางรายเท่านั้น ซึ่งก็คือบริษัทปตท.
นายคมสัน ยังกล่าวอีกว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือถึงคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้มีการยกเลิกกองทุนน้ำมัน โดยนำเสนอประเด็นเหตุแห่งการยกเลิกว่ามาจากการจัดตั้งกองทุนน้ำมันขัดต่อกฎหมายหลายฉบับเพียงอย่างเดียวนั้น ส่วนตัวมองว่าทำให้น้ำหนักของมูลเหตุการณ์เสนอยกเลิกยังอ่อนเกินไป เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วจากที่ตนได้ทำงานศึกษาเรื่องพลังงานมาต่อเนื่อง ยังมีข้อมูลว่า นอกจาก การจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ยังทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วย เพราะการจัดเก็บมีลักษณะเป็นการจัดเก็บภาษี ซึ่งจากโครงสร้างราคาน้ำมันและราคาก๊าซเมื่อรวมเป็นราคาขายปลีกให้แก่ประชาชนผู้บริโภค จะพบว่า การจัดเก็บเงินต่างๆ ในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก๊าซ (LPG) จะประกอบด้วยราคาน้ำมัน หรือก๊าซ (LPG) +ภาษี + เงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยเรียกเก็บจากผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งผู้ค้าน้ำมันได้ผลักภาระการส่งภาษี เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินกองทุนอื่นให้แก่ประชาชนผู้บริโภครับภาระแทนในราคาขายปลีก โดยนำภาษีและเงินเข้ากองทุนต่างๆ รวมอยู่ในราคาน้ำมันขายปลีกให้แก่ผู้บริโภค ส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระภาษีและเงินเข้ากองทุนต่างๆ โดยตรง
นอกจากนี้ การที่เงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กลับมีการเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ออก คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4 ลงวันที่ 23 ธ.ค. 47 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการจัดเก็บ
“ตามหลักการคลังมหาชน การเก็บเงินจากประชาชนของภาครัฐนั้นจะต้องใช้ฐานอำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารจะจัดเก็บภาษีได้ต่อเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติได้มอบอำนาจการจัดเก็บให้แก่ฝ่ายบริหาร ถือเป็นหลักการสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารเรียกเก็บภาษีตามอำเภอใจ ”
นายคมสัน ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อการจัดเก็บเงินเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เป็นลักษณะของภาษีที่เรียกเก็บจากการประกอบการและบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ (LPG) โดยฝ่ายบริหารได้ออกคำสั่งใช้อำนาจรัฐบังคับจัดเก็บจากผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง และทำให้ภาระทางภาษีนั้นตกแก่ประชาชนโดยไม่สมัครใจ และการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีลักษณะเป็นรายได้ของรัฐที่ถูกนำไปใช้โดยไม่เป็นผลประโยชน์ตอบแทนโดยตรงเช่นเดียวกับผู้เสียภาษีที่ไม่ได้รับผลตอบแทนโดยตรง เพราะเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประชาชนได้จ่ายไปนั้นไม่ได้พิจารณาจากสัดส่วนของประโยชน์ที่ผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับจากรัฐ แต่การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นมีขึ้นเพื่อนำรายได้จากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในกิจการอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีหรือชดเชยภาคขนส่ง เป็นการอุดหนุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพียงบางรายอัน เป็นการขัดต่อหลักความเท่าเทียมกันเรื่องภาษี
ประกอบกับผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วจะไม่อาจเรียกคืนเงินดังกล่าวที่ชำระไปได้จึงทำให้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีลักษณะเป็น “ภาษี” ที่ไม่ชอบด้วยหลักการการจัดเก็บภาษี และยังขัดแย้งกับหลักกฎหมายการเงิน การคลัง และงบประมาณ และยังไม่มีการนำเงินที่จัดเก็บได้ส่งคลังก่อน จึงไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.เงินคงคลัง 2491 ด้วย ดังนั้น การตราพ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญไปด้วย จึงสมควรที่จะมีการยกเลิกเพื่อให้เกิดกความเป็นธรรมกับประชาชนต่อไป จึงอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณาถึงข้อมูลดังกล่าวด้วย
คสช. ตั้ง "บิ๊กตู่" ประธานบอร์ดพลังงานแห่งชาติ
วานนี้ (9 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 54/255 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เนื้อหาระบุว่า เพื่อให้การบริหารนโยบาย แผนงาน และมาตรการด้านพลังงานของประเทศ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงออกคำสั่งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นรองประธาน
กรรมการประกอบด้วย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และตำแหน่งของปลัดในกระทรวงต่างๆ รวมถึง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
โดยมีอำนาจหน้าที่ 1. เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหาร และพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2. กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบาย และแผนการบริหาร และพัฒนาพลังงานของประเทศ 3. ติดตามดูแล ประสาน สนับสนุน และเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหลาย ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบาย และแผนการบริหาร และพัฒนาพลังงานของประเทศ 4. ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย และแผนการบริหาร และพัฒนาพลังงานของประเทศ ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย สั่ง ณ วันที่ 6 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
แต่งตั้งคกก.บริหารนโยบายพลังงาน
ตามที่หัวหน้าคสช.ได้มอบหมายให้รองหัวหน้าคสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ กำกับดูแลการแก้ไขปัญหา และเสนอแนวทางในการกำกับนโยบายการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ ให้มีความเหมาะสมและมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน จึงให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบาย พลังงาน โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้ องค์ประกอบ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ประธานกรรมการ
ส่วนกรรมการประกอบด้วย ปลัดในแต่ละกระทรวง เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
แต่งตั้งคกก.นโยบายพลังงานแห่งชาติ
นอกจากนี้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงออกคำสั่งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยมีองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1. หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ 2. รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ รองประธาน
ส่วนคณะกรรมการจะมาจากปลัดในแต่ละกระทรวง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนัก งานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
ตั้งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
นอกจากนี้ยัง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงออกคำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงานคณะหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบดังนี้ เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ
ส่วนกรรมการประกอบด้วยปลัดบัญชีทหารบก ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพลังงาน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสภาวิศวกร นายกสภาสถาปนิก ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
***คสช.เผยยังไม่ได้ข้อยุติในหลายโครงการ
วานนี้ (9 มิ.ย.)พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องภาษี โครงสร้างราคาพลังงาน มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร การบริหารจัดการน้ำและสาธารณูปโภคยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของแต่ละฝ่ายกำลังการศึกษาผลกระทบ เพื่อพิจารณาหาข้อตกลง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ยืนยันว่ายังไม่ได้รับข้อยุติ หรือมีคำสั่งใดๆ เพราะงานเร่งด่วนปัจจุบันได้แก่ การเร่งใช้จ่ายงบประมาณปี57 ในทุกส่วนราชการ โดยจะมีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตและเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด สอดคล้องกับการใช้จ่ายงบประมาณปี 58 ที่สำนักงบประมาณจัดทำอยู่ให้มากที่สุด
ปตท .โต้โซเชียล มีเดียบิดเบือนข้อมูล
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวชี้แจงข้อมูลเรื่องพลังงานแก้ข้อกล่าวหาในสื่อสังคมออนไลน์ วานนี้ (9 มิ.ย.)ว่า จากกระแสข่าวโจมตีปตท.และบิดเบือนข้อมูลด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันว่าไม่มีข้อมูลความจริงและเป็นข้อมูลเดิมๆที่แชร์ส่งต่อกันมา จนทำให้ประชาชนคล้อยตาม โดยเป็นห่วงที่สุด คือการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ และกระแสสังคมถูกเหนี่ยวนำ ทำให้เกิดกระแสกดดันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปฏิรูปพลังงานทั้งระบบได้
โดยยืนยันว่าปตท.ดำเนินธุรกิจน้ำมันภายใต้การค้าเสรี ไม่ได้ผูกขาดตลาด เพราะการทำธุรกิจพลังงานมีกฎหมายควบคุม ปตท.เป็น 1 ใน 41 บริษัทผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันอยู่ที่ 39% โดยเอสโซ่มีส่วนแบ่งตลาดเท่ากับบางจากที่ 10% เชลล์ส่วนแบ่งตลาด 9% เชฟรอน 7% จึงเป็นไปไม่ได้ที่ปตท.จะผูกขาด
สำหรับประเด็นกำไรของปตท.ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น ก็ไม่ได้มาจากธุรกิจน้ำมันเพียงอย่างเดียว ซึ่งหลายคนมักมีความเข้าใจผิด เนื่องจากเป็นธุรกิจน้ำมันเป็นเพียงธุรกิจเดียวที่สัมผัสกับผู้บริโภคได้โดยตรง แต่ความจริงแล้วปตท.ทำหลายธุรกิจทั้งสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก๊าซฯ โรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี เป็นต้น โดยปตท.รับรู้กำไรจากธุรกิจน้ำมันปีละ 8,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งรวมธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน อาทิ ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และร้านคาเฟ่อเมซอน ที่มีกำไรคิดเป็น 15-16 %ของกำไรธุรกิจน้ำมัน
ที่ผ่านมา ธุรกิจน้ำมันของปตท.มีบทบาทสำคัญในการคานอำนาจบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยไม่ให้มีกำไรเกินควร จะเห็นได้จากก่อนหน้านี้ ปตท.ไม่ได้ขายน้ำมันเบนซิน 95 ทำให้ผู้ค้าน้ำมันต่างชาติกำหนดราคาขายและทำกำไรสูงมาก จนรัฐต้องให้ปตท.เข้ามาขายเบนซิน 95 เพื่อดึงราคาลงมา ไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน
“ เมื่อเข้าไปดูในแต่ละธุรกิจของปตท. จะพบว่า กำไรแสนล้านบาทนั้น ร้อยละ 35-40 มากจากปตท. และอีกร้อยละ 35-40% มาจากธุรกิจปตท.สผ . ที่ปตท.ถือหุ้นร้อยละ68 ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจต่างๆของบริษัทลูก ซึ่งกำไรมาจากธุรกิจน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิแสนล้านบาทเท่านั้น”
นอกจากนี้ กำไรของปตท. ร้อยละ 40 นำมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ที่เหลืออีกร้อยละ 60 เป็นส่วนที่ปตท. นำมาใช้ในการลงทุนจัดหาด้านพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณในการแสวงหาพลังงานเหมือนบางประเทศ โดยในส่วนของธุรกิจน้ำมันนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 ของกำไรเท่านั้น และบทบาทที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจน้ำมันของปตท. พยายามที่จะคานอำนาจ บริษัทน้ำมันข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ มาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าธุรกิจน้ำมันของปตท.เอาเปรียบผู้บริโภค ฝ่ายบริหารจึงมีแนวคิดที่จะแยกธุรกิจน้ำมันของปตท. ออกมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ เปลี่ยนแบรนด์ จากปตท. มาเป็นแบรนด์อื่นแทน เพื่อให้เห็นภาพผลดำเนินงานที่ชัดเจน โดยจะนำเสนอต่อบอร์ด ปตท.ในเร็วๆนี้
“การเปลี่ยนแปลงบอร์ด ปตท. นั้น ถือเป็นเรื่องของนโยบาย และขณะนี้ยังไม่มีกรรมการท่านใดยื่นหนังสือลาออก “
นายไพรินทร์ กล่าวตอบโต้ประเด็นที่ระบุว่าเงินเดือน ซีอีโอ ปตท. เดือนละ 4.7 ล้านบาท ก็ไม่เป็นความจริง เพราะตัวเลขผลตอบแทนผู้บริหารปตท.ทั้ง 10 คน ประกอบด้วยเงินเดือนและโบนัส ในปี 2556 อยู่ที่ 99.79 ล้านบาท โดยปีที่แล้วมีกระแสข่าวว่าตนมีเงินเดือน 13 ล้านบาท หากนำมาหารด้วย 12 จะใกล้เคียงเงินเดือนตนในขณะนี้ ส่วนเรื่องที่ระบุว่าปตท.มีการเปิดบัญชีธนาคารเคย์แมน ดินแดนฟอกเงินเพื่อผ่องถ่ายกำไรปตท.นั้นก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน หากมีข้อมูลเช่นนี้น่าจะส่งเรื่องไปยังสตง. และตนก็คงไม่สามารถบริหารปตท.ต่อไปได้ คงต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว รวมทั้งประเด็นว่าประเทศไทยมีน้ำมันมากมายมหาศาล ก็ไม่เป็นความจริง เพราะโครงสร้างทางธรณีของประเทศไทยต่างจากมาเลเซียและเมียนมาร์ ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีไม่มากเหลือใช้เพียง 7ปี หากไม่มีการเจาะสำรวจเพิ่มเติม หากประชาชนไม่เชื่อมั่นในข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ก็สามารถหาข้อมูลจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยได้
หากถามว่าแนวทางการปฏิรูปพลังงานอย่างไรจะจึงจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ส่วนตัวยังเชื่อมั่นเรื่องของกลไกตลาดเสรี คือปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด และอาจจะต้องมีการเข้าไปช่วยอุดหนุนราคาเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่นแอลพีจี ที่ยังคงต้องอุดหนุนกลุ่มผู้ใช้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ส่วนภาคขนส่งและอุตสาหกรรมคอยจะปล่อยให้ราคาลอยตัว ส่วนเอ็นจีวีที่ยังถูกควบคุมราคาเอาไว้ต่ำกว่าต้นทุนจริง ก็ควรจะต้องมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาดีเซล ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนจะมีการเรียกร้องให้มีการลดราคาพลังงานลงโดยอ้างอิงข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งกระทรวงพลังงานและปตท.ได้เตรียมข้อมูลด้านพลังงานเสนอต่อคสช.ด้วย
ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังเห็นว่ามีประโยชน์ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาไม่ให้มีความผันผวน และป้องกันการขาดแคลน แม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ไปบ้าง เช่นนำไปอุดหนุนราคาแอลพีจี แต่หากยังไม่มีกลไกอื่น มาทำหน้าที่แทน ก็จำเป็นจะต้องคงมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้
นายวิรัตน์ เอื้อนนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าในปีนี้ ปตท.จะมีกำไรใกล้เคียงปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 9.46 หมื่นล้านบาท โดยยังต้องแบกรับภาระการขาดทุนจาก NGV และ LPG ไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาทต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซฯในปีนี้ไม่ได้ปรับขึ้นมากส่วนราคาหุ้นกลุ่มปตท.ปรับต้วลงจากกระแสข่าวต่างๆ ในสื่อสังคม ออนไลน์นั้น ปตท.จะเร่งทำความเข้าใจ และชี้แจงข้อมูลให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย
ตร. รวบตัว ทอม ดันดี ได้แล้ว
วานนี้ (9 มิ.ย.) พ.ต.ท.สุขเนตร เสนวงค์ หน.ตร.สันติบาล จ.เพชรบรี ร.ต.อ.สุทิน ขาวเรือง สว.กก.ส.อ.บช.ตชด.ค่ายนเรศวร พร้อมกำลัง ศปส.เพชรบุรี ได้เข้าจับกุมตัว นายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัวของ คสช. ตามคำสั่งที่ 53/2557 เบื้องต้นตำรวจได้ติดตามและจับกุมได้ที่จุดตรวจบ้านวังจันทร์ พบว่านายธานัท ได้ขับรถมากับภรรยาคนปัจจุบัน จึงได้ควบคุมตัว และประสานกับทหารจากมณฑลทหารบกที่ 15 มารับตัวเพื่อนำตัวไปยังกรุงเทพฯ ต่อไป.