“ไพรินทร์” ชี้แจงข้อมูลพลังงาน อ้างกระแสข่าวโซเชียลมีเดียบิดเบือนข้อมูลและโจมตี ปตท. หวั่นสร้างกระแสกดดันกระทบต่อการปฏิรูปพลังงานของ คสช. ยัน ปตท.ไม่เคยผูกขาดตลาดน้ำมัน และกำไรส่วนใหญ่นำไปใช้ในการลงทุนสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมเร่งให้ข้อมูลแก่ประชาชนทั่วไป
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวชี้แจงข้อมูลเรื่องพลังงานแก้ข้อกล่าวหาในสื่อสังคมออนไลน์ วันนี้ (9 มิ.ย.) ว่า จากกระแสข่าวโจมตี ปตท.และบิดเบือนข้อมูลด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันว่าไม่มีข้อมูลความจริงและเป็นข้อมูลเดิมๆ ที่แชร์ส่งต่อกันมาจนทำให้ประชาชนคล้อยตาม โดยเป็นห่วงที่สุดคือการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ และกระแสสังคมถูกเหนี่ยวนำ ทำให้เกิดกระแสกดดันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปฏิรูปพลังงานทั้งระบบได้
โดยยืนยันว่า ปตท.ดำเนินธุรกิจน้ำมันภายใต้การค้าเสรี ไม่ได้ผูกขาดตลาด เพราะการทำธุรกิจพลังงานมีกฎหมายควบคุม ปตท.เป็น 1 ใน 41 บริษัทผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันอยู่ที่ 39% โดยเอสโซ่มีส่วนแบ่งตลาดเท่ากับบางจากที่ 10% เชลล์ส่วนแบ่งตลาด 9% เชฟรอน 7% จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ปตท.จะผูกขาด
สำหรับประเด็นกำไรของ ปตท.ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้นก็ไม่ได้มาจากธุรกิจน้ำมันเพียงอย่างเดียว ซึ่งหลายคนมักมีความเข้าใจผิดเนื่องจากธุรกิจน้ำมันเป็นเพียงธุรกิจเดียวที่สัมผัสกับผู้บริโภคได้โดยตรง แต่ความจริงแล้ว ปตท.ทำหลายธุรกิจทั้งสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก๊าซฯ โรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี เป็นต้น โดย ปตท.รับรู้กำไรจากธุรกิจน้ำมันปีละ 8,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งรวมธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน เช่น ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และร้านคาเฟ่อเมซอน ที่มีกำไรคิดเป็น 15-16% ของกำไรธุรกิจน้ำมัน
ที่ผ่านมาธุรกิจน้ำมันของ ปตท.มีบทบาทสำคัญในการคานอำนาจบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยไม่ให้มีกำไรเกินควร จะเห็นได้จากก่อนหน้านี้ ปตท.ไม่ได้ขายน้ำมันเบนซิน 95 ทำให้ผู้ค้าน้ำมันต่างชาติกำหนดราคาขายและทำกำไรสูงมาก จนรัฐต้องให้ ปตท.เข้ามาขายเบนซิน 95 เพื่อดึงราคาลงมา ไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน
“เมื่อเข้าไปดูในแต่ละธุรกิจของ ปตท.จะพบว่กำไรแสนล้านบาทนั้น ร้อยละ 35-40 มาจาก ปตท. และอีกร้อยละ 35-40% มาจากธุรกิจ ปตท.สผ.ที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 68 ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจต่างๆ ของบริษัทลูก ซึ่งกำไรมาจากธุรกิจน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิแสนล้านบาทเท่านั้น”
นอกจากนี้ กำไรของ ปตท.ร้อยละ 40 นำมาจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ที่เหลืออีกร้อยละ 60 เป็นส่วนที่ ปตท.นำมาใช้ในการลงทุนจัดหาด้านพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณในการแสวงหาพลังงานเหมือนบางประเทศ โดยในส่วนของธุรกิจน้ำมันนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของกำไรเท่านั้น และบทบาทที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจน้ำมันของ ปตท.พยายามที่จะคานอำนาจบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศมาโดยตลอด
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าธุรกิจน้ำมันของ ปตท.เอาเปรียบผู้บริโภค ฝ่ายบริหารจึงมีแนวคิดที่จะแยกธุรกิจน้ำมันของ ปตท.ออกมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเปลี่ยนแบรนด์จาก ปตท.มาเป็นแบรนด์อื่นแทน เพื่อให้เห็นภาพผลดำเนินงานที่ชัดเจน โดยจะนำเสนอต่อบอร์ด ปตท.ในเร็วๆ นี้
“การเปลี่ยนแปลงบอร์ด ปตท.นั้นถือเป็นเรื่องของนโยบาย และขณะนี้ยังไม่มีกรรมการท่านใดยื่นหนังสือลาออก”
นายไพรินทร์กล่าวตอบโต้ประเด็นที่ระบุว่า เงินเดือนซีอีโอ ปตท.เดือนละ 4.7 ล้านบาทก็ไม่เป็นความจริง เพราะตัวเลขผลตอบแทนผู้บริหาร ปตท.ทั้ง 10 คน ประกอบด้วยเงินเดือนและโบนัสในปี 2556 อยู่ที่ 99.79 ล้านบาท โดยปีที่แล้วมีกระแสข่าวว่าตนมีเงินเดือน 13 ล้านบาท หากนำมาหารด้วย 12 จะใกล้เคียงเงินเดือนตนในขณะนี้ ส่วนเรื่องที่ระบุว่า ปตท.มีการเปิดบัญชีธนาคารเคย์แมน ดินแดนฟอกเงินเพื่อผ่องถ่ายกำไร ปตท.นั้นก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน หากมีข้อมูลเช่นนี้น่าจะส่งเรื่องไปยัง สตง. และตนก็คงไม่สามารถบริหาร ปตท.ต่อไปได้ คงต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว
รวมทั้งประเด็นว่าประเทศไทยมีน้ำมันมากมายมหาศาลก็ไม่เป็นความจริง เพราะโครงสร้างทางธรณีของประเทศไทยต่างจากมาเลเซียและพม่า ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีไม่มากเหลือใช้เพียง 7 ปีหากไม่มีการเจาะสำรวจเพิ่มเติม หากประชาชนไม่เชื่อมั่นในข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ก็สามารถหาข้อมูลจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยได้
นายไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า หากถามว่าแนวทางการปฏิรูปพลังงานอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ส่วนตัวยังเชื่อมั่นเรื่องของกลไกตลาดเสรี คือปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด และอาจจะต้องมีการเข้าไปช่วยอุดหนุนราคาเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่นแอลพีจี ที่ยังคงต้องอุดหนุนกลุ่มผู้ใช้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ส่วนภาคขนส่งและอุตสาหกรรมควรจะปล่อยให้ราคาลอยตัว ส่วนเอ็นจีวีที่ยังถูกควบคุมราคาเอาไว้ต่ำกว่าต้นทุนจริงก็ควรจะต้องมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาดีเซล ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนจะมีการเรียกร้องให้มีการลดราคาพลังงานลงโดยอ้างอิงข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งกระทรวงพลังงานและ ปตท.ได้เตรียมข้อมูลด้านพลังงานเสนอต่อ คสช.ด้วย
ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังเห็นว่ามีประโยชน์เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาไม่ให้มีความผันผวน และป้องกันการขาดแคลน แม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ไปบ้าง เช่นนำไปอุดหนุนราคาแอลพีจี แต่หากยังไม่มีกลไกอื่นมาทำหน้าที่แทน ก็จำเป็นจะต้องคงมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้
นายวิรัตน์ เอื้อนนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ ปตท.จะมีกำไรใกล้เคียงปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 9.46 หมื่นล้านบาท โดยยังต้องแบกรับภาระการขาดทุนจาก NGV และ LPG ไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซฯ ในปีนี้ไม่ได้ปรับขึ้นมาก
ส่วนราคาหุ้นกลุ่ม ปตท.ปรับตัวลงจากกระแสข่าวต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์นั้น ปตท.จะเร่งทำความเข้าใจ และชี้แจงข้อมูลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย