“พล.อ.อนันตพร” เตรียมไฟเขียวให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศส่งออกน้ำมันดิบคุณภาพต่ำที่โรงกลั่นในไทยไม่สามารถกลั่นได้หรือกลั่นไม่คุ้มค่า หลังที่ผ่านมามีมติให้งดส่งออกทั้งหมด พร้อมส่งสัญญาณจ่อขึ้นราคา NGV รอบสุดท้ายต้นปีหน้า ส่วนภาษีสรรพสามิต NGV ปรับแน่รอคลังสรุป เผยภารกิจ 9 อย่างเร่งด่วนปี 2559 เร่งสรุปสัมปทานฯ รอบ 21 สัมปทานหมดอายุ รวมถึงพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โอกาสที่กระทรวงพลังงานครบรอบปีที่ 13 ของการสถาปนาและได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 ว่า กระทรวงฯ เตรียมทบทวนนโยบายเดิมที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ผู้รับสัมปทานขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อใช้ภายในราชอาณาจักรเลขที่ พน.3007/2608 ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2557 โดยจะมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาให้ทุกแหล่งสามารถส่งออกน้ำมันดิบในส่วนที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นภายในประเทศไปยังต่างประเทศได้
“ล่าสุดกรณีของแหล่งปิโตรเลียมวาสนาที่เพิ่งเริ่มผลิตน้ำมันดิบออกมาได้แล้วนั้น พบว่ามีโลหะหนักซึ่งไม่คุ้มค่าจะนำมากลั่นในโรงกลั่นของไทยเรื่องนี้เขาขอมาให้สามารถนำน้ำมันส่วนนี้ส่งออกไปได้ เบื้องต้นก็ทราบว่าเขากำลังพิจารณาอยู่ ผมเองก็ไม่ขัดข้องอะไร เพราะถ้าไม่ส่งออกจะสร้างโรงกลั่นมาเองคงไม่คุ้มนะ ขั้นต้นก็ให้แหล่งวาสนาก่อน แล้วถ้าภาพรวมมีปัญหาแบบนี้ก็คิดว่าหลักการก็คงจะทำแบบเดียวกันเป็นธรรมชาติไม่ได้ช่วยใครหรือไม่” รมว.พลังงานกล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังคงมีเป้าหมายที่จะปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเพื่อความเป็นธรรม โดยขณะนี้เหลือเพียงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ยังไม่สะท้อนกลไกตลาดจะต้องดูจังหวะในการปรับราคา ซึ่งแนวโน้มราคาตลาดโลกน่าจะลดลง การปรับราคา NGV ก็น่าจะทำได้และคงจะปรับขึ้นอีกไม่มาก ส่วนภาษีสรรพสามิต NGV หลักการจะต้องเสียเช่นเดียวกับเชื้อเพลิงอื่นโดยเป็นไปตามค่าความร้อนซึ่ง ขณะนี้คงจะต้องรอนโยบายโครงสร้างภาษีฯ จากกระทรวงการคลังเป็นหลัก
“ขณะนี้ NGV เพิ่มขึ้นไป 0.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) อยู่ที่ 13.50 บาทต่อ กก. ก็เพิ่งปรับไปไม่นาน การจะปรับขึ้น ลงเร็วก็จะไม่เป็นผลดีต้องดูจังหวะ ส่วนกรณีที่บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. จะขอให้ บมจ.ปตท. ลดราคาดีเซลอีก 1 บาทต่อลิตรนั้นก็ไม่ทราบนะเป็นเรื่องของการค้าเสรี ถ้าซื้อเยอะๆ ก็น่าจะลดได้นะ” รมว.พลังงานกล่าว
สำหรับผลงานรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (12 ก.ย. 57-12 ก.ย. 58) ได้เร่งแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายพลังงานที่เรื้อรังโดยเฉพาะปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ แก้ปัญหากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบเป็นบวก การส่งเสริมพลังงานทดแทนที่จัดทำแผนบูรณาการระยะยาว การกำกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมฯ โดยแผนงานในปี 2559 จะเร่งขับเคลื่อนนโยบาย 9 อย่างที่สำคัญ ได้แก่
1. แหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุ 2. การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 3. การเปิดให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 4. เร่งรัดการออกกฎกติกาเพื่อให้การรับซื้อพลังงานทดแทนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งล่าสุดได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ให้พิจารณาว่าพลังงานทดแทน ถ้าโรงงานใดไม่มีความตั้งใจจะก่อสร้างตามแผนก็จะให้ยึดใบอนุญาตหรือสั่งยกเลิกใบอนุญาตทันที
5. การขยายความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาแหล่งพลังงาน 6. การปรับโครงสร้างราคาพลังงานในภาพรวม 7. การผลักดันให้เกิดการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม 8. การขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านพลังงาน (ไฟฟ้า ทดแทน อนุรักษ์ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) และ 9. การชี้แจงทำความเข้าใจสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ และเทพา