xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโร่แจงประเด็นสำรวจปิโตรเลียมอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จัดประชุมเครือข่ายปิโตรเลียมในประเด็นสร้างความเข้าใจด้านการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ภาคอีสาน ที่โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโร่สร้างความเข้าใจสื่อมวลชนประเด็นสำรวจปิโตรเลียมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หวังขยายผลสื่อสารสร้างความเข้าใจถึงตัวชาวบ้านในพื้นที่ ยกกรณีให้สัมปทานเอกชนขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่ จ.บุรีรัมย์ ไม่ใช่ระเบิด เป็นเพียงการวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหิน ไม่ต้องทำอีไอเอเพราะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน

วันนี้ (8 ส.ค.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จัดประชุมเครือข่ายปิโตรเลียม เพื่อสร้างความเข้าใจด้านการสำรวจปิโตรเลียมในภาคอีสาน กับสื่อมวลชนใน จ.ขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง มีนางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นประธานชี้แจงทำความเข้าใจ ณ โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด อ.เมือง จ.ขอนแก่น

นางพวงทิพย์กล่าวว่า จำเป็นยิ่งที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องถึงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อความโปร่งใส รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านและภาคธุรกิจ โดยเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทยปี 2556 มีการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์เฉลี่ยวันละ 2 ล้านบาร์เรล สัดส่วนชนิดเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติร้อยละ 46 น้ำมันดิบร้อยละ 36 ถ่านหินร้อยละ 16 พลังงานน้ำและอื่นๆ ร้อยละ 2 ขณะที่การจัดหาพลังงานในประเทศ พึ่งพาตัวเองได้ประมาณร้อยละ 43 โดยจัดหาก๊าซธรรมชาติได้ 3,650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 91,600 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันดิบ 149,000 บาร์เรลต่อวัน

จากสถิติความต้องการใช้พลังงานพบว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกปีตามการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงเลี่ยงไม่ได้จะต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ดังนั้นเพื่อลดพึ่งพาพลังงานนำเข้าจำเป็นต้องสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับปัญหาความขัดแย้งในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในภาคอีสาน โดยเฉพาะในกรณี จ.บุรีรัมย์ ที่ได้รับสัมปทานการสำรวจถูกต้องตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ขั้นตอนขณะนี้คือ การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหิน หรือ Seismic Servey ซึ่งเป็นขั้นตอนในการทำแผนที่ใต้พิภพ เพื่อที่จะกำหนดตำแหน่งของหลุมขุดเจาะและการเจาะสำรวจ ไม่ใช่การระเบิดใต้ดิน

นางพวงทิพย์กล่าวว่า ประเด็นความไม่เข้าใจของภาคประชาชนใน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ว่าทำไมจึงไม่ศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอนั้น ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพราะไม่ได้กำหนดให้ต้องทำ แต่ให้ทำรายงานต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ถึงวิธีการดำเนินการสำรวจว่าจะทำอย่างไร ซึ่งไม่ใช่วิธีการสำรวจน้ำมันหรือก๊าซ แต่เป็นการเจาะเพื่อทำคลื่นและอยู่ในขั้นตอนธรณีฟิสิกส์เท่านั้น

ที่ผ่านมาได้ชี้แจงต่อประชาคมหมู่บ้านว่าเราจะมาทำอะไร ด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ส่วนการจ่ายชดเชยผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ที่สำรวจนั้น ส่วนมากชดเชยเกินมูลค่าที่คิดว่าจะได้ หรือบางพื้นที่ไม่น่าจะเพาะปลูกได้ ก็ยังชดเชยให้เสมือนเพาะปลูกจริง และสำรวจประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็แล้วเสร็จ สามารถกลับไปเพาะปลูกได้ตามเดิม รวมทั้งในพื้นที่เพาะปลูกก็ไม่ได้รับความกระทบกระเทือน หรือมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นแต่อย่างใด

นางพวงทิพย์กล่าวว่า กรณีที่ชาวบ้านมีการตั้งตัวแทนเพื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครองจะทำให้โครงการดังกล่าวต้องชะลอออกไปหรือไม่นั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตอนนี้เขาทำถูกต้องตามกฎหมาย จะไปสั่งระงับไม่ได้



 นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น