สมาคมต่อต้านโลกร้อน นำชาวบ้านบุรีรัมย์ใน 4 อำเภอยื่นฟ้องขอให้สั่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ เพิกถอนสัปทานขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัทเหยียนฉ่าง ปิโตรเลียม ประเทศจีน ชี้กระทบคุณภาพชีวิตคนพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ เชื่ออีไอเอไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ทำให้ขุดเจาะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ด้านศาลปกครองยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน แต่ยังรับคำฟ้องพิจารณา
วันนี้ (17 ก.ค.) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯ พร้อมชาวบ้านในเขตพื้นที่ 4 อำเภอใน จ.บุรีรัมย์ ได้แก่ อ.คูเมือง อ.บ้านด่าน อ.สตึก และ อ.แคนดง รวม 98 คน ได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมเชื้อพลิงธรรมชาติ รมว.พลังงาน และคณะกรรมการปิโตรเลียม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 6/2553/108 ลงวันที่ 25 ก.พ. 2553 สั่งเพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกต้อง และให้ไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีสั่งให้ผู้รับสัมปทานทำหนังสือสัญญากับชาวบ้านเป็นรายครอบครัวหรือรายแปลงที่ดิน เพื่อรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนเสียหายจากการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม รวมถึงให้ชดเชยค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้าน และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางวิชการในทุกแขนงเพื่อศึกษาและประเมินผลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับชุมชน ครัวเรือน เพื่อกำหนดมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดภายใน 3 เดือนก่อนที่จะดำเนินการอนุมัติ หรืออนุญาตให้สัมปทานเกี่ยวกับการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งนี้ยังได้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว สั่งให้ผู้รับสัมปทานและบริษัทผู้รับจ้างระงับการจุดระเบิดหรือการทดสอบการระเบิด หลุมขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในระบบคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติในพื้นที่ทั้งหมดไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
สำหรับเหตุที่สมาคมฯ ยื่นฟ้อง เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีได้ให้สัมปทานการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 6/2553/108 ลงวันที่ 25 ก.พ. 2553 แก่บริษัท ซ่านซี เหยียน ฉาง ปิโตรเลียม กรุ๊ป จำกัด กลุ่มบริษัท เหยียนฉ่าง ปิโตรเลียม ประเทศจีน โดยบริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้บริษัท บีจีพี อินท์ไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้างทำการสำรวจแปลงสัมปทาน ซึ่งก็ได้เข้าทำการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองอยู่ และพื้นที่ของชุมชนที่ถือเป็นสมบัติของแผ่นดินและสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยมีการใช้วัตถุระเบิดเพื่อระเบิดหลุมหลายพันหลุม เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รับการยินยอม หรือมีข้อตกลงใดๆ กับชาวบ้านในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายแพ่งพานิชย์ กฎหมายอาญา พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชนและชุมชน อาทิ ในเรื่องของโครงสร้างชั้นดิน ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินทรายอาจเกิดการยุบตัว กระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลใต้ดิน โดยดินระเบิดที่ใช้มีองค์ประกอบของแอมโมเนียไนเตรท ไนโทรกรีเซอรีน ไนโตรเซลลูโลส ดินดำ จนอาจทำให้สารดังกล่าวตกค้างในดินส่งผลให้การปลูกพืชของชาวบ้านไม่เจริญงอกงาม อาจทำให้เกิดสารปนเปื้อนในน้ำบาดาลที่เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชาวบ้าน ประเด็นเหล่านี้บริษัทผู้รับสัมปทานไม่เคยชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน รวมถึงไม่เคยทำประชาพิจารณ์ข้อดีและข้อเสียโครงการ จึงทำให้เชื่อว่ารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้จัดทำขึ้นไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านมาตลอด ทั้งการแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด แต่บริษัทฯ ก็ยังคงดำเนินการขุดเจาะอยู่ จึงต้องยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครอง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดศาลปกครองกลางได้ยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน แต่ก็ได้รับคำฟ้องไว้ดำเนินการต่อไป