ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากเคยยืนยันหัวเด็ดตีนขาดค่าโง่คลองด่านจะยังไงก็ต้องจ่าย มาบัดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พลิกท่าที เปิดไฟเขียวให้รื้อคดีนี้ใหม่
โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 มีมติ 1. รับทราบคำสั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่อายัดทรัพย์สินและสิทธิของกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่จะเรียกเงินชดเชยค่าผิดสัญญาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน งวดที่ 2 และงวดที่ 3 เอาไว้ก่อน หลังจาก ปปง. ตรวจพบคำพิพากษาของศาลอาญา ในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ให้จำคุกนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้ทำสัญญาว่าจ้างให้กิจการร่วมค้าฯ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง กับพวก เป็นเวลา 20 ปี ฐานปฏิบัติต่อหน้าที่โดยมิชอบ โดยส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG มีส่วนร่วมกระทำความผิดในคดีดังกล่าว
2. ครม.เห็นชอบให้กรมควบคุมมลพิษ ชะลอการจ่ายเงินงวดที่สองและสาม รวมกว่า 6,000 ล้านบาท จากที่ ครม. มีมติให้จ่ายเงินไปทั้งหมด 3 งวด รวมกว่า 9,600 ล้านบาท เอาไว้ก่อน และรอให้กลุ่มเอกชนมาชี้แจงข้อเท็จจริงกับ ปปง. ภายใน 30 วันก่อน ถ้าผลการชี้แจงรับฟังได้ ทางกรมควบคุมมลพิษ ก็จ่ายค่างวดที่สองและสามได้ แต่ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็ให้อายัดสิทธิในการจ่ายเงินค่าโง่ต่อไป
และ 3. เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไปร้องต่อศาลปกครอง ให้พิจารณาคดีใหม่ โดยให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. เป็นผู้ประสานคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง เปิดช่องไว้ว่า เมื่อคดีถึงที่สุด หากคู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ได้รับผลกระทบ มีเหตุหลักฐานพยานข้อเท็จจริงใหม่ สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้พิจารณาคดีใหม่ได้
หลังจาก ครม.มีมติ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการประสานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เกี่ยวกับหลักฐานที่พบใหม่ในคดีคลองด่าน เพื่อให้อัยการร่างหนังสือให้กับกระทรวงการคลัง นำไปยื่นที่ศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลพิจารณาทบทวนคดีดังกล่าวใหม่อีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการลงนามในคำสั่งให้ยุติโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ได้ ยื่นคำร้องให้ศาลปกครองพิจารณาใหม่แล้ว
นั่นเป็นความชัดเจนในคดีค่าโง่คลองด่าน ที่ใช้เวลานานนับทศวรรษกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีจะมีความเป็นเอกภาพในการสู้คดีกับเอกชนที่เรียกค่าเสียหายกลายเป็น “ค่าโง่” ที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชนไปแล้วงวดหนึ่ง
ขณะที่อีกคดีคือ การเอาท่อก๊าซฯ ที่เป็นสาธารณสมบัติจากปตท.คืนมา จนบัดนี้ยังหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้ระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน และคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังไม่กล้าหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาตัดสินชี้ขาดเสียทีว่าจะเอาอย่างไร
เวลานี้ มีสองหน่วยงานสำคัญที่ชี้ชัดว่า ปตท.ยังคืนท่อก๊าซฯ ในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติคืนมาไม่ครบตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด นั่นคือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ก็ให้ความเห็นชอบตามผลการตรวจสอบของ สตง. ที่ว่า ปตท.ยังคืนท่อก๊าซฯ ไม่ครบถ้วน มีมูลค่าร่วม มูลค่า 32,613.45 ล้านบาท และอีกหน่วยงานหนึ่งคือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุทรัพย์สินเฉพาะท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเล ที่ต้องคืนให้กระทรวงการคลัง มีมูลค่ารวมกว่า 68,000 ล้านบาท ส่วนที่ปตท.คืนแล้ว 16,000 ล้านบาท ยังขาดอีกเป็นจำนวนกว่า 52,000 ล้านบาท
นี่ยังไม่นับหุ้นในบริษัททรานส์ไทยมาเลเซีย( TTM) ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย ที่เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐต่อรัฐ เป็นทรัพย์สินที่ต้องคืนด้วย ซึ่งไม่ได้อยู่ในการรายงานตรวจสอบทรัพย์สินที่ต้องคืนทั้งจากสตง.และผู้ตรวจการแผ่นดิน
มติของ คตง. ยังให้เอาผิด อดีต รมว.คลัง (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. (นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์) และพวก ที่ฝ่าฝืนมติ ครม.และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยให้ สตง. ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น และให้ สตง. แจ้ง ครม. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ว่าการบังคับคดีที่ผ่านมา ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามคำบังคับของคำพิพากษา และขอให้นายกรัฐมนตรี, รมว.คลัง, รมว.พลังงาน, ปตท. กับผู้เกี่ยวข้องส่งมอบท่อก๊าซฯ ที่ขาดไปให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน
แต่อย่างไรก็ตาม ท่าทีของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เห็นพ้องตาม ปตท. ว่าการคืนทรัพย์สินและสิทธิของรัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น ดำเนินการครบถ้วนแล้ว และยังลังเลอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไรหลังจากที่ คตง.มีมติออกมาเช่นนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ยืนกรานตาม ปตท. มาโดยตลอด เช่นเดียวกันกับกระทรวงพลังงาน ที่เห็นว่าปตท.ปฏิบัติตามคำสั่งศาลได้ครบถ้วนได้ ท่าทีเช่นนี้ มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเป็นเพราะข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน เข้าไปนั่งเป็นบอร์ด ปตท. และบริษัทในเครือ ทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
ความไม่เป็นเอกภาพในคดีนี้ ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะถึงขั้นให้ คตง.ดำเนินการตามมาตรา 17, 63 และ 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ. ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติ คตง.หรือไม่
แต่ที่แน่ๆ หลัง คตง.ออกโรงกดดัน สหภาพฯ ปตท. ก็เคลื่อนไหวปกป้องหม้อข้าว เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ ผ่าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ปตท.ทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ครบถ้วนกระบวนความแล้ว ควรยุติเรื่องนี้กันเสียที
ขณะที่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กรุงเทพฯ ที่ติดตามตรวจสอบกิจการด้านพลังงานและเป็นผู้ฟ้องคดีปตท. กล่าวย้ำหลายครั้งถึงการออกมาทวงถามการคืนสาธารณสมบัติของแผ่นดินจาก ปตท. ให้ครบถ้วนตามคำสั่งศาลฯ ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นประโยชน์สาธารณะ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย หยุมหยิม แต่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งหมด
นางสาวรสนา เขียนเฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 หัวข้อ "อย่าทำผิดให้เป็นถูก และอย่าโมเมเรื่องหลักการให้กลายเป็นเรื่องหยุมหยิม" ตอนหนึ่งว่า “..... คนที่ออกมาตะโกนถามว่าจะอยากได้ท่อเพิ่มไปทำไม ค่าเช่าก็ไม่กี่สตางค์แถมได้ไม่คุ้มเสียนั้น ใครที่ได้ไม่คุ้มเสีย? ไม่ใช่ประเทศและประชาชนแน่ ลองดูตัวเลขเปรียบเทียบระหว่างค่าเช่าท่อที่รัฐได้คืนมาบางส่วน ประมาณ 30% หลังจากคำพิพากษา หน่วยราชการเรียกเพียงค่าเช่าย้อนหลัง 6 ปีตั้งแต่ปี 2544-2550 ด้วยเงินเพียง 1,597ล้านบาท แต่ในระยะ 6 ปี ที่บมจ.ปตท.ได้ท่อไปใช้ ได้เก็บค่าผ่านท่อจากประชาชนทั้งประเทศเป็นเงิน 128,086 ล้านบาท ส่วนนักการเมืองและข้าราชการที่มีส่วนร่วมแปรรูปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่มีการฟ้องร้องเอาโทษ
“ถ้าNGOไม่ฟ้องคดี ลองคิดดูว่าสาธารณสมบัติทั้งหมดและอำนาจรัฐจะมีโอกาสถูกตัดสินให้แบ่งแยกคืนรัฐหรือไม่? ถ้าการแปรรูปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายจริงๆ ศาลก็ต้องสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลปกครองไม่สั่งเพิกถอนการแปรรูปปตท.ทั้งที่แปรรูปอย่างผิดกฎหมายต่างหาก ที่เป็นการใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่าหลักนิติศาสตร์มาตัดสิน
“เมื่อได้ท่อส่วนบางส่วนคืนมา กรมธนารักษ์ก็ทำสัญญาให้เช่าถูกๆ โดยอ้างว่าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานหากให้เช่าแพง ประชาชนต้องแบกค่าใช้จ่ายแพง ก็เลยอนุมัติให้เช่าปีละ 550 ล้านบาท แต่ค่าผ่านท่อที่เก็บจากประชาชน ไม่ได้เก็บแบบสาธารณูปโภคพื้นฐานแต่อย่างใด เพราะเก็บสูงถึงปีละ2.2 หมื่นล้านบาท หลังจากต้องจ่ายค่าเช่าท่อให้รัฐ บมจ.ปตท. ก็ได้ขออนุมัติในการตีมูลค่าท่อเสียใหม่ จากตอนแปรรูป มีการประเมินว่าท่อก๊าซมีอายุใช้งานแค่ 25 ปี ในปี 2551 จ้างบริษัทมาประเมินมูลค่าท่อใหม่ จากอายุใช้งาน 25 ปี กลายเป็นว่าท่อก๊าซชุดเดิมนี้ มีอายุใช้งานได้ 40 ปี ทำให้มูลค่าท่อเพิ่มขึ้นจาก4.6 หมื่นล้านตอนแปรรูป เป็น 1.2 แสนล้านบาท
“บมจ.ปตท.ได้รับอนุมัติให้ขึ้นค่าผ่านท่อจากการประเมินมูลค่าท่อใหม่อีกปีละ 2 พันล้านบาทเนาะๆ ค่าเช่า 6 ปีที่จ่ายให้รัฐ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ได้เก็บค่าเช่าเพิ่มอีกปีละ 2 พันล้านบาท ค่าผ่านท่อที่เคยเก็บปีละ 2 หมื่นล้าน กลายเป็นปีละ 2.2 - 2.9 หมื่นล้านบาท ตลอด 12 ปี (2544-2556) บมจ.ปตท.ได้ค่าผ่านท่อไปรวม 295,074 ล้านบาท แต่จ่ายค่าเช่าให้รัฐเพียง 4,897 ล้านบาท มูลค่าที่ประชาชนต้องจ่ายขนาดนี้เรียกว่าเรื่องหยุมหยิมหรือ?
นี่ไม่ใช่การต่อสู้เอาชนะคะคานกันด้วยทิฏฐิแต่ประการใด แต่เป็นการต่อสู้ตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลสากล .....”
ถึงบรรทัดนี้ ต้องบอกว่า คดีคลองด่าน เริ่มเลิกโง่กันแล้ว ส่วน คดี ปตท. เมื่อไหร่ผลประโยชน์จะเลิกบังตา ก้าวออกมาจากอาการแกล้งโง่ และหันมาดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนกันเสียที “บิ๊กตู่” พอให้คำตอบแก่ประชาชนตาดำๆ ได้ไหม??