xs
xsm
sm
md
lg

พลิกแฟ้ม “มหากาพย์คลองด่าน” ใครกัน “ผู้ร้าย” ตัวจริง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

กลับมาอยู่ในสปอตไลท์ กลายเป็นที่สนใจอีกครั้ง สำหรับ โครงการออกแบบร่วมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โครงการคลองด่าน” ที่ถูกยกให้เป็นกรณีศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับ “มหากาพย์”

นับตั้งแต่เริ่มโครงการมาจนถึงวันนี้เกินกว่า 20 ปี มีการต่อสู้ คัดค้าน ฟ้องร้อง เป็นคดีความ มีผลกระทบต่อหลายฝ่าย รวมทั้งมีบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะ “นักการเมือง” ที่เข้าไปพัวพันและถูกตรวจสอบหลายราย บางรายถูกชี้มูลความผิด และถูกตัดสินให้รับโทษฐานทุจริตคอร์รัปชั่น จนทำให้ภาพลักษณ์โครงการดำดิ่งและถูกขนานนามเหมารวมไปว่าเป็น “มหกรรมโคตรโกงคลองด่าน”

ในขณะที่ “โครงการคลองด่าน” ที่มีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านบาทจะยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เนื่องจากเกิดเรื่องราวปมปัญหาต่างๆที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายจนถึงปัจจุบัน ไล่ตั้งแต่ “ตัวละครคนสำคัญ” อย่าง นายวัฒนา อัศวเหม ในฐานะ รมช.มหาดไทย ที่หลบหนีโทษจำคุก 10 ปี ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดินในที่สงวนหวงห้าม นำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้าง “โครงการคลองด่าน”

ทั้งยังมีกรณีที่ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ่ายค่าเสียหายให้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ผู้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นเงินมากกว่าหมื่นล้านบาท ตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ย.2557 ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเป็นจำนวน 3 งวด และได้จ่ายงวดแรกไปแล้ว ก่อนที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) จะอายัดการจ่ายเงินและสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยค่าผิดสัญญาที่รัฐบาลยังค้างจ่ายให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG อีก 2 งวด เป็นเงินกว่า 6 พันล้านบาท

สำหรับ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ประกอบด้วย บริษัท วิจิตรภัณฑ์ ก่อสร้าง จำกัด บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด บริษัท เกตเวย์ ดิเวล ลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด

ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หยิบยกผลคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาลงโทษ “วัฒนา” และคำพิพากษาศาลอาญาที่ตัดสินว่าจำเลย 3 ราย ประกอบด้วย นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ นางยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 กรมควบคุมมลพิษ มีความผิดฐานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้รัฐจัดซื้อที่ดินที่ออกโดยมิชอบ มีโทษจำคุกคนละ 20ปี สะท้อนว่าโครงการมีความไม่โปร่งใสมาตั้งแต่ต้น โดยที่ “ผู้รับเหมา” คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เกี่ยวพันในหลายขั้นตอน

เป็นเหตุให้ สตง.ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.อายัดการจ่ายเงินและสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยของผู้รับเหมา

ขณะเดียวกับ กรมควบคุมมลพิษ ก็ได้ออกหนังสือทวงค่าสินไหมทดแทนจาก นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และ นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญและลงนามยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาเมื่อเดือน ก.พ.2546 เป็นจำนวนเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับที่ ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินให้ กรมควบคุมมลพิษ ชำระให้แก่เอกชน

ทั้งหลายทั้งปวงสะท้อนให้เห็นว่า “โครงการคลองด่าน” ก็ยังเป็น “มหากาพย์” ที่ยังไม่รู้จะจบลงอย่างไร

จุดกำเนิด “มหากาพย์คลองด่าน”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ต.ค.2538 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล นายชวน หลีกภัย ได้เห็นชอบอนุมัติ “โครงการคลองด่าน” ตามที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มี นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการเป็นผู้เสนอ วงเงินงบประมาณ 1.36 หมื่นล้านบาท มาจากงบประมาณแผ่นดิน 7.3 พันล้านบาท กองทุนสิ่งแวดล้อม 2.5 พันล้านบาท และเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) อีก 3.7 พันล้านบาท โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าของโครงการ ทั้งนี้เป็นการการเสนอโครงการหลังจากที่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.วิทยาศาสตร์ฯคนก่อนได้เสนอไว้ แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียก่อน

ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการระบุว่า เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษของ จ.สมุทรปราการ โดยเฉพาะในด้านน้ำเสีย ตลอดจนฟื้นฟูคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว หลังจากประกาศให้ จ.สมุทรปราการเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยจะมีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย รวม 525,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

เบื้องต้นได้กำหนดลักษณะโครงการเป็นการการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย 2 ระบบใหญ่ ในฝั่งตะวันตก ที่จะรับน้ำเสียจากพื้นที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.พระประแดง ไปบำบัดที่ ต.บางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ และฝั่งตะวันออก ที่จะรับน้ำเสียจาก อ.เมือง อ.พระประแดง อ.บางปู รวมทั้งตอนเหนือของ อ.บางพลี มาบำบัดที่บริเวณบางปูใหม่ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาของ กรมควบคุมมลพิษ พบว่าการก่อสร้างในรูปแบบแยกเป็น 2 ฝั่งนั้นทำให้ให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินโครงการหลายประการ ทั้งในแง่งบประมาณ และไม่สามารถจัดหาที่ดินที่เหมาะสมในฝั่งตะวันตกได้ จึงปรับรูปแบบมาเป็นการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียในฝั่งตะวันออกเพียงแห่งเดียว และเชื่อมท่อลำเลียงน้ำเสียจากฝั่งตะวันตกมาบำบัดแทน

นอกจากนี้ยังพบอุปสรรคในการก่อสร้างตามแผนเดิม ซึ่งส่งผลในแง่มลพิษ และปัญหาการจราจร กรมควบคุมมลพิษ จึงได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างใหม่ ทำให้ต้องปรับเพิ่มงบประมาณเป็น 2.3 หมื่นล้านบาท

สรุปแล้ว กรมควบคุมมลพิษ ได้กำหนด “โครงการคลองด่าน” เป็นโครงการแบบ Turnkey คือผู้รับเหมาทำหน้าที่ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้างท่อที่รวบรวมและส่งน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนการจัดการอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมถึงการจัดหาที่ดิน โดยให้มีผู้รับเหมางานทั้งโครงการเพียงรายเดียว

หลังจากประกาศหาผู้รับเหมาเข้าประมูลโครงการ มีผู้สนใจทั้งสิ้น 13 ราย ก่อนที่กรมควบคุมมลพิษจะคัดเลือกคุณสมบัติเหลือ 4 ราย และเมื่อถึงเวลายื่น “ซองเทคนิค” เหลือผู้เข้าประมูลเพียง 2 รายคือ กิจการร่วมค้า NVPSKG และกลุ่มบริษัทมารูเบนี (Marubeni) แต่เมื่อถึงขั้นตอนยื่น “ซองราคา” กลุ่มบริษัทมารูเบนีกลับไม่ได้ยื่นตามกำหนด เนื่องจากมีปัญหาภายใน รวมทั้งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จึงทำให้ กิจการร่วมค้า NVPSKG ที่ยื่นซองราคาเพียงรายเดียวเป็นผู้ชนะประมูล ในราคา 2.29 หมื่นล้านบาท ก่อนที่ ครม.จะมีมติรับทราบให้ดำเนินโครงการ และมีการลงนามในสัญญาโครงการ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2540

 “ที่ดินพิพาท” ต้นตอปัญหา

ในกระบวนการจัดหาที่ดินนั้น กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการ “คัดสรร” ในเบื้องต้นเพื่อให้เหมาะสมกับโครงการตามข้อแนะนำของบริษัทที่ปรึกษามากที่สุด และด้วยจำนวนที่ดินที่ต้องใช้มากถึง 1.9 พันไร่ จึงมีที่ดินที่ผ่านการคัดสรรเพียง 2 แปลงที่ ต.คลองด่าน

โดยแปลงที่ถูกเลือกนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ฟิชเชอรี จำกัด ตั้งราคาไว้ที่ไร่ละ 1.6 ล้านบาท ก่อนที่จะต่อรองได้ที่ไร่ละ 1.03 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1.9 พันไร่ รวมมูลค่า 1.95 พันล้านบาท ก็ได้ดำเนินโครงการเรื่อยมา โดยที่ผู้รับเหมาเชื่อว่าไม่มีปัญหาเนื่องจากผ่านการรับรองเบื้องต้นจากทางกรมควบคุมมลพิษมาแล้ว

ก่อนที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในเหตุของการอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ และทำให้ นายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเคยถือครองบางส่วน ในนามบริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด ถูกกล่าวหาว่าบังคับขู่เข็ญซื้อที่ดินจากประชาชนในราคาถูก ก่อนที่ในปี 2531ขาย จำนวน 9 ร้อยไร่เศษให้ บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ต้องการที่ดินรวมทั้งสิ้ราว 3 พันไร่ เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยชำระค่าที่ดินเป็นหุ้นในบริษัทแทน จึงนำบริษัทในเครือข่ายตัวเองเข้าไปถือหุ้น แต่เมื่อโครงการไม่สำเร็จ ทั้งที่ได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการไปแล้ว บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จึงได้ขายอีกทอดหนึ่งให้ บริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ฟิชเชอรี จำกัด โดยเป็นการดำเนินการในช่วงปี 2531 - 35 ก่อนที่จะมีการริเริ่มโครงการคลองด่านหลายปี อีกทั้งกรมควบคุมมลพิษก็ตั้งขึ้นในปี 2535 แต่ยังไม่ได้ดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสีย ที่ยังอยู่ในอำนาจของกรมโยธาธิการ และกรมโรงงาน

หลังจากที่ บริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ฟิชเชอรี จำกัด ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 ได้ซื้อที่ดินต่อมา เบื้องต้นจะดำเนินกิจการบ่อกุ้ง แต่เมื่อปี 2538 กรมควบคุมมลพิษประกาศคัดสรรที่ดินในบริเวณนั้นเสียก่อน จึงเสนอที่ดินเข้ารับการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ที่ดินบางส่วนที่มีข้อพิพาทว่าเป็นที่สาธารณะ เช่น คลอง และพื้นที่ทิ้งขยะตามประกาศของผู้ว่าราชการ จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่ปี 2472 อย่างไรก็ตามในการสืบพยานในชั้นศาล ซึ่งนายวัฒนาก็ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจเมื่อครั้งเป็น รมช.มหาดไทย ขอออกโฉนดบนที่สาธารณะ โดยที่ไม่ได้ขอให้เพิกถอนสภาพตามกฎหมายก่อน รวมทั้งมีส่วนบังคับให้เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินโดยให้สิ่งตอบแทน จึงเป็นเหตุให้นายวัฒนาถูกพิพากษามีความผิด

เมื่อเทียบห้วงเวลาแล้วเรื่องข้อพิพาทในที่ดินนั้นมีส่วนเกี่ยวพันโดยตรงและโดยอ้อมกับ นายวัฒนา อัศวเหม เท่านั้น โดยที่ในชั้นศาลก็ไม่ได้เชื่อมโยงมาถึง กิจการร่วมค้า NVPSKG แต่อย่างใด แม้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นผู้ฟ้องต่อศาล บรรยายคำฟ้องว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปั่นราคาที่ดิน แต่ศาลก็ไม่ได้ติดใจในส่วนนี้

 อ้างสัญญาโมฆะหวังผลการเมือง

ตามที่ระบุไปแล้วว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG ประกอบด้วย บริษัท นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจของอังกฤษ, บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท ประยูรวิศการช่าง จำกัด และบริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด

จนเมื่อเดือน ก.พ.2546 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ระบุว่า บริษัท นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ถอนตัวออกไปจากกิจการร่วมค้าแล้ว และนำมาเป็นเหตุในการอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ เนื่องจากกลุ่มบริษัทไม่ครบตามที่ได้ทำสัญญาไว้กับ กรมควบคุมมลพิษ

อย่างไรก็ดี กิจการร่วมค้า NVPSKG ได้นำเอกสารหลักฐานไปยืนยันว่า บริษัท นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ยังอยู่ในกลุ่มพันธมิตรไม่ได้ถอนตัวอย่างที่ถูกกล่าวอ้าง เพียงแต่มีปัญหาในเรื่องของการเสนอตัวแทนเข้ามาเป็นผู้ประสานงานโครงการ เนื่องจากพบว่าเป็นคนเดียวกับที่เคยร่วมทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาของ กรมควบคุมมลพิษ เท่านั้น

เมื่อการอ้างเหตุ บริษัท นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถอนตัวไม่ได้ผล นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ซึ่งขณะเป็นอัยการ และร่วมอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงยุติธรรมที่นายกรัฐมนตรี (นายทักษิณ ชินวัตร) แต่งตั้ง ยังได้พยายามไกล่เกลี่ยให้ กิจการร่วมค้า NVPSKG ยอมรับการยกเลิกสัญญากับทาง กรมควบคุมมลพิษ แต่ทางผู้รับเหมาไม่ยินยอม เนื่องจากมองว่าโครงการดำเนินการไปแล้วกว่า 98% เหลือเพียงงานวางระบบ 2% เท่านั้น จึงต้องการดำเนินการให้แล้วเสร็จ และนำเรื่องร้องเรียนต่ออนุญาโตตุลาการเข้ามาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้จ่ายเงินที่เหลืออยู่ ในชั้นนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้นำเรื่องข้อพิพาทเรื่องที่ดินโครงการมาเป็นเหตุในการยกเลิกสัญญาแทน ซึ่งมีชื่อนายวัฒนา อัศวเหม เข้าไปเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ จากหนังสือที่ กิจการร่วมค้า NVPSKG เทำถึง ป.ป.ง.เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งอายัดทรัพย์สิน และสิทธิเรียกรับค่าเสียหายในโครงการคลองด่าน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา ระบุตอนหนึ่งว่า นายประพัฒน์ได้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อฉบับหนึ่งว่า เหตุที่รัฐบาลในขณะนั้นต้องการยกเลิกสัญญาโครงการคลองด่าน ก็เพื่อกดดันนายวัฒนา อัศวเหม และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองอยู่ให้มาร่วมกับพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น

ซึ่งตรงกับที่นายวัฒนาได้เคยให้สัมภาษณ์ในขณะถึงศาลเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2551 ว่า ถูกอดีตรัฐบาลกลั่นแกล้งเพื่อบีบบังคับให้เข้าสังกัดพรรคการเมือง เช่นเดียวกับ นายประชา โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกเล่นงานคดีฮั้วประมูล และนายสมชาย คุณปลื้ม อดีตนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จำเลยคดีทุจริตซื้อที่ดิน ต.เขาไม้แก้ว จ.ชลบุรี

เมื่อตรวจสอบเหตุการณ์ในขณะนั้นพบว่า ในวันที่ 26 ก.พ.2546 นายประพัฒน์ ได้แต่งตั้ง นายอภิชัย ชวเจริญพันธุ์ จากรองเลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ก่อนที่ในวันที่ 28 ก.พ.2546 นายอภิชัยจะลงนามในคำสั่งเลิกสัญญากับ กิจการร่วมค้า NVPSKG และให้หยุดการก่อสร้าง และการเบิกจ่ายในโครงการโดยสิ้นเชิง โดยอ้างผลการสอบสวนของคณะทำงานตรวจสอบการบริหารสัญญาโครงการ ที่ได้สรุปผลการตรวจสอบว่าผู้รับเหมาได้ทำผิดสัญญามาตั้งแต่ปี 2540 เนื่องจาก บริษัท นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบำบัดน้ำเสียตามเงื่อนไขสัญญาได้ถอนตัวจากกิจการร่วมค้า รวมทั้งข้อพิพาทที่เกี่ยวกับที่ดิน

ผู้รับเหมาจึงนำเรื่องร้องเรียนต่ออนุญาโตตุลาการ จนเมื่อปี 2554 ได้ตัดสินให้ กรมควบคุมมลพิษ จ่ายเงินที่ค้างอยู่กับกิจการร่วมค้า NVPSKG พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี และค่าเสียหายอื่นๆ รวมเป็นเงินมากว่า 1 หมื่นล้านบาท และเมื่อ กรมควบคุมมลพิษ นำคดีไปฟ้องต่อ ศาลปกครอง เพื่อขอให้ชี้ขาดว่าคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ก็ปรากฏว่า ทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ต่างมีคำพิพากษาให้ กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการตามคำสั่งอนุญาโตตุลาการ 
 
“ค่าโง่” หรือ “ค่าจ้างที่ยังไม่ได้จ่าย”

เมื่อ ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินชี้ขาดให้ กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG สังคมก็ต่างพูดเป็นคำเดียวกันว่า “ค่าโง่คลองด่าน” ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริง เพราะเป็น “ค่าโง่” ที่รัฐต้องสูญเสียทั้งที่จ่ายไปแล้วและยังค้างจ่ายรวมแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังสูญเสียโอกาสในการใช้ “โครงการคลองด่าน” อีกด้วย

ทั้งงบประมาณ เวลา และโอกาสที่สูญเสียไป โดยไม่ได้สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กลับมา คงไม่ผิดนักที่จะเรียกว่าเป็น “ค่าโง่”

ในแง่หนึ่งก็บทเรียนที่แสนแพงของภาครัฐ ในทางกลับกันก็ยังเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของภาคเอกชนเช่นกัน ที่ต้องเข้าไปอยู่ในวังวน “เกมการเมือง” จนกลายเป็นเหยื่อที่ต้องสูญเสียไม่ต่างจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการที่ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ แต่ถูกยกเลิกและไม่ให้เบิกจ่าย “ค่าจ้าง” ที่ควรจะได้รับ ทั้งที่ได้ลงทุน-ลงแรงไปแล้ว

นายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และในฐานะโฆษกศาลปกครอง กล่าวถึงกรณีโครงการคลองด่านว่า คดีที่ฟ้องกันในศาลปกครอง ตั้งประเด็นฟ้องว่า สัญญาเป็นโมฆะ จากหารที่บริษัทที่ร่วมทุนในสัญญาก่อสร้าง คือ บริษัท นอร์ธ เวสต์ วอเตอร์ฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดน้ำเสีย ถอนตัว แต่ได้มีการขอเปลี่ยนตัวผู้ร่วมทุน เป็นบริษัทในไทยแทน แล้วกรมควบคุมมลพิษโดยอธิบดีขณะนั้นยินยอม ส่วนเรื่องที่ดินที่นายวัฒนา อัศวเหม กว้านซื้อมาแล้วนำมาขายให้บริษัทเสนอกรมควบคุมมลพิษใช้ก่อสร้างโครงการ ก็ไม่สามารถยืนยันได้ชัดว่าบริษัทรับยเหมารู้หรือไม่ว่าที่ดินได้มาโดยมิชอบ โดยที่กรมควบคุมมลพิษก็ได้ไปตรวจดูที่ดินก่อนและเห็นว่าเหมาะสมจะทำโครงการ จึงไม่อาจฟังได้ว่าสำคัญผิด ซึ่งอนุญาโตฯ เห็นว่าเมื่อเอกชนดำเนินถูกต้องแล้วจึงให้รัฐต้องชดใช้จ่ายตามสัญญา

จริงอยู่ที่ผู้เกี่ยวข้องในโครงการคลองด่านถึงเหมารวมว่ามีส่วนรู้เห็นกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่หากมองด้วยใจที่เป็นธรรมและพิจารณาจากผลคำพิพากษาขององค์กรตุลาการต่างๆก็จะพบว่า ใครเป็น “ผู้ร้าย” ที่แท้จริง และใครที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้

การที่ กรมควบคุมมลพิษ ออกคำสั่ง ให้ “ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ” ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายให้กับเอกชนผู้รับเหมาตามคำพิพากษาของศาลปกครองนั้น

ก็สะท้อนได้ดีว่า “ผู้ร้าย” ในมหากาพย์นี้คือใคร??

แล้วต้องไปไล่เบี้ย “ค่าโง่” ที่ใคร??
กำลังโหลดความคิดเห็น