xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส GT 200 เอกชนหลอกลวง แต่คนที่ถูกหลอกลวง “ผิด” ด้วยหรือเปล่า?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังคำตัดสินคดีต้มตุ๋นบันลือโลกของศาลอังกฤษ สั่งจำคุกและยึดทรัพย์ผู้ผลิต GT200 เครื่องตรวจจับระเบิดปลอม จำนวน 395 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปชดเชยแก่เหยื่อนานาประเทศที่ถูกตุ๋นจนเปื่อย ส่วนประเทศไทยแม้มูลค่าความเสียหายมากกว่า 700 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้เงินชดเชยสักแดงเดียวเพราะไม่เคยยื่นเรื่องว่าเป็นประเทศที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งตอนนี้ทีท่ารัฐบาล คสช. กำลังดูๆ กันอยู่ว่าจะเรียกค่าเสียหายกับเขาด้วย

ด้าน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังขยายผลไปยังบริษัทเอกชนตัวแทนจำหน่ายในประเทศ เพื่อแสดงความรับผิดชอบและทวงคืนเงินที่ฉ้อโกงหน่วยงานของรัฐไป ซึ่งตามรายงานผลการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ วัตถุระเบิด หรือ GT 200 (Detection Substances) ของ สตง. ปรากฏชื่อบริษัทผู้จำหน่ายGT200 ได้แก่ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด และ บริษัท Global Technical Limitedจำกัด ทั้งยังมีข้อมูลเปิดเผยว่าเป็นบริษัทที่เกี่ยวพันกับอดีตนายทหารระดับสูง

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ฉบับนี้ พูดคุยกับ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ติดตามตรวจสอบไปพร้อมกันว่าเงินภาษีของแผ่นดินนับร้อยล้าน ใครบ้างต้องรับผิดชอบ!?

ภารกิจทวงคืนเงินแผ่นดิน สตง.ดำเนินคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกรณี GT200 มีความคืบหน้าอย่างไร

ความเดิมเรื่องนี้ สตง. ได้มีการตรวจสอบและออกรายงานไปประมาณปี 2555 ผลการตรวจสอบในขณะนั้นเราพบว่ามีหน่วยงานทางด้านความมั่นคง และส่วนราชการอื่นๆ ทำสัญญาไปแล้ว 80 กว่าสัญญา เป็นวงเงิน 700 กว่าล้าน เราได้ดูหลักฐานและเห็นว่าบริษัทที่เป็นผู้ผลิตในประเทศอังกฤษ และบริษัทที่เป็นตัวแทนที่อยู่ในประเทศไทย มีส่วนร่วมกันในการฉ้อฉลฉ้อโกงหลอกหน่วยงานของรัฐให้หลงเชื่อ ทั้งจากคำโฆษณาชวนเชื่อ แม้กระทั่งการสาธิตที่จัดฉากกันขึ้นมา ทำให้ส่วนราชการหลงเชื่อและก็ไปจัดหามา เราจึงให้ส่วนราชการเหล่านั้น ซึ่งประกอบด้วยกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมราชองครักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ไปแจ้งความดำเนินคดีกับภาคเอกชนที่เป็นตัวแทนจำหน่าย

เราก็แจ้งไปปี 2555 เนื่องจากว่ามีการจัดหามาตั้งแต่ปี 2548 - 2552 และปี 2553 พบว่ามันไม่สามารถใช้งานได้ หลังจากมีการพิสูจน์ของทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หลังจากนั้นเราก็มีการติดตาม พบว่าส่วนราชการทั้งหมดที่เราติดตามนั้นได้ไปแจ้งความดำเนินคดี ยกเว้นกองทัพอากาศ ซึ่งอาจจะยังต้องการความชัดเจนถึงความเสียหายแต่สุดท้ายก็ไปแจ้งความอยู่ดี และพบว่ากองทัพอากาศซึ่งเป็นหน่วยงานที่เสียหายได้จัดซื้อโดยตรงจากต่างประเทศบริษัทที่เป็นผู้ผลิต

เรื่องนี้พนักงานสอบสวนได้มีส่งเรื่องไปถึงอัยการสูงสุด ซึ่งก็คงอยู่ในขั้นตอนพิจารณาฟ้องร้องคดีอาญากับบริษัทผู้ผลิต แต่ในส่วนของตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็สอบสวน ขณะนี้ความคืบหน้าอยู่ในการดำเนินการการสอบสวนของ DSI แล้วเรื่องดำเนินการทางแพ่งทุกหน่วยงานเองก็มีการดำเนินการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทางแพ่ง

ส่วนในขณะนั้น ปี 2555 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนให้มีการไต่สวนเอาผิดกับทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่ง สตง. ไม่ได้ดูในส่วนนั้น เพราะว่าทาง ป.ป.ช. ดูแลกระบวนการไต่สวนอยู่เราไม่ต้องไปดูซ้ำอีก เราก็ดู เฉพาะการแจ้งความของผู้เสียหายเพื่อสามารถระงับยับยั้งอายุความที่จะไปฟ้องร้องค่าเสียหายและดำเนินคดี ที่นี้ ขณะที่ปรากฏว่าผลคดีที่ต่างประเทศออกมาชัดเจนแล้วว่า มีพฤติการณ์หลอกลวงมีการยึดทรัพย์ เราก็เลยกลับมาทบทวนถือตามคำวินิจฉัยของศาลที่อังกฤษ เราก็เห็นพฤติการณ์ตรงนี้สนับสนุนฉ้อโกงแน่ชัดมากเลย ล่าสุดทาง สตง. ก็เลยทำหนังสือถึงท่านนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ไปดำเนินการ ยึดอายัดทรัพย์สินเพื่อไปชดเชยความเสียหายส่วนที่ฉ้อโกงไป

แม้ว่าจะเป็นเงินจำนวนมากกว่า 700 ล้าน เราเชื่อว่าบริษัทตัวแทนจำหน่ายตอนนี้ยังมีตัวตน เพราะว่าหลังจากมีการฉ้อโกงและเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีที่ต่างประเทศ บริษัทนี้มีการขายยุทธภัณฑ์ให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคง ก็แสดงให้เห็นว่าบริษัทนี้น่าจะมีตัวตนที่จะไปติดตามเรื่องนี้ได้ เรารายงานท่านนายกฯ ไปแล้ว ปรากฏว่าท่านมอบหมายให้ท่านรองฯ วิษณุ เครืองาม เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรึกษาหารือกันถึงการดำเนินการเรื่องนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 มิ.ย.) ผลก็เลยออกมาในลักษณะทางรัฐบาลจะดำเนินการเมื่อคดีนี้มีผลออกมาชัดเจน รัฐบาลจะมีการติดตามในเรื่องทวงคืนความเสียหาย ทั้งจากบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งตัวแทนที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะหน่วยงานผู้เสียหาย ในส่วนของ สตง. เราก็ได้มีการแจ้ง ปปง. ไปแล้วก็จะมีการติดตามผลของทาง ปปง. ว่าจะมีช่องทางอย่างไรที่จะไปติดตามทวงคืนความเสียหายในตอนนี้ คือสภาพโดยรวมตอนนี้ครับ

บริษัทตัวแทนจำหน่ายมีความผิดตั้งแต่ต้น แต่หน่วยงานความมั่นคงในประเทศยังจัดซื้อยุทธภัณฑ์กับบริษัทดังกล่าวอยู่

สตง.เราถือว่ามีความผิด นับแต่ปี 2548 - 2555 ของที่มีการซื้อขายกันช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างนั้น จนถึงวันที่ สตง. มีการตรวจพบว่าเป็นกลโกงในการฉ้อโกงส่วนราชการต่างๆ เมื่อปี 2553 สตง. ได้มีการสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งให้ส่วนราชการไปดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้ยังมีช่องทางในการดำเนินการติดตามทวงคืนความเสียหาย พร้อมกับดำเนินคดีอาญากับบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย

ส่วนกรณีที่หน่วยงานความมั่นคงยังจัดซื้อยุทธภัณฑ์กับบริษัทตัวแทนจำหน่าย GT200 ประการหนึ่งที่เราตรวจสอบ เราพบว่าอาจจะเป็นสาเหตุจากเรื่องของความชัดเจน เกี่ยวกับเรื่องฉ้อโกงหรือไม่ก็แล้วแต่ ช่วงนั้นอาจจะมีปัญหาอยู่ เพราะว่าช่วงนั้นประเทศอังกฤษไม่มีผลคดีออกมาชัดเจนนะครับ เพราะฉะนั้น ในส่วนที่เขายังขายของที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการ เมื่อยังไม่ได้มีการดำเนินการในส่วนที่ฉ้อโกงอย่างชัดเจนเขาก็มีเหตุผลมีความจำเป็น สามารถดำเนินการในส่วนนั้นได้ ส่วนความเหมาะสมหรือไม่นั้น เราดูว่าขณะนั้นมันไม่มีอะไรที่ชัดเจน แต่ว่าในปัจจุบันนี้มีความชัดเจนแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหน่วยงานผู้เสียหาย ไม่ควรที่จะเข้าไปติดต่อค้าขายกับบริษัทนี้ ซึ่งการขึ้นบัญชีดำทาง สตง. ก็กำลังดำเนินการแจ้งไปยัง คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง. (กวพ.) เพื่อให้พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายนี้ จะได้ไม่มาขายยุทธภัณฑ์ใดๆ อีก ซึ่งเราเกรงว่าอาจจะมีการหลอกลวงในเรื่องอื่นต่อไปด้วย แต่โชคดีที่ผ่านมาในเรื่องของการจัดหาก็ยังไม่ปรากฏว่ามีอะไรเสียหาย

มีข้อมูลเปิดเผยผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพเข้าไปเกี่ยวพันกับบริษัทตัวแทนจำหน่าย GT200 ส่อทุจริต

ตั้งแต่บัดนี้ไป ผมคิดว่าในรัฐบาล คสช. ที่บริหารประเทศอยู่ช่วงนี้ ไม่น่าเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นอีก ที่ผ่านมามันมีประเด็นว่าการกระทำผิดยังไม่ชัดเจนมันก็เลยเป็นเหตุ คือยังมีความจำเป็นมันก็เลยไปซื้อตามความจำเป็น ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ซึ่งในขณะนั้นการชี้ชัดต่างๆ อาจจะมองว่ามันยังไม่สะเด็ดน้ำเท่าไหร่ มันก็เลยทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังค้าขายกับ บริษัทนี้ตามความจำเป็น แต่ต่อจากนี้ไปเมื่อมีคำพิพากษาออกมาแล้ว สตง. ได้แจ้งเรื่องไป ยัง ปปง. เพื่ออายัดทรัพย์สินบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่าย แต่เพื่อไม่ให้หลุดรอดไป สตง. จะดำเนินการแจ้งไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แล้วยังแจ้งไปยัง กวพ. เพื่อขึ้นบัญชีดำด้วย ต่อไปจะได้ไม่มีปัญหา เรื่องนี้ต้องยอมรับว่ามันเป็นการหลอกลวงระดับชาติ เพราะว่าคำพิพากษาชี้ชัดเลยว่ามันหลอกลวงหลายประเทศ แม้ว่าหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ก็ยังหลงเชื่อซื้อมาใช้งาน แล้วก็ยังเข้าใจว่ายังใช้ได้อยู่ทั้งที่ความจริงมันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้

ใครบ้างต้องรับผิดชอบ ต่อความเสียหายจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้น

ตอนนี้ในส่วนของ สตง. เห็นว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบอันดับแรกก็คือ บริษัทตัวแทนจำหน่าย ให้ กวพ. ขึ้นบัญชีดำ เร่งรัด DSI ในการดำเนินคดี รวมทั้งหน่วยงานผู้เสียหายต้องลดบทบาทในเรื่องที่จะอุดหนุนซื้อบริษัทที่เกี่ยวข้องดังกล่าวด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเข้าใจผิดเป็นการช่วยเหลือเอ็นดูกัน เรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเราเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้โดยอาศัยกฎหมาย ปปง. หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น เราถึงแจ้งไปที่ ปปง. ตอนนี้ก็กำลังรอผลอยู่ ส่วนเรื่องเจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบไหม เป็นเรื่องของการสอบสวนในทางละเมิดต่อไป กรณีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานผู้เสียหาย ขณะนั้น สตง. ต้องรีบออกรายงานในเรื่องของเอกชนที่กระทำการฉ้อฉลเพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ในการดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งก็มีการไปแจ้งความ ประกอบกับทาง ปปช. ในช่วงนั้นก็มีการไต่สวน เพื่อจะดำเนินการกับเจ้าหน้าที่หากมีการกระทำความผิดด้วย ฉะนั้น เมื่อ ป.ป.ช. สอบสวนมีการดำเนินการในส่วนนี้แล้ว สตง. ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการให้ซ้ำซ้อนกันอีก แต่ว่า เราก็ต้องติดตามผลจาก ป.ป.ช. ว่าชี้มูลอย่างไร เพื่อเอามาประกอบในการติดตามในส่วนของความเสียหายทางแพ่งด้วย

ท่าทีท่านนายกฯ ดูเหมือนว่าจะเมินสอบทหารกรณีจัดซื้อ GT200

เอกชนหลอกลวงแต่คนที่ถูกหลอกลวงด้วยผิดหรือเปล่า? ก็ต้องไปดูอีกที หรือไม่ได้ถูกหลอกแต่อาจจะมีการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่? เราในฐานะตรวจเงินแผ่นดิน เราก็มุ่งความเสียหายในแง่ของภาคเอกชนที่ฉ้อโกงเงินหลวงไป เราก็ต้องติดตามผลจาก ป.ป.ช. ไปพร้อมกัน สตง. เราได้แจ้งหน่วยงานผู้เสียหายไปตั้งแต่ปี 2555 และหน่วยงานทั้งหลายก็ไปแจ้งความ ซึ่งกองทัพอากาศ ตอนหลังก็มีการแจ้งดำเนินคดีแล้ว คดีทั้งปวงเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ท่านรองฯ วิษณุ ได้ถามพนักงานสอบสวน DSI ก็บอกอยู่ในกระบวนการสอบสวนซึ่งจะเร่งรัดให้มันเร็วขึ้น

ส่วนเรื่องค่าเสียหายจะเรียกน้อยหรือมากก็เป็นเรื่องของข้อกฎหมายเท่าที่เราจะดำเนินการได้ แต่ว่าถึงอย่างไรเสีย ถ้ามีส่วนที่มันแตกต่างก็เป็นส่วนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย แม้ว่าในส่วนของ สตง. ในขณะนั้นไม่ได้มีการตรวจสอบจนมีหลักฐานชัดแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่กระทำความผิดร่วมกับบริษัทที่มาหลอกลวง สตง. ถือตามว่าที่มีตรวจสอบไว้พบว่ามันเป็นการหลอกลวงข้ามชาติ หน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ก็ยังหลงเชื่อ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ ป.ป.ช. ไปสอบสวนเพื่อจะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว จึงเห็นว่าหากมีการเรียกยึดอายัดจากเอกชนไม่ได้ขาดเหลือเท่าไหร่ ต้องมีการแสดงความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้อง สอบสวนตามกระบวนการระเบียบสำนักรัฐมนตรีว่าด้วยความรับผิดในการละเมิดต่อไป แต่อาจจะยังไม่จำเป็นในการดำเนินการ เพราะว่าเราเชื่อว่าบริษัทตัวแทนนั้นมีฐานะพอที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้ได้ ก็ต้องดำเนินการอย่างนั้นก่อนเพื่อความถูกต้องเป็นธรรม

การทุจริตจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐมีทุกยุคสมัย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธ

ในยุคปัจจุบันนี้เราไม่ปฏิเสธหรอกว่ามันไม่มี แต่วิธีการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันค่อนข้างได้ผลอย่างจริงจัง ข้อสังเกตประการแรกก็คือรัฐบาล คสช. มีการตั้ง หน่วยงานขึ้นมาหลายองค์กรหลายหน่วยเพื่อที่จะมาขับเคลื่อนต่อต้านด้านทุจริตและสร้างความโปร่งใส คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้มีการระงับยับยั้งโครงการที่คั่งค้างอยู่จากโครงการที่เห็นว่ามันไม่เหมาะเกินความจำเป็น และมีความเสี่ยงเรื่องทุจริตรั่วไหลก็เบรกไปแล้ว ใน 1 ปี ที่ทำการปฏิรูปการเมืองมาเบรกแล้ว 3,000 - 4,000ล้านบาท ที่ระงับไปและเอาเงินที่เหลือไปทำอย่างอื่น อันนี้ก็ถือว่าเป็นความโปร่งใสอันนึงที่รัฐบาลทำให้เห็นเชิงประจักษ์ โดยทาง สตง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมให้ข้อมูล มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นองค์รวมรับลูกเรื่องทุจริต จะเห็นคดีค่าโง่คลองด่าน อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษติดคุก แม้กระทั่งรัฐมนตรีติดคุก ก็เห็นอยู่ เราอาจจะไม่สามารถทำให้มันหมดสิ้นได้ แต่เราสามารถปราบปรามอย่างได้ผล

คือสัจธรรมอย่างหนึ่ง ทุจริตมันมีแอบแฝงไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน แต่การปราบปรามอย่างจริงจังได้ทำอย่างเต็มที่หรือเปล่า ซึ่งในยุคนี้จะสังเกตว่าทำกันเกือบทุกหน่วยและผลการป้องปรามปรากฏชัดเจน หลายๆ เรื่องที่ สตง. ไปตรวจเรารวมทำกัน ศอตช. ธรรมมาภิบาลความโปร่งใส 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการปฏิรูปบ้านเมืองจะเป็นข้อสังเกตเห็นชัดเลยว่ามันกระเตื้องดีขึ้น คะแนนดีขึ้นทำให้เราอยู่ในฐานะที่ดีขึ้นสูงขึ้นในลักษณะธรรมภิบาลและความโปร่งใส ซึ่งไม่เคยมีปรากฏในรัฐบาลช่วงก่อนก็พิ่งจะมาปรากฏให้เห็น แม้ว่าคะแนนประชาธิปไตยอาจจะเป็นศูนย์ก็ตาม แต่เรื่องความโปร่งใสประเทศไทยไม่อายใคร

สตง. มีบทบาทต่อคดีทุจริตหลายต่อหลายคดี แต่ด้วยขอบเขตอำนาจหน้าที่มักถูกสบประมาทว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ

จริงๆ แล้ว สตง. อาจจะทำหน้าที่เหมือนปิดทองหลังพระ เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จเราก็จะส่งพนักงงานสอบสวนไป ที่ถูกมองเหมือนเสือกระดาษก็เพราะว่าเราต้องส่งเข้ากระบวนการถัดไป กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตรงนั้นต้องอาศัยเวลานะ กระบวนการสอบสวนอาจจะต้องใช้เวลา เหมือนกับว่าเราตรวจเจอแต่ไม่มีผลกระทบอะไรต่อผู้ทุจริต แต่จากนี้ไปแตกต่างครับ เพราะว่ามีศูนย์ ศอตช. และรัฐบาลมีมาตรา 44 จัดการคนที่เป็นสีเทาหรือว่าคนที่ไม่เห็นควรไว้วางใจให้อยู่ในหน้าที่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายก็มีการใช้มาตรา 44 ตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความเข้มแข็งขึ้น คนที่กระทำผิดโดยเฉพาะทุจริตทางการเงินได้รับผลตามสมควร ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสในบ้านเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐใส่ใจการปฏิบัติหน้าที่



บทสรุป GT200 กับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

ณ ขณะนี้ สตง. ส่งเรื่องไป ปปง. เราคาดหวังว่า ปปง. จะตอบในส่วนนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่ง สตง. พร้อมที่จะไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อที่จะดำเนินการเกี่ยวกับยึดทรัพย์สินของตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในประเทศไทย และเราเชื่อมั่นว่ายังพอมีส่วนที่ดำเนินการได้ เฉกเช่นเดียวกับส่วนของ คลองด่าน ที่ ปปง. ไปอายัดเงินส่วนที่เกิดขึ้นจากการทุจริตจนเป็นเหตุให้รัฐเสียค่าโง่ไปส่วนหนึ่งและอายัดค่าโง่ไปส่วนหนึ่ง

ในส่วนตัวผมถือว่าอาสามาทำหน้าที่ตรงนี้ ได้รับการสรรหามาทำหน้าที่ ผู้ว่าการ แล้วก็ยึดถือแนวทางว่าการทำงานจะต้องตอบสนองกับประเด็นปัญหาความไม่โปร่งใสที่สังคมตั้งโจทย์ตั้งคำถาม สตง. จะตอบโจทย์ตอบคำถามเหล่านี้เพื่อให้สังคมได้ผ่อนคลาย เรียนรู้ และรักษาประโยชน์ของเงินแผ่นดิน เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเป็นไปตามความถูกต้องตามกฎหมาย มีประสิทธิภาพประสิทธิผลคุ้มค่า โดยไม่เสี่ยงกับความเสียหาย


กำลังโหลดความคิดเห็น