xs
xsm
sm
md
lg

สตง.สั่ง อ.ส.ค.แจงล็อกสเปกเครื่องบรรจุนม UHT ส่อซ้ำรอยค่าโง่คลองด่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
ผู้ว่าฯ สตง.สั่ง อ.ส.ค.ส่งหลักฐานข้อมูลพิสูจน์ปมล็อกสเปกโครงการติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT งบ 420 ล้านบาท ภายใน 31 พ.ค. ชี้สัญญาอาจเข้าข่ายผิดอาญาซ้ำรอยค่าโง่คลองด่าน ด้าน ผอ.อ.ส.ค.ยอมรับเซ็นสัญญาจริง แต่รายงานผู้ใหญ่กระทรวงเกษตรฯ ทราบแล้ว

วันนี้ (18 พ.ค.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบความไม่โปร่งใสในโครงการจัดหาเครื่องบรรจุนม UHT แบบ High Speed เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ของสำนักงานองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมาสำนักตรวจสอบการบริหารพัสดุและสืบสวนที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้ อ.ส.ค.ชี้แจงการขออนุมัติวงเงินงบประมาณ 420 ล้านบาท ว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร เป็นไปโดยชอบหรือไม่ โดยให้ชี้แจง 6 ประเด็นสำคัญ คือ 1. เครื่องจักรปัจจุบันมีกำลังผลิตเท่าไหร่ เหตุใด อ.ส.ค.ต้องจัดหาเครื่องจักรใหม่ 2. กรณีเครื่องจักรเดิมขัดข้อง บ.เอจีส แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างไร ตลอดจนมีการยกเลิกสัญญาหรือจะดำเนินการอย่างไรกับผู้เช่ารายเดิม 3. อ.ส.ค.เตรียมสถานที่รองรับเครื่องจักรใหม่ที่ไหน หรือไม่ 4. ให้ อ.ส.ค.ส่งหลักฐานการสืบราคาว่ามีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร จึงสรุปที่ประมาณการราคาค่าเช่า 420 ล้านบาท 5. เหตุใด อ.ส.ค.จึงเลือกเชิญผู้ประกอบการเพียง 2 ราย คือ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด เข้าร่วมเสนอราคา และ 6. ภายหลังสัญญาเช่าเครื่องกับบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญารายใหม่ อาคารต่างๆ ที่บริษัทสร้างขึ้นจะเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดตามสัญญาข้อใด

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 42 ให้ อ.ส.ค.ส่งเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้ 1. สำเนาบันทึกรายงานสภาพปัญหาเครื่องจักรยี่ห้อง IPI กับบริษัท เอจีส 2. สำเนาปริมาณนมดิบที่เข้าสู่โรงนมมวกเหล็ก ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน 3. สำเนาการประชุมบอร์ด อ.ส.ค.ครั้งที่ 4/2559 พร้อมเอกสารประกอบการประชุมบอร์ด อ.ส.ค.ครั้งที่ 4/2559 และ 5/2559 ข้อที่ 4 สำเนาเอกสารการตั้งงบประมาณเพื่อเช่าเครื่องจักรใหม่ และแผนงานเพิ่มเติม 5. สำเนาร่างขอบเขตงาน (TOR) ของสัญญาเดิมกับบริษัท เอจีส 6. สำเนาเอกสารการจัดหาเครื่องบรรจุนม High Speed ทั้งหมด ได้แก่ รายงานขอซื้อขอจ้าง คำสั่งแต่งตั้งกรรมการชุดต่าง ๆ เอกสารประมาณการราคาเช่าเครื่องจากตาม TOR เอกสารการคัดเลือกผู้เสนอราคาเข้ามาเป็นคู่สัญญาใหม่ และ 7. สัญญาเช่าเครื่องกับบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด (สัญญาใหม่) และเอกสารการทำTOR ในข้อที่ 9 ราคากระดาษบรรจุนม U.H.T ขนาด 200 และ 125 มิลลิลิตร คิดค่าราคากระดาษคงที่ 1 ปี ไม่น้อยกว่า 300 ล้านกล่อง ในราคากล่องละ 1 บาท 25 สตางค์ ระยะเวลาตามสัญญา 7 ปี อ.ส.ค.ต้องจ่ายเงินอย่างน้อย 2,100 ล้านบาท ประเด็นข้อสงสัยทั้งหมด ให้ อ.ส.ค.ส่งเอกสารชี้แจง ตอบกลับมาภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้ หาก อ.ส.ค.ละเลยจะมีความผิดมาตรา 64 และผิดตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 24/2557

“เรื่องนี้ถ้าตัดสินใจผิดพลาด เกิดเป็นความเสียหายต้องมีการรับผิดชอบ และถ้ามีเจตนาแอบแฝง หรือประโยชน์ที่ทับซื้อเพื่อประโยชน์ของใคร สุดท้ายต้องมีการรับผิดทางอาญา เหมือนที่เกิดกับกรณีค่าโง่คลองด่าน ยิ่งถ้ามีคนเตือนแล้วไม่ฟัง ไม่หาข้อสรุปที่แน่ชัด ผลีผลามดำเนินการถือว่าเป็นพิรุธ เป็นเครื่องชี้เจตนาอย่างหนึ่ง” นายพิศิษฐ์กล่าว

ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค.ยอมรับว่า อ.ส.ค.ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องจักรใหม่กับบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้มีการชี้แจงเหตุผลความจำเป็นกับผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบทุกระดับแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น