รายงานการเมือง
คดีค่าโง่คลองด่านที่ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลปกครองกลางสั่งให้ “กรมควบคุมมลพิษ” ปฏิบัติตามคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ จ่ายเงินผิดสัญญาค่างวดงาน 4 งวด บวกดอกเบี้ยกว่า 9 พันล้าน ที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนขณะนี้ นับเป็นความเสียหายของรัฐในคดีค่าโง่ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนคดีแรกที่ถือว่าสิ้นสุดแล้ว
เท่ากับว่า เอกชนที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเมืองรอรับเงินอย่างเดียว
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ทำไมรัฐจึงแพ้คดีอย่างราบคาบเสมือนไม่มีประตูสู้เช่นนี้ !
การหาคำตอบในเรื่องดังกล่าวต้องย้อนกลับไปดูสาเหตุที่มีการบอกยกเลิกสัญญา ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังเรืองอำนาจ มี ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ การยกเลิกสัญญาครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากรัฐ แต่เป็นความต้องการของภาคเอกชนบนความสมยอมของรัฐบาลในขณะนั้น
นี่คือ ประเด็นสำคัญที่เป็นต้นเหตุของการจ่ายค่าโง่คลองด่าน
รัฐบาลทักษิณ มีท่าทีขึงขังในขณะนั้นว่าจะต้องยกเลิกสัญญา ถึงขนาด พ.ต.ท.ทักษิณ ออกโรงให้สัมภาษณ์เองในวันที่ 25 ก.พ. 2546 ว่า “จะต้องยกเลิกสัญญา หากไม่ดำเนินการเจ้าหน้าที่ก็จะมีความผิด” แต่ในความเป็นจริงกลับมิได้ยกเลิกสัญญาในทันทีตามที่มีการประโคมข่าว โดย ประพัฒน์ รับบททำหน้าที่สั่งยุติโครงการ
ต่อมามีการเจรจากับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดย ประพัฒน์ อ้างเหตุผลว่า สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ และจะไม่เจรจากับฝ่ายเอกชนอีก “แม้ว่าบริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้า จะยื่นหนังสือเพื่อขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และเรียกร้องให้เปิดให้มีการเจรจาภายใน 14 วัน ขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะให้เวลาขนาดไหนก็คงตอบได้คำตอบเดียวคือ สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเจรจาอีกต่อไป ซึ่งที่สุดแล้วบริษัทก็สามารถฟ้องร้องได้เลย”
ในวันเดียวกับที่ ประพัฒน์ ท้าให้เอกชนฟ้อง ท่าทีของเอกชนก็ชัดเจนว่าต้องการยกเลิกสัญญา โดย นายสุธี ธีรกุล ผอ.โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียฯ ตัวแทนจากกลุ่มกิจการร่วมการค้า พร้อมทนายความได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เพื่อขอยกเลิกสัญญาหลังจากที่กรมควบคุมมลพิษระบุว่าการทำสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการถอนตัวของบริษัท NWWI
“กลุ่มกิจการร่วมค้าได้ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า สัญญาไม่ได้เป็นโมฆะ และยืนยันว่า การลงนามในสัญญาได้ทำถูกต้อง นอกจากนี้ ได้มีการก่อสร้างงานตามโครงการโดยมีวิศวกรที่ปรึกษาของกรมควบคุมมลพิษควบคุมอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลา 5 ปี และสามารถก่อสร้างได้กว่าร้อยละ 98 แล้ว ดังนั้น การที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลตามกฎหมาย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำหนังสือขอยกเลิกสัญญา เพราะกรมควบคุมมลพิษทำผิดเงื่อนไขเป็นสาเหตุให้ยกเลิกสัญญาได้ คือ กรมควบคุมมลพิษผิดนัดการชำระเงินรวมทั้งหมด 3,200 ล้านบาท”
ประเด็นการฟ้องร้องในคดีบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงไม่ใช่เรื่องรัฐยกเลิกสัญญา เพราะสัญญามีปัญหา หรือมีการทุจริตในโครงการนี้ แต่เป็นเรื่องที่ “รัฐไม่ปฏิบัติตามสัญญา” สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า “บริษัทได้ส่งมอบงานตามสัญญา งวดงานที่ 55 - 58 แล้วจริง เมื่อกรมควบคุมมลพิษไม่จ่ายค่างวดงาน จึงต้องตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงมีคำพิพากษาให้บังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ 12 ม.ค. 54
ที่ให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินกับบริษัทเอกชนทั้ง 6 รวมดอกเบี้ย 9,058,906,853.61 บาท
จึงต้องตั้งคำถามถึงผู้เกี่ยวข้องในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีท่าทีแข็งกร้าวให้ยกเลิกสัญญา ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่รับลูกมาดำเนินการ โดยอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ และ อภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ว่า ทำไมจึงไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างตามสัญญา จนกลายเป็นช่องโหว่ทำให้บริษัทเอกชนใช้เป็นเหตุในการฟ้องจนชนะคดี
เพราะถ้ามีการจ่ายเงินค่างวดก่อนที่จะมีการยกเลิกสัญญา และสู้คดีในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการทำสัญญาว่ามิชอบด้วยกฎหมายก็จะทำให้รัฐมีโอกาสชนะคดีได้อยู่แล้ว เนื่องจากในคดีนี้กรมควบคุมมลพิษยื่นฟ้องบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานฉ้อโกงสัญญาซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 52 ว่า มีการกระทำผิดร่วมกัน ทั้งข้าราชการ นักการเมือง และบริษัทเอกชน โดยมี วัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย รวมอยู่ด้วย แม้ว่าต่อมาศาลอุทธรณ์จะกลับคำพิพากษายกฟ้อง แต่คดียังไม่สิ้นสุดเนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา
ความจริงที่เกิดขึ้น ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าการสร้างความสับสนให้คนเข้าใจไปว่า ปัญหาเกี่ยวกับสัญญาคลองด่านที่มีการฟ้องร้องเป็นเรื่องความมิชอบในสัญญานั้นเป็นภาพมายากลบเกลื่อนความจริงที่อาจจะมีการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลทักษิณกับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดช่องให้บริษัทเอกชนได้เงินชดเชยจากการที่รัฐทำผิดสัญญา
การติดตามเพื่อหาคนรับผิดชอบจ่ายค่าโง่นี้ จึงไม่ใช่การไปเรียกเงินจาก วัฒนา อัศวเหม ที่ทุจริตที่ดิน เพราะเป็นคนละประเด็นกัน แต่ต้องไปเรียกเก็บกับ ทักษิณ ประพัฒน์ และ อภิชัย เพราะเป็นตัวละครหลักที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดสัญญา