xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ค่าโง่คลองด่านหมื่นล้าน อีกเมนูเตะหมูเข้าปากหมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับผู้ที่ติดตามมหากาพย์ทุจริตโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่จะได้สดับรับฟังข่าวคราวศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนให้กรมควบคุมมลพิษ ต้องจ่ายค่าเสียหายหรือค่าโง่ให้แก่เอกชนเฉียดหมื่นล้านบาท เพราะจะว่าไปแล้วคดีนี้หน่วยงานรัฐตั้งใจโง่งม และมีพฤติกรรมเกี้ยเซี๊ยะกับเอกชน เหมือนสู้คดีแบบตั้งใจแพ้แต่ในมุ้งอยู่แล้ว

หากพิจารณาเหตุและปัจจัยนับตั้งแต่ความไม่มีเอกภาพขัดแย้งไม่ลงรอยกันในการต่อสู้คดีคลองด่านที่มีอยู่มากมายหลายคดีของหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในระดับนโยบายของรัฐบาล ระดับกระทรวงทรัพยากรฯ กรมควบคุมมลพิษ พนักงานอัยการ และที่ปรึกษาทางกฎหมายที่กระทรวงฯ ว่าจ้าง ซึ่งส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อคดีอนุญาโตตุลาการ

บวกความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ต้องการใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกวาดต้อนพรรคชาติพัฒนาที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นหัวหน้าพรรค ที่มีข้อครหาพัวพันกับการทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านในเวลานั้น ให้สยบยอมยุบ พรรคชาติพัฒนามารวมกับพรรคไทยรักไทย ที่ครองอำนาจบริหารประเทศขณะนั้น

บวกกับความสับปลับในเชิงนโยบายของรัฐบาลในการต่อสู้คดีคลองด่านตลอดมา ดังเช่น หลังจากนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ยุบพรรคมารวมกับพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ส่งนายสุวัจน์ ไปนั่งในตำแหน่งรมว.กระทรวงยุติธรรม ทั้งที่รัฐบาลโดยอัยการซึ่งสังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นทนายในคดีกำลังดำเนินการฟ้องร้องเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย คลอง ด่านหลายคดี และหนึ่งในบริษัทเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างที่รวมตัวกันเป็นกิจการร่วมค้าฯ นั้นมีชื่อบริษัทประยูรวิศว์ ของตระกูลลิปตพัลลภ อยู่ด้วย ผลจึงปรากฏว่าคดีที่รัฐบาลโดยอัยการเป็นผู้ทำคดีนั้นแพ้เอกชนราบคาบ โดยเฉพาะคดีแพ่งนั้น รัฐฯแพ้เอกชนทั้ง 3 คดีรวด

หรือกรณีกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและกรมควบคุมมลพิษ ทำความตกลงกันว่าจะมีการเจรจาคุยกันนอกรอบกันเองและจะไม่เข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีในอนุญาโตตุลาการ ในสมัยนายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นรมว.กระทรวงทรัพยากรฯ กระทั่งมีข่าวร่ำลือกันว่าช่วงนั้นจะมีการล้างคดีคลองด่านสมนาคุณ นายสุวัจน์ กันเลยทีเดียว จริงเท็จอย่างไรผลลัพธ์ก็เห็นกันอยู่ เรื่องจะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตฯ หรือไม่เข้าเป็นเพียงขั้นตอนไปสู่ผลลัพธ์บั้นปลายที่รู้ๆ กันอยู่ว่าจะออกมาเป็นเช่นใด

บวกกับบริษัทเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ มีนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลหนุนหลังทั้งพรรคชาติไทยของ “บิ๊กเติ้ง” นายบรรหาร ศิลปอาชา และพรรคชาติพัฒนาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ตนเองปฏิเสธเด็ดขาดไม่เคยข้องแวะ ขณะที่นายสุวัจน์ เป็นบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้อย่างยิ่งยวดและรอดพ้นทุกคดีไปได้อย่างพิสดารพันลึก

ดังนั้นแล้ว จะแปลกใจทำไมมีที่สุดท้ายแล้วกรมควบคุมมลพิษ จะแพ้คดีค่าโง่ในคราวนี้

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องอึ้งและพิศวงงงงวยกับบทเรียนครั้งใหญ่ครั้งสำคัญของการก่อตั้งกระทรวงทรัพยากรฯ เพราะความเสียหายที่มีบทสุดท้ายเฉกเช่นนี้กล่าวโทษใครไม่ได้นอกจากความละโมบโลภมากไม่สิ้นสุดของนักการเมืองที่มีอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ บริหารกระทรวง และแก๊งข้าราชการระดับสูงระดับปรมาจารย์ที่ร่วมปลุกปั้นก่อตั้งกรมควบคุมมลพิษขึ้นมานั่นแหละ หาใช่ใครอื่นไม่

การตั้งธงการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้คือ ตัวผู้บริหารสูงสุด ทั้งฝ่ายการเมืองและราชการ ผู้ที่สั่งยกเลิกสัญญาตั้งแต่ปี 2546 ดังที่นายวิเชียร ลั่นวาจาไว้นั้นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยว ความจริงของมหากาพย์ทุจริตคลองด่านระดับตำนานต้องการมือฉมังอย่างเอกอุในการสืบสาวราวเรื่องทั้งหมดไม่ใช่ตัดตอนเอาแค่นั้น

และเมื่อผลสอบออกมาแล้วจะยอมรับความจริงกันได้หรือไม่ว่าความฉิบหายที่เกิดขึ้นนอกจากจะเป็นฝีมือของนักการเมืองโฉดชั่วแล้ว ยังเป็นผลมาจากเนื้อในคือข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษ มีส่วนรู้เห็นเป็นใจและเป็นมือไม้สำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องเฉกเช่นนี้ขึ้น เป็นตราบาประดับตำนานคู่การก่อเกิดกรมควบคุมมลพิษนั่นทีเดียว

ที่สำคัญเหนืออื่นใดหากข้าราชการระดับสูงของกรมควบคุมมลพิษ ได้ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์พร้อม สมกับที่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใจซื่อมือสะอาดเสียแล้วความวิบัติฉิบหายต้องจ่ายค่าโง่มโหฬารคงไม่เกิดขึ้น

เอาแค่ง่ายๆ ถามอีกครั้งว่า ผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษคนปัจจุบัน ไปไล่บี้เอาเงินจากผู้กระทำผิดตามที่กระทรวงการคลัง มีหนังสือมาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการนั้น ไปถึงไหนแล้ว?

ก่อนอื่นไปดูกันว่า ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2557 อย่างไร

ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีการก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ หรือโครงการคลองด่าน หมายเลขดำ อ.285-286/2556 ที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ยื่นฟ้อง กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้อง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้ กรมควบคุมมลพิษ ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 12 ม.ค. 2554 ที่ให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินกับ บริษัททั้งหก จำนวน 4,983,342,383 บาท และจำนวน 31,035,780 เหรียญสหรัฐฯ พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,629,915,324.92 บาท และ 15,714,123.69 เหรียยสหรัฐฯ ที่เป็นเงินค่าจ้างในการออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งค่าเสียหายและดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 7,613,257,707.92 บาท และอีก 46,749,903.69 เหรียญสหรัฐฯ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 46 จนถึงวันชำระเสร็จ และให้กรมควบคุมมลพิษ คืนหนังสือค้ำประกันพร้อมชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 48 ล้านบาทให้บริษัททั้งหก ซึ่งรวมเป็นเงินที่กรมควบคุมมลพิษ ต้องชำระให้บริษัททั้งหกตามคำชี้ขาด รวมทั้งสิ้น 9,058,906,853.61 บาท

เนื่องจากบริษัททั้งหกไม่ได้เป็นผู้บกพร่องเรื่องการลงลายมือชื่อในสัญญาอนุญาโตตุลาการ จากกรณีที่บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาแทนบริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ บจก.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง, สี่แสงการโยธา (1979), ประยูรวิศว์, กรุงธนเอนยิเนียร์, เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ และ นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกันใช้ชื่อ กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) เพื่อรับจ้างออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียให้กรมควบคุมมลพิษ

โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ซึ่งให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินกับบริษัททั้งหกให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด รวมทั้งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่บริษัททั้งหก

คดีนี้ กรมควบคุมมลพิษ ต่อสู้ว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษ ที่เข้าทำสัญญาลงวันที่ 20 ส.ค. 2540 สำคัญผิดในตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีในนิติกรรม และสำคัญผิดในทรัพย์สิน โดยกิจการร่วมเอ็นวีพีเอสเคจี ทำการทุจริตหลอกลวงกรมควบคุมมลพิษ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบว่า บจก.นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่ได้ร่วมเป็นคู่สัญญา ซึ่งการหลอกลวงนั้นทำให้ กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ได้เงินจากกรมควบคุมมลพิษไป เพราะหากไม่มี บจก.นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อยู่ในกิจการร่วมค้า ก็จะไม่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม และไม่ผ่านการพิจารณาประกวดราคา ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ ได้ยื่นฟ้อง บริษัทที่ 1 - 5 กับพวกต่อศาลแขวงดุสิตในปี 2547 ในความผิดฐานฉ้อโกง และศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อปี 2552 ว่า มีการทุจริตของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และกิจการร่วมค้า ดังนั้น สัญญาที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย

ขณะที่ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีนี้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามขั้นตอนของกฎหมาย และชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 18 แล้ว แม้ต่อมาบริษัททั้งหก จะนำคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาร้องขอให้ศาลปกครองบังคับเนื่องด้วยเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ก็ไม่มีผลทำให้ขั้นตอนการแต่งตั้งอนุญาโตฯ ดังกล่าวที่สมบูรณ์นั้น ต้องเสียไป

โดยเมื่อพิจารณาตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ แล้ว คณะอนุญาโตฯ วินิจฉัยข้อเท็จจริงพบว่า บริษัทได้ส่งมอบงานตามสัญญา งวดงานที่ 55 - 58 แล้วจริง เมื่อกรมควบคุมมลพิษ ไม่จ่ายค่างวดงาน จึงต้องตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ส่วนที่บริษัททั้งหก อ้างว่ากรมควบคุมมลพิษผิดสัญญาอีกหลายประการ ก็ไม่ปรากฏว่าบริษัททั้งหกได้พูดถึงรายละเอียดว่าผิดสัญญาเรื่องใดบ้าง จึงรับฟังได้เพียงว่ากรมควบคุมมลพิษ ผิดสัญญาที่ไม่จ่ายค่างวดงาน 55 - 58 เท่านั้น

ส่วนที่กรมควบคุมมลพิษ อ้างว่า สำคัญผิดเรื่อง บจก.นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ นั้น คณะอนุญาโตฯ วินิจฉัยว่า จากการไต่สวนพยานระบุว่า กิจการร่วมค้าฯ ไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์ จึงมีผลเท่ากับ ตกลงทำกิจการร่วมค้า ฯ ลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน ดังนั้นการที่ บจก.นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ ถอนตัวไป จึงไม่ถือว่ากรมควบคุมมลพิษเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลกิจการร่วมค้า คณะอนุญาโตฯ จึงมีคำชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษ ต้องชำระเงินค่าจ้างให้บริษัททั้งหกดังกล่าว

ศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นว่า มีการระบุเหตผลของการวินิจฉัยคณะอนุญาโตฯ ไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และไม่เกินคำของคู่พิพาทดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ ดังกล่าว การที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ นั้นจึงชอบแล้ว ศาลปกครองสูงสุด โดย นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ตุลาการเจ้าของสำนวน และองค์คณะ จึงมีคำพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว

ที่ต้องขีดเส้นใต้จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ก็คือ หนึ่ง กระบวนการตั้งอนุญาโตตุลาการ ถูกตามขั้นตอนของกฎหมาย และชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 18

สอง เห็นพ้องตามคณะอนุญาโตฯ ที่วินิจฉัยข้อเท็จจริง พบว่า บริษัทได้ส่งมอบงานตามสัญญา งวดงานที่ 55 - 58 แล้วจริง เมื่อกรมควบคุมมลพิษ ไม่จ่ายค่างวดงาน จึงต้องตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา

และสาม การทำสัญญาของกรมควบคุมมลพิษตกลงทำกิจการร่วมค้า ฯ ลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน ดังนั้น การที่ บจก.นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ ถอนตัวไป จึงไม่ถือว่ากรมควบคุมมลพิษเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลกิจการร่วมค้า

ใน 3 ประเด็นข้างต้นนั้น หากย้อนกลับไปพิจารณาคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่มีนายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ เป็นประธาน ซึ่งพิจารณาตัดสินข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2554 ได้สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ได้ตั้งใจต่อสู้คดีนี้ของกรมควบคุมมลพิษอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะการโต้แย้งเรื่องสัญญาส่งมอบงวดงานและสัญญาที่ตกเป็นโมฆะ

ใจความสำคัญที่คณะอนุญาโตฯ ตัดสินชี้ว่า “....แม้ไม่ปรากฏว่างานอันที่ ๓ คืออะไร แต่ก็พอชี้ชัดว่าฝ่ายผู้เรียกร้องได้ส่งมอบงานตามสัญญางวดที่ 55, 56, 57 และ58 แก่ผู้คัดค้าน แต่เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ได้สืบหักล้างหรือสืบปฏิเสธเป็นประการอื่นข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าฝ่ายผู้เรียกร้องได้ส่งมอบงานอันที่ 55, 56, 57 และ 58 แก่ผู้คัดค้านแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงยังว่าได้มีการส่งมอบงานงวดที่ 55, 56, 57 และ 58 แล้วจริง และผู้เรียกร้องนำสืบต่อไปว่า ผู้คัดค้านไม่จ่ายค่างวดงานให้แก่ผู้เรียกร้อง กรณีผู้คัดค้านไม่จ่ายค่างวดงานให้แก่ผู้เรียกร้อง ผู้คัดค้านจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องรับผิดใช้ค่างวดงานตามสัญญาให้ผู้เรียกร้อง

ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะโดยไม่ได้อ้างมีเหตุแห่งโมฆะกรรมหรือนำสืบให้เห็นตามที่กล่าวอ้าง รับฟังไม่ได้ว่าสัญญาตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเป็นโมฆะกรรม....”

สำหรับคณะอนุญาโตตุลาการ พิจารณาคดีนี้ ประกอบด้วย นายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ ประธานคณะอนุญาโตตุลาการ, นายเสถียร วงศ์วิเชียร อนุญาโตฯฝ่ายเอกชน และ นายเคียง บุญเพิ่ม อนุญาโตฯ ฝ่ายกรมควบคุมมลพิษ (ตามที่ฝ่ายเอกชนเสนอ) โดยกรมควบคุมมลพิษ มอบอำนาจให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบคดี หลังจากกรมฯ ถอนบริษัทที่ปรึกษาเจมส์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ ออกไปจากการทำคดีนี้

คำถามตัวโตๆ และต้องขีดเส้นใต้ไว้หลายๆ เส้น ก็คือ ทำไมกรมควบคุมมลพิษ ถึงไม่นำสืบหักล้างทั้งประเด็นเรื่องค่างวดงานและประเด็นสัญญาโมฆะ ดังปรากฏในคำตัดสินของคณะอนุญาโตฯ ที่ประจานการต่อสู้คดีของกรมควบคุมมลพิษเอาไว้ และคณะอัยการที่รับผิดชอบคดีนี้ จะตอบคำถามว่าอย่างไร ?

หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการตัดสินคดี เวลานั้น นายณกฤต เศวตนันทน์ กรรมการผู้จัดการสำนักงานที่ปรึกษาเจมส์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ สำนักงานทนายความเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างจากกรมควบคุมมลพิษ ให้ดำเนินคดีอาญาฐานร่วมกันฉ้อโกงต่อกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและคดีอนุญาโตตุลาการในช่วงต้น ก่อนถูกกรมควบคุมมลพิษ เลิกว่าจ้างในเวลาต่อมา ให้ความเห็นเอาไว้ว่า คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ทางกรมควบคุมมลพิษ สามารถยื่นคำคัดค้านโดยใช้คำตัดสินในคดีอาญาที่มีการฟ้องร้องกันที่ศาลแขวงดุสิตขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ได้ เพราะคำตัดสินของศาลชี้ว่า สัญญาตกเป็นโมฆะ มีการกระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา341 ฐานร่วมกันฉ้อโกง

“ตามหลักตามกฎหมายแพ่งต้องถือตามกฎหมายอาญา ดังนั้นเมื่อศาลแขวงดุสิตได้ตัดสินถึงการกระทำผิดทางอาญาของกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ก็ควรนำคำพิพากษาในคดีอาญาซึ่งมีอยู่ 2 คดีคือ คดีศาลแขวงดุสิต และคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาให้จำคุกนายวัฒนา อัศวเหม ขึ้นมาคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ ภายในกรอบเวลา 90 วันนับจากการตัดสินข้อพิพาท”

คำแนะนำของทนายความที่ทำคดีอาญาซึ่งถูกปลดออกกลางอากาศขณะคดีกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มมีใครในกรมควบคุมมลพิษ รับฟังและนำไปดำเนินการหรือไม่ก่อนที่คดีจะเข้าสู่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดในที่สุด หรือกว่าจะดำเนินการก็สายเกินไปเสียแล้ว

ไม่ต้องพูดถึงว่าความจริงแล้วถ้าหากกรมควบคุมมลพิษ สู้ขาดใจตั้งแต่ต้นถึงจะพ่ายแพ้แต่ก็สังคมคงพอรับได้ แต่คำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ เห็นชัดเจนว่ากรมควบคุมมลพิษ ปล่อยให้เอกชนตีกินหวานๆ เสมือนว่ารู้ๆ กันอยู่แก่ใจดีว่างานนี้เป็นรายการเตะหมูเข้าปากหมา

ถึงนาทีนี้แล้วยังจะงง หรือยังจะมีอะไรสงสัยกันอยู่อีกไหมว่าพ่ายแพ้ได้อย่างไร ?


กำลังโหลดความคิดเห็น