เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุล่าการ ให้จ่ายค่างวดการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 9 พันกว่าล้านบาท แก่ กิจการร่วมค้า เอ็นพีวีเอสเคจี
ย้อนกลับไปในปี 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในขณะนั้นมีโรงงานตั้งอยู่กว่า 4,000 แห่ง ตามโครงการ จะมีการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย 2 ระบบใหญ่ คือฝั่งตะวันตก ที่จะรับน้ำเสียจากพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอพระประแดง และย่านถนนสุขสวัสดิ์ ไปบำบัดที่ตำบลบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และฝั่งตะวันออก ที่จะรับน้ำเสียจากอำเภอเมือง อำเภอพระประแดง อำเภอบางปู และตอนเหนือของอำเภอบางพลี โดยจะนำมาบำบัดที่บริเวณบางปูใหม่
ระบบบำบัดน้ำเสียทั้งสองแห่งจะใช้งบประมาณก่อสร้าง 13,612 ล้านบาท มาจากงบประมาณแผ่นดิน 7,362 ล้านบาท กองทุนสิ่งแวดล้อม 2,500 ล้านบาท และเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB 3,750 ล้านบาท โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าของโครงการ
จากแผนการนี้ จะเห็นได้ว่าตำบลคลองด่าน ซึ่งอยู่ห่างจากบางปูใหม่ถึง 20 กิโลเมตร ไม่ใช่พื้นที่ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย
ต่อมาในปี 2540 กรมควบคุมมลพิษได้ปรับงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 23,701 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียนี้เป็นโครงการแบบ Turnkey คือผู้รับเหมาทำหน้าที่ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้างท่อที่รวบรวมและส่งน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนการจัดการอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมถึงการจัดหาที่ดิน โดยให้มีผู้รับเหมางานทั้งโครงการเพียงรายเดียว
หลังจากประกาศหาผู้รับเหมาเข้าประมูลโครงการ มีผู้สนใจทั้งสิ้น 13 ราย ก่อนที่กรมควบคุมมลพิษจะคัดเลือกคุณสมบัติเหลือ 4 ราย และเมื่อถึงเวลายื่นซองเหลือผู้เข้าประมูลเพียง 2 รายคือกลุ่มบริษัทเอ็นพีวีเอสเคจี (NVPSKG) และ กลุ่มบริษัทมารูเบนี
ขณะที่มีการประมูลโครงการ กรมควบคุมมลพิษได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแผนการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียโดยเสนอให้รวมบ่อบำบัดน้ำเสียทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน โดยก่อสร้างเพียงฝั่งตะวันออกเพียงแห่งเดียว และเชื่อมต่อกับฝั่งตะวันตกโดยการต่ออุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา
สิ่งที่น่าสนใจคือสเปกใหม่ของกรมควบคุมมลพิษนั้น คล้ายคลึงกับแนวทางของกลุ่มบริษัทเอ็นวีพีเอสเคจี อย่างไม่น่าเชื่อ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทดังกล่าวชนะการประมูลไปอย่างไร้คู่แข่ง
กลุ่มบริษัทเอนวีพีเอสเคจี ประกอบด้วยบริษัทนอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจของอังกฤษ (ภายหลังได้ถอนตัวออกไป), บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท ประยูรวิศการช่าง จำกัด และบริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด
- บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นของตระกูลชวนะนันท์
- บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด ผู้ก่อตั้งคือนายบรรหาร ศิลปอาชา ปัจจุบันเป็นของตระกูลวงศ์จิโรจน์กุล
- บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัดเป็นบริษัทในเครือของวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง
- บริษัท ประยูรวิศการช่าง จำกัด ผู้ก่อตั้งคือนายวิศว์ ลิปตพัลลภ บิดาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในเวลานั้น
ที่ดินที่กลุ่มบริษัทเอ็นวีพีเอสเคจี เสนอให้ใช้ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคือที่ดินแปลงใหญ่ในตำบลคลองด่าน ซึ่งอยู่ห่างจากทำเลเดิมราว 20 กิโลเมตร ทำให้โครงการโรงบำบัดน้ำเสียมูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท ต้องลงทุนในค่าก่อสร้างท่อสูงถึง 14,000 ล้านบาท ในขณะที่ลงทุนกับระบบบำบัดน้ำเสียเพียง 3,000 ล้านบาท
จุดเริ่มต้นของการทุจริตเชิงนโยบาย คือการซื้อที่ดินในตำบลคลองด่าน โดยบริษัทคลองด่าน มารีน แอนด์ฟิชเชอรี จำกัด นำพื้นที่ทะเลโคลน ดินเลน พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะ มาย้อมแมวขายให้กับกรมควบคุมมลพิษในราคาไร่ละ 1.03 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,900 ไร่ มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท ในขณะที่สำนักงานที่ดินสมุทรปราการประเมินว่ามีราคาเพียงไร่ละ 480,000 บาท
เส้นทางทุจริตนี้ เริ่มต้นตั้งแต่นายวัฒนา อัศวเหม ในนามบริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด กว้านซื้อที่ดินแปลงพิพาทจากประชาชนในราคาไร่ละ 20,000 บาท ก่อนจะนำมาขายให้กับบริษัทปาล์มบีช ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่มีนายสมลักษณ์ อัศวเหม และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ร่วมเป็นกรรมการ ในราคาไร่ละ 100,000 บาท และนำมาขายต่อให้บริษัทคลองด่าน มารีน แอนด์ฟิชเชอรี จำกัด ในราคาไร่ละประมาณ 260,000 บาท ก่อนจะตกสู่มือรัฐบาลในราคาที่เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว
เมื่อป้ายโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียถูกปักลงที่ ต.คลองด่าน การต่อสู้ของภาคประชาชนจึงเริ่มต้นขึ้น
แกนนำชาวบ้านคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดีว่า “บริเวณท่อที่โรงงานจะปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วที่เป็นน้ำจืดลงทะเล เป็นบริเวณเลี้ยงหอยแมลงภู่ ถ้าเขาปล่อยน้ำจืดลงวันละห้าแสนลูกบาศก์เมตร รับรองว่าเอาไม้ไปปักมันก็ไม่มาเกาะ ถ้าหอยไม่มี พวกกุ้ง ปู ปลา ก็จะหมดตามไป ผมดำน้ำอยู่ ผมรู้ดี วงจรชีวิตของสัตว์น้ำจะเปลี่ยนไป”
เพื่อรักษาวิถีชีวิตและท้องทะเลที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชน ชาวคลองด่านราว 1,500 คนได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2542 และยื่นเรื่องเรียกร้องไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังการยื่นหนังสือ ก็มีกรรมาธิการชุดต่างๆ ในรัฐสภาที่เป็นตัวแทนมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้สรุปผลส่งรัฐบาล โดยมีใจความคล้ายคลึงกันว่า โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จะส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมของตำบลคลองด่าน และยังมีความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน จึงเรียกร้องให้มีการระงับโครงการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เสียงดังกล่าวยังดังไม่เพียงพอ เพราะรัฐบาลยังคงเดินหน้าอนุมัติเงินค่าก่อสร้างทุกงวดตามสัญญา
เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านคลองด่านจึงเริ่มเคลื่อนไหวกดดันด้วยวิธีอื่น ตั้งแต่การชุมนุมอย่างสงบ ไปถึงขั้นการประท้วงบริเวณหน้าทางเข้าที่ก่อสร้างโครงการราวปลายเดือนธันวาคม 2543 จนเหตุการณ์จบลงด้วยความรุนแรง
ขณะที่กระบวนการก่อสร้างรุดหน้าไปกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณไปแล้วถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ในขณะที่การต่อสู้ภาคประชาสังคมเดินหน้า ภาควิชาการก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดย ดาวัลย์ จันทรหัสคดี แกนนำชาวบ้านและนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ได้ทำการวิจัยเชิงลึกเพื่อเปิดโปงความไม่ชอบมาพากล ในชื่อ “การศึกษาวิจัยเชิงสอบสวนโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน: คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ซึ่งได้รับตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
ในที่สุด การต่อสู้ของชาวคลองด่านก็ได้รับชัยชนะ เมื่อนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศให้ระงับการก่อสร้าง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546
จากการตั้งอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนักการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้อนุมัติ 3 คน ได้แก่ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ (เสียชีวิต) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมช.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ถูกกล่าวหาว่าซื้อที่ดินแล้วนำมาขายต่อให้โครงการสมัยที่ดำรงตำแหน่ง
เดือนมิถุนายน 2550 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายวัฒนา ส่งให้อัยการสูงสุด ฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อหาใช้อำนาจหน้าที่ขณะเป็น รมช.มหาดไทย บังคับข่มขืนใจ หรือจูงใจให้ราษฎรขายที่ดินให้และบีบบังคับเจ้าหน้าที่ที่ดินออกโฉนดจำนวน 17 แปลง รวมพื้นที่ 1,900 ไร่ เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ
ศาลฎีกาฯ มีมติ 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 ว่า นายวัฒนามีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุก 10 ปี แต่นายวัฒนาไม่ได่มาฟังคำพิพากษา และหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ จนถึงทุกวันนี้
สำหรับคดีค่าโง่นั้น สืบเนื่องมาจากกรมควบคุมมลพิษได้ระงับการจ่ายค่าก่อสร้างให้กลุ่มเอ็นพีวีเอสเคจี หลังโครงการถูกระงับ เอ็นพีวีเอสเคจี จึงนำข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณา ซึ่งได้ชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าก่อสร้างที่ค้างอยู่ 4 งวด แต่กรมควบคุมมลพิษไม่ยอมรับคำชี้ขาด กลุ่มเอ็นพีวีเอสเคจี จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายค่าก่อสร้างที่ค้างอยู่พร้อมดอกเบี้ยให้แก่เอ็นพีวีเอสเคจี กรมควบคุมมลพิษยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง
(ข้อมูลจากบทความเรื่องคลองด่าน กับบทเรียนคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เว็บไซต์ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร )