ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยเบ็ดเสร็จประมาณหมื่นล้าน แก่ 6 บริษัทเอกชน ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ด้านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ขออ่านคำพิพากษาโดยละเอียด
วันนี้ (21 พ.ย.) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน สั่ง “กรมควบคุมมลพิษ” ปฏิบัติตามคำชี้ขาดคณะอนุญาโตฯ คดีสัญญาสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ่ายเงินผิดสัญญาจ่ายค่างวดงาน 4 งวด บวกดอกเบี้ย กว่า 9 พันล้าน ให้ วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง - สี่แสงการโยธาฯ - บ.ประยูรวิศว์ - บ.กรุงธนเอนยิเนียร์ - บ.เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ - บ.สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง
ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 21 พ.ย. 57 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีการก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ หรือโครงการคลองด่าน หมายเลขดำ อ.285-286/2556 ที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ยื่นฟ้อง กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้อง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้ กรมควบคุมมลพิษ ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 12 ม.ค. 54 ที่ให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินกับ บริษัททั้งหก จำนวน 4,983,342,383 บาท และจำนวน 31,035,780 เหรียญสหรัฐฯ พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,629,915,324.92 บาท และ 15,714,123.69 เหรียยสหรัฐฯ ที่เป็นเงินค่าจ้างในการออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งค่าเสียหายและดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 7,613,257,707.92 บาท และอีก 46,749,903.69 เหรียญสหรัฐฯ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 46 จนถึงวันชำระเสร็จ และให้กรมควบคุมมลพิษ คืนหนังสือค้ำประกันพร้อมชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 48 ล้านบาทให้บริษัททั้งหก ซึ่งรวมเป็นเงินที่กรมควบคุมมลพิษ ต้องชำระให้บริษัททั้งหกตามคำชี้ขาด รวมทั้งสิ้น 9,058,906,853.61 บาท เนื่องจากบริษัททั้งหกไม่ได้เป็นผู้บกพร่องเรื่องการลงลายมือชื่อในสัญญาอนุญาโตตุลาการ จากกรณีที่บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาแทนบริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ บจก.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง, สี่แสงการโยธา (1979), ประยูรวิศว์, กรุงธนเอนยิเนียร์, เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ และ นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกันใช้ชื่อ กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) เพื่อรับจ้างออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียให้กรมควบคุมมลพิษ
โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ซึ่งให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินกับบริษัททั้งหกให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด รวมทั้งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่บริษัททั้งหก
ซึ่งคดีนี้ กรมควบคุมมลพิษ ต่อสู้ว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษ ที่เข้าทำสัญญาลงวันที่ 20 ส.ค. 40 สำคัญผิดในตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีในนิติกรรม และสำคัญผิดในทรัพย์สิน โดยกิจการร่วมเอ็นวีพีเอสเคจี ทำการทุจริตหลอกลวงกรมควบคุมมลพิษ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบว่า บจก.นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่ได้ร่วมเป็นคู่สัญญา ซึ่งการหลอกลวงนั้นทำให้ กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ได้เงินจากกรมควบคุมมลพิษไป เพราะหากไม่มี บจก.นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อยู่ในกิจการร่วมค้า ก็จะไม่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม และไม่ผ่านการพิจารณาประกวดราคา ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ ได้ยื่นฟ้อง บริษัทที่ 1 - 5 กับพวกต่อศาลแขวงดุสิตในปี 2547 ในความผิดฐานฉ้อโกง และศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อปี 2552 ว่า มีการทุจริตของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และกิจการร่วมค้า ดังนั้น สัญญาที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ขณะที่ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีนี้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามขั้นตอนของกฎหมาย และชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 18 แล้ว แม้ต่อมาบริษัททั้งหก จะนำคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาร้องขอให้ศาลปกครองบังคับ เนื่องด้วยเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ก็ไม่มีผลทำให้ขั้นตอนการแต่งตั้งอนุญาโตฯ ดังกล่าวที่สมบูรณ์นั้น ต้องเสียไป
โดยเมื่อพิจารณาตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ แล้ว คณะอนุญาโตฯ วินิจฉัยข้อเท็จจริงพบว่า บริษัทได้ส่งมอบงานตามสัญญา งวดงานที่ 55 - 58 แล้วจริง เมื่อกรมควบคุมมลพิษไม่จ่ายค่างวดงาน จึงต้องตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ส่วนที่บริษัททั้งหก อ้างว่ากรมควบคุมมลพิษผิดสัญญาอีกหลายประการ ก็ไม่ปรากฏว่าบริษัททั้งหกได้พูดถึงรายละเอียดว่าผิดสัญญาเรื่องใดบ้าง จึงรับฟังได้เพียงว่ากรมควบคุมมลพิษ ผิดสัญญาที่ไม่จ่ายค่างวดงาน 55 - 58 เท่านั้น ส่วนที่กรมควบคุมมลพิษ อ้างว่า สำคัญผิดเรื่อง บจก.นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ นั้น คณะอนุญาโตฯ วินิจฉัยว่า จากการไต่สวนพยานระบุว่า กิจการร่วมค้าฯ ไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์ จึงมีผลเท่ากับ ตกลงทำกิจการร่วมค้า ฯ ลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน ดังนั้นการที่ บจก.นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ ถอนตัวไป จึงไม่ถือว่ากรมควบคุมมลพิษเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลกิจการร่วมค้า คณะอนุญาโตฯ จึงมีคำชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษ ต้องชำระเงินค่าจ้างให้บริษัททั้งหกดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นว่า มีการระบุเหตผลของการวินิจฉัยคณะอนุญาโตฯ ไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และไม่เกินคำของคู่พิพาทดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโต ฯ ดังกล่าว การที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ นั้นจึงชอบแล้ว ศาลปกครองสูงสุด โดย นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ตุลาการเจ้าของสำนวน และองค์คณะ จึงมีคำพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว