ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - น่าสนใจไม่น้อยกับ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในการยุติใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ประทานบัตรและคำขอต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ รวมทั้งคำประกาศจากปาก “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สั่งการให้ภายในสิ้นปี 2559 จะต้องไม่มีการทำเหมืองแร่ทองคำอีกต่อไป
และอาจมองต่อไปได้ว่า เรื่องนี้ “รัฐบาลทหาร” เลือกยืนอยู่ข้าง “ประชาชน” มากกว่าที่จะเอนเอียงไปทาง “นายทุน” เหมือนหลายๆเรื่องที่ผ่านมา
อาณัติสัญญาณถอยกรูดของ “รัฐบาลทหาร” ในเรื่องเหมืองทองคำ หากเป็นเพราะรับฟังเสียงประชาชนก็น่าชื่นชม แต่หากตัดสินใจลักษณะนี้เพียงเพื่อลดดีกรีกระแสต่อต้านของผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สะท้อน “นัยสำคัญ” บางประการของ คสช.เช่นกัน
เฉกเช่นเดียวกับในอีกหลายๆเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งก่อนหน้า และในห้วงเวลานี้ อย่างเรื่องร้อนๆ การพิจารณาถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่ง “อ้างว่า” เป็นกระบวนการตามขั้นตอนปกติ เมื่อมี “จำเลย” ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา
แต่หนึ่งในจำเลยคดีดังกล่าว ดันมีชื่อคุ้นหู “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) น้องชายของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มากบารมีแห่ง คสช. และอีกสถานะก็เป็นลูกพี่เก่าของ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.คนปัจจุบัน
ต้องจับตาว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช.ของ “ประธานกุ้ย” ผู้ซึ่งสลัดไม่หลุดความเชื่อมโยงกับ “บิ๊ก คสช.” จะเดินเกมต่อไปอย่างไร ดื้อดึงตามธงที่ตั้งไว้ หรือรับฟังความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ที่ได้เสนอข้อสรุป “ไม่สมควรถอนฟ้อง” ไปแล้วถึง 2 ครั้งก่อนหน้าที่จะมีการตั้งคณะกรรมการฯเสียอีก
แน่นอนว่า “ธง” ที่เกี่ยวกับคดีสลายพันธมิตรฯยังมีอยู่ แต่ต้องจับตาว่าทิศทางที่ ป.ป.ช.ในยุค คสช.จะเลือกเดินทางไหน ทางหนึ่งปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ดุลพินิจของศาล ต่อสู้คดีในฐานะโจทก์ผู้ยื่นฟ้องตามหน้าที่ “อย่างเต็มที่” หรือ “หักดิบ” ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอถอนฟ้องคดี ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในสังคม ไม่เพียงแต่กระทบจิตใจความรู้สึกของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น ยังเป็นการแทรกแซงย่ำยีระบบนิติรัฐ-นิติธรรมอย่างชัดเจน เชื่อว่าจะเป็น “ปมร้อน” ที่อาจสร้าง “กลุ่มต้าน คสช.” ขึ้นอีกกลุ่มก็เป็นไป
หากท้ายที่สุด ป.ป.ช.เลือกทางแรกโดยตามกระบวนการตามที่ “บิ๊กตู่” พร่ำบอกมาตลอด ก็น่าชื่มชม แต่หากเลือกทางแรกเพียงเพราะเลี่ยงจากกระแสต่อต้าน ก็สะท้อน “นัยสำคัญ” บางประการของ คสช.อีกเช่นกัน
อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ แนวคิดการออกกฎหมายในรูปแบบ พระราบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) “รอการกำหนดโทษ” ของ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งใช้ “ข้ออ้าง” ว่า เป็นไปเพื่อความปรองดอง โดยผู้ที่ได้รับการรอกำหนดโทษ ต้องสารภาพความผิดต่อศาลก่อน จากนั้นจะได้รับการรอการกำหนดโทษ
พูดง่ายๆจะไม่ติดคุก แต่ต้องสารภาพรับผิดต่อศาล คล้ายกับกรณีการรอลงอาญา โดยที่จะมีมาตรการอื่นๆ หรือ “เงื่อนไข” มาควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดอีก
พลันที่ “สปท.เสรี” จุดพลุประเด็นนี้ขึ้นมา เสียงต่อต้านก็ขจรขจายไปในวงกว้าง กลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าข่าย “ได้รับประโยชน์” จากไอเดียนี้ ต่างออกมาคัดค้านในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯที่ยืนหยัดมั่นคงในการขอต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนกลุ่ม กปปส. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. ที่แม้ไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่มีทีท่าจะสนับสนุน แถมคัดคอด้วยว่า การที่ “เสรี” ผู้ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่สมัย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาจนถึง สปท.ราวกับปวารณาตัวรับใช้ คสช.เป็นผู้เปิดประเด็น ก็ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนมากกว่า “โยนหินถามทาง” แนวถนัดของ คสช.
เมื่อมีแต่คนส่ายหัว-ส่ายหน้า ไม่ทันไร “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่แห่ง คสช.ก็ออกมา เล่นตามบท ลู่ตามลม ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับไอเดียของ “เสรี” และเห็นว่าจะสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม แต่ก็ไม่ห้ามปรามอะไรจริงจัง ยังปล่อยให้มีการนัดหมายระหว่าง ทีม สปท. กับทีมกฎหมายของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯกฎหมาย เพื่อ “ตกผลึก” ร่วมกันอยู่เลย
ขณะที่ตัว “สปท.เสรี” เองก็เหมือนประกาศยุติแนวคิดไปแล้ว แต่ยังไม่ทันข้ามวันก็กลืนน้ำลาย ยืนยันว่าไม่เคยถอดใจในเรื่องนี้ ประเด็นนี้ก็เช่นกันที่ทำให้ประเมินได้ถึง “นัยสำคัญ” บางประการของ คสช.
“นัยสำคัญ” ที่สะท้อนมาจากทั้ง 3 เรื่อง 3 ประเด็นร้อนข้างต้น ผูกโยงได้กับสถานะการตัดสินใจของ คสช. หากเป็นในช่วงต้นที่ “บิ๊กตู่” และคณะเข้ามายึดอำนาจการปกครอง 22 พฤษภาคม 2557 ก็เชื่อว่าทั้ง 3 เรื่องที่ว่าคงมีการดำเนินการอย่างปุบปับรวบรัดกว่านี้ โดยไม่มีอาการ “ยึกยัก” ให้เห็นอย่างที่เป็นอยู่
ในห้วงแรกที่ คสช.เข้ามา ต้องยอมรับว่า “เรตติ้ง” ความนิยมของ “ขุนทหาร” พุ่งปรู๊ดปร๊าดจากความรู้สึกเบื่อหน่ายกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง แต่ 2 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า “เรตติ้ง” ความนิยมของ “ขุนทหาร” ลดฮวบฮาบ จากทั้งผลงานรัฐบาลที่อาจจะพูดได้ว่า ไม่ประสบความสำเร็จในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง สถานการณ์ภัยแล้ง ตลอดจนการแก้ปัญหาที่หมัดหมมไว้ต่างๆ ที่สำคัญประเด็นการปฏิรูปที่ถูกชูเป็น “วาระแห่งชาติ” ก็เลอะเลือนเกินกว่าที่จะจับต้องได้เป็นรูปธรรม ที่สำเร็จแต่ไม่ถึงกับชูหน้าชูตาได้ก็คงเป็นประเภทการจัดระเบียบสังคมต่างๆเท่านั้น
เหมือน “บิ๊ก คสช.” เองก็สัมผัสได้ถึงความนิยมที่ตกต่ำที่เกิดขึ้น การขยับขับเคลื่อนวาระใดก็ตามแต่ ดูจะ “เงอะงะ – ละล้าละลัง” ไปหมด ไม่มั่นใจในอำนาจที่อยู่อยู่ล้นมือเหมือนช่วงแรกๆที่เข้ามาบริหารประเทศ
ล่าสุดก็เกิดประเด็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ขยี้เรื่องความตกต่ำของคะแนนนิยม คสช.ขึ้นอีก เมื่อมีการเปิดเผยถึงกำหนดการกิจกรรม “นายกรัฐมนตรีพบเพื่อนครู” ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ที่ศูนย์ประชุมอิมเพคเมืองทองธานี จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยกำหนดการที่หลุดออกมาก่อนงานพบว่ามีช่วงหนึ่งแจกแจงขั้นตอนการดำเนินงานแบบละเอียดยิบให้เหล่าผู้ร่วมงานต้องทำอะไรบ้าง
“เวลา 14.00 น. เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงห้องประชุม ขอให้ทุกคนปรบมือต้อนรับ (โดยไม่ต้องลุกขึ้นนั่ง) จากนั้นนายกฯ จะไปนั่งตรงโซฟาที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ก็ขอให้ทุกคนหยุดปรบมือ
เวลา 15.15 น. เมื่อนายกฯ พูดจบ พิธีกรจะกล่าวขอบคุณ (จังหวะนี้จะมีสัญญาณมือ) ให้ทุกคนพูดพร้อมกันว่า “นายกฯ สู้ๆ”
สิ่งที่ระบุในกำหนดการที่ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับอีเว้นท์ที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเข้าร่วม โดยเฉพาะในสมัยที่ “นักการเมือง” เรืองอำนาจ แต่ก็เป็นการ “ละไว้ในฐานที่เข้าใจ” ไม่เคยปรากฎระบุขั้นตอน-วิธีปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนถึงเพียงนี้
ร้อนถึง “เสธ.ไก่อู” พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเหนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาชี้แจงว่าเป็นฝีมือของ “ทีมออร์กาไนซ์เซอร์” ที่อยาก “เอาใจ” นายกรัฐมนตรี
อาจจะเป็นคงวามหวังดีของ “ทีมออร์กาไนซ์เซอร์” หรือเป็นออเดอร์ที่สั่งมาจาก “ผู้ใหญ่” ก็ตาม แต่ก็เป็นเหมือนการสารภาพว่า ความศรัทธา ความชื่นชม คะแนนนิยม ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกจริงๆของผู้ร่วมงาน แต่เป็นการปรุงแต่งสร้างภาพขึ้นเท่านั้น
สอดคล้องกับความนิยทม-การยอมรับในตัว “ท่านผู้นำ” ที่มีทั้งอำนาจ-บารมี แต่กับคนบางกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มต้าน คสช.ด้วยซ้ำ ก็ยังเห็น “บิ๊กตู่” เป็นที่ตลกขบขันมากกว่าที่จะแสดงความชื่นชม การออกอากาศ “รายการคืนความสุขให้คนในชาติ” ถูกนำมาใช้เป็นทุกหยอกล้อกันว่า เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนประหยัดไฟ ทำการปิดทีวีกันอย่างพร้อมเพรียง เป็นต้น
ในจังหวะที่ อาการของ “รัฐบาล คสช.” เริ่มซวนเซไปตามสถานการณ์ เสถียรภาพโดยรวมภายใต้อำนาจที่มีเริ่มพบปัญหาที่หนักขึ้นทุกขณะ มีการยกทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ให้เสมือนเป็นเวทีกับการลงมติ “ไว้วางใจ/ไม่ไว้วางใจ” รัฐบาล คสช.
หลายฝ่ายมองว่า คะแนนเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบร่างประชามติ จะเป็น “ตัวชี้วัด” ว่า รัฐบาล คสช.จะอยู่หรือต้องไป หรือต้องมีการปรับเปลี่ยน “รีโนเวท” ตัวเองเสียใหม่
ในอารมณ์ที่คนเริ่มเบื่อหน่าย “ทหาร” นี่เอง น่าสังเกตว่ามี “พลเรือน” หลายรายเริ่มออกแอคชั่น จนสามารถมโน-จินตนาการไปได้ว่าเป็นการโชว์ตัวของ “แคนดิเคตนายกฯ” ในอนาคต เป็นตัวตายตัวแทน “นายกฯตู่” ที่เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง
รายแรก วิกรม กรมดิษฐ์ มหาเศรษฐีแห่งเครืออมตะ ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กแฟนเพจแสดงความคิดเห็นเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่น 6 คน ทำร้ายชายพิการจนเสียชีวิต โดยเสนอให้ใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ด้วยประโยคที่ว่า “ประหารชีวิตคนเลวๆ สักหมื่นคน ประเทศไทยไม่สูญพันธุ์อย่างแน่นอน” ทำใหเมีผู้ไปกดไลค์กดแชร์กันอย่างล้นหลาม เป็น “วิกรม” ผู้ซึ่งระมัดระวังในการแสดงข้อคิดเห็นโดยยึดหลักธรรมะเป็นหลัก ที่สำคัญยังเลือกประเด็นในการออกแอคชั่น หากติดตามก็จะพบว่า ไร้ข้อติติงเสนอแนะเกี่ยวกับ “ผู้มีอำนาจ” ไม่ว่าการเมืองสมัยใดก็ตามแต่ ล่าสุดพิสูจน์ได้อย่างดีกับการออกมารุมขย้ำ “เด็กแว้น” ผู้ไร้ราคาในสังคม
คงต้องบอกว่าเป็นที่รู้กันในวงใกล้ชิดเรื่องความฝันอันสูงสุดของ “เจ้าของอมตะนคร” กับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไทย สำทับกับข้อความของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่โพสต์เฟซบุ๊กหลังจากที่ “วิกรม” แสดงความเห็นให้ประหารชีวิต 5 เด็กแว้นซ์ไว้ว่า ก่อนรัฐประหารไม่นาน ได้มีโอกาสทานข้าวกับ “วิกรม” มีผู้ร่วมโต๊ะด้วยประมาณ 6-8 คน มีช่วงที่ “วิกรม” โชว์วิชั่น ที่หนักไปในทางยกยอปอปั้นตัวเอง รวมทั้งไม่ปฏิเสธเสียงกระเซ้าให้เป็น “นายกฯคนกลาง” เสียด้วย
รายต่อมา เจ้าของสมญานาม “วีรบุรุษประชาธิปไตย” ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เลือกจังหวะออกมาให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองในรอบหลายๆปี โดยเน้นไปที่ “วาระปฏิรูป” ที่ดูท่ารัฐบาล คสช.คงผลักดันไม่สำเร็จ ช่วงเดียวกันนี้ก็มีการออกพ๊อกเก๊ตบุ๊ค “แกะดำโลกสวย” ที่รวบรวมแง่มุมอันสะท้อนตัวตน วิธีคิด ทัศนคติ ของ “ดร.อาทิตย์” ผ่านบริบทเหตุการณ์สำคัญของประเทศในยุคต่างๆไว้อย่างละเอียดยิบ
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีประเด็นการทุจริตสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกัน ส่งให้ “ดร.อาทิตย์” โชว์ฟอร์มความเป็นผู้นำ ใช้ความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา จนได้รับเสียงชื่นชมในวงกว้างอีกด้วย
ทั้งหลายทั้งปวงเป็นการฉายภาพการเมืองไทยในขณะนี้ ที่ “รัฐบาล คสช.” เริ่มติดบ่วงอำนาจ ในยามที่ความนิยมถดถอย อารมณ์เบื่อหน่ายทหารมีให้เห็นไปทั่ว ขณะเดียวกัน “เซเลปพลเรือน” ก็เริ่มขยับแต่งเนื้อแต่งตัว คล้ายกับมีสัญญาณบางประการที่บุคคลในข่ายตีความกันว่าอาจจะมีการ “เปลี่ยนม้ากลางศึก”
ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่า “รัฐบาลขุนทหาร” จะยื้อไปได้อีกกี่น้ำ.