xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ได้เวลาเลิกแกล้งโง่ ปปง.อายัดค่าโง่ 6 พันล้าน รื้อคดีคลองด่านใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากพากัน “แกล้งโง่” คลำหาทางออกไม่เจอมานานนับทศวรรษใน “คดีบ่อบำบัดน้ำ เสียคลองด่าน” ในที่สุด ก็ถึงเวลาเลิกแกล้งโง่กันเสียที เพราะมิฉะนั้นลูกหลานรุ่นหลังคงหัวเราะเยาะความบรมโง่ของบรรพบุรุษรุ่นนี้กันจนฟันหักแน่ๆ

ว่าแล้ว พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. ก็ออกมาแสดงถึงความฉลาดปราดเปรื่องให้เห็นเป็นขวัญตา และดูท่ายังมีอีกหลายคน หลายหน่วยงาน ที่แสดงท่าทีเฉลียวฉลาดและอยากไถ่บาปจากการนั่งกลบทับปัญหานี้มานาน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หลายสมัย ผู้รู้ตื้นลึกหนาบางในคดีคลองด่านเป็นอย่างดี

หรือแม้แต่ “ครม.บิ๊กตู่” และท่าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ที่ประเหมาะต้องมารับเผือกร้อนสั่งจ่ายค่าโง่พอดี ก็คงอยากร่วมด้วยช่วยกันล้างความโง่ในการต่อสู้คดีนี้ เพราะเงินที่รัฐจ่ายให้เอกชนนั้นก็เอามาจากภาษีประชาชน

อย่างที่ว่าคดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เป็นมหากาพย์ระดับตำนานที่มีหลากหลายเรื่องราวซับซ้อนซ่อนเงื่อน มีคดีความฟ้องร้องกันหลายคดีที่ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกัน คราวนี้มาว่ากันเฉพาะความเคลื่อนไหวล่าสุดจาก ปปง.ที่มีคำสั่งอายัดค่าโง่ และข่าววงในที่สำนักข่าวอิศรา ไปคุ้ยแคะมาบอกเล่าต่อสาธารณะว่าจะมีการรื้อฟื้นคดีคลองด่านกันใหม่

เรื่องของเรื่อง ก็คือว่าก่อนหน้าที่ศาลอาญา จะมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม2558 เอาผิดข้าราชการกรมควบคุมมลพิษและกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่ร่วมกันกระทำการทุจริตนั้น ทางรัฐบาลได้จ่ายเงิน “ค่าโง่” งวดแรกให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 จำนวน 2,380,936,174.53 บาท และ16,288,391.55 เหรียญสหรัฐ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้มีการบังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 12 มกราคม 2554 ที่ให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ที่ว่ารัฐเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องจ่ายค่าเสียหายตามที่กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ เรียกร้อง และครม.มีมติเห็นชอบให้จ่ายค่าโง่กว่า 9,600 ล้านบาท

แต่เมื่อศาลอาญา ตัดสินคดีออกมาชัดแจ้งหลังจากมีการสั่งจ่ายค่าโง่งวดแรกไปแล้ว ว่าค่าโง่ที่เอกชนเรียกร้องให้รัฐต้องจ่ายฐานผิดสัญญานั้น มันมีความไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น ปปง.จึงพลิกเกมกลับและผูกโยงเอาคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สั่งฟันนายวัฒนา อัศวเหม ติดคุกสิบปีเข้ามาเพิ่มน้ำหนักในการสั่งอายัดค่าโง่ครั้งนี้ด้วย

ตามคำแถลงของ พ.ต.อ.สีหนาท เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ระบุว่า จากผลคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ได้พิพากษาลงโทษนายวัฒนา อัศวเหม ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ลงโทษจำคุก 10 ปี ฐานใช้อำนาจข่มขู่ หรือจูงใจ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบจำนวน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณะประโยชน์และที่ทิ้งขยะซึ่งเป็นที่หวงห้ามเพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ

และต่อมา ศาลอาญา ได้มีคำพิพากษาในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม2558 ซึ่งพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จำเลยที่ 1 นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จำเลยที่ 2 และ นางยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน ทำให้รัฐจัดซื้อที่ดินที่ออกโดยมิชอบ ต้องจ่ายค่าที่ดินและค่าก่อสร้างโครงการไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่ไม่สามารถดำเนินโครงการเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ และจากกรณีดังกล่าวมีกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการวางแผนและการดำเนินการตามแผนเพื่อเอื้อประโยชน์หลายขั้นตอน

ตามคำพิพากษาในคดีอาญา ศาลฯ ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า “กิจการร่วมค้า NVPSKG และกลุ่มเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริง ดำเนินการเสนอเข้าประกวดราคาในแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต มีจำเลย 3 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยเลือกดำเนินการแต่ละขั้นตอนไปในทางที่ขัดต่อระเบียบทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และไม่ชอบด้วยกฎหมาย สนองรับดำเนินการให้อันเป็นการทุจริต และเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือจนทุกๆ ขั้นตอนบรรลุผลสำเร็จ”

หลังจากศาลอาญา มีคำพิพากษา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้มีหนังสือที่ ปช 0001.10/0004 ลงวันที่ 27 เมษายน 2559 ส่งข้อมูลกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตต่อหน้าที่มายังสำนักงาน ปปง. และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือที่ ตผ 0005/0421 ลงวันที่ 27 เมษายน 2559 ขอให้สำนักงาน ปปง.ใช้อำนาจยึดหรืออายัดผู้ร่วมกระทำความผิดคดีคลองด่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินงวดที่สองจะถึงกำหนดจ่ายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559

“นอกจากนี้ จะมีคำสั่งส่งไปยังกรมควบคุมมลพิษ ไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้กับกลุ่มการค้า NVPSKG ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐผิดสัญญาอย่างใดแต่กระบวนการได้มาเพื่อนำเงินมาจ่ายกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นสัญญาโดยมิชอบ เพราะสัญญาที่ทำขึ้นเป็นสัญญาผิดกฎหมายตั้งแต่แรก ทำให้ ปปง. ต้องอายัดทรัพย์สิน”พ.ต.อ. สีหนาท กล่าว

พ.ต.อ. สีหนาท ให้รายละเอียดของมติที่ประชุม ปปง. ด้วยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม2559 ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ในการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากโครงการออกแบบร่วมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษ จะต้องจ่ายให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG จำนวน 2 งวด โดยให้มีผลในวันที่ครบกำหนดชำระในแต่ละงวด

ประกอบด้วย 1.สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินงวดที่สอง เป็นเงินจำนวน 2,380,936,174.53 บาท และ 16,288,391.55 เหรียญสหรัฐอเมริกา ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป และ 2.สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินงวดที่สาม เป็นเงินจำนวน 2,380,936,174.53 บาท และ 16,288,391.55 เหรียญสหรัฐอเมริกา ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป รวมมูลค่าตามสิทธิเรียกร้องในหนี้ จำนวน 4,761,872,349.06 บาท และ 32,576,783.10 เหรียญสหรัฐอเมริกา

รักษาการเลขาธิการ ปปง. อธิบายเพิ่มเติมว่า ปปง. ดำเนินตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรน่าเชื่อว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG กับพวก ซึ่งเข้ายึดถือ ครอบครอง และแสวงประโยชน์จากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่เป็นคลองสาธารณะที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง และเป็นที่ทิ้งขยะของทางราชการ ที่ออกโฉนดมาโดยมิชอบ เป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากร ธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะในทางการค้า อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

นอกจากนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG กับพวก ยังได้มีส่วนร่วมเป็นผู้สนับสนุน หรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และได้รับประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สินจากการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ของนายวัฒนา อัศวเหม กับพวก และนายปกิต กิระวานิช กับพวก ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

“กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ต้องมาชี้แจงกับ ปปง. ภายใน 30 วันหลังได้รับหนังสือ ว่าเงินที่ได้มาสุจริตหรือไม่ สัญญาที่ทำกันไว้ถูกกฎหมายหรือไม่เพื่อหักล้างคำพิพากษาของศาลอาญา ถ้าสามารถชี้แจงได้ก็เพิกถอนคำสั่งแต่หากชี้แจงไม่ได้เตรียมส่งเรื่องให้ศาลแพ่งดำเนินการต่อไป ส่วนเงินงวดแรกที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน” รักษาการเลขาธิการ ปปง. กล่าว

สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ประกอบด้วย บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัทสี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, บริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัทสมุทรปราการ ออฟเปอร์เรทติ้ง จำกัด

ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศรา ด้วยว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านฝ่ายกฎหมาย กับนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้หารือกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งชี้ขาดตามคณะอนุญาโตตุลาการให้รัฐบาลชดใช้เงินค่าเสียหายคดีกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า จะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดให้รื้อฟื้นการพิจารณาคดีขึ้นมาใหม่ โดยใช้คำพิพากษาศาลอาญาที่ให้จำคุกอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและพวก รวมถึงบริษัทเอกชน โดยชี้ให้เห็นว่ามีการร่วมมือกันทุจริตระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ทำให้เห็นว่าเป็นสัญญามิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในขณะที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำวินิจฉัย ศาลอาญายังไม่ได้คำพิพากษาคดีดังกล่าวออกมา ซึ่ง สตง.จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี อ้างคำพิพากษาศาลอาญาว่า มีการทุจริตเพื่อสั่งให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ฟื้นคดีขึ้นมาเป็นทางการอีกครั้ง และให้ ปปง.สั่งอายัดค่าโง่ดังกล่าวข้างต้น

นอกจากนั้น ยังจะใช้แนวคำพิพากษาศาลฎีกา คดีค่าโง่ทางด่วนบางนา-บางปะกง 6,000 ล้านบาท ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นสัญญาไม่ชอบกฎหมายเพราะมีการทุจริตตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดใช้ให้กับบริษัทเอกชน มาเป็นแนวทางในการต่อสู้คดีนี้ด้วย

การอายัดค่าโง่และรื้อฟื้นคดีคลองด่านใหม่ จะโชว์ความฉลาดปราดเปรื่องของรัฐบาล คสช. ได้หรือไม่ รอติดตามชมกันต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น