xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก สารพัดเรื่องรุมยำ สนช. ม.44สกัดผู้ตรวจฯ ถึงไม้สักสภาฯหรู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเสมือนจริงอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย โยมีชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน” ที่แปลว่าสถานสบาย หรือสถานประกอบความดี
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“มีงานเข้าๆๆ” น่าจะเป็นบทเพลงดังที่จำกัดความถึง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม่น้ำสายหนึ่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในยามนี้ได้ดีทีเดียว เหตุก็มาจากเรื่องวุ่นๆที่ประดังประเดเข้ามาไม่หยุดหย่อนตลอดช่วงระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ไล่ตั้งแต่การที่คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงมติเลือก นพ.เรวัต วิศรุตเวช ให้เป็นผู้เหมาะสมสำหรับตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ และส่งต่อให้ สนช.ลงมติรับรองในขั้นสุดท้าย แต่เผอิญที่ประชุม สนช.ก็เพิ่งลงมติไม่เห็นชอบ “หมอเรวัต” ในตำแหน่งเดียวกันนี้มาแล้วหนหนึ่ง เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนน 66 ต่อ 66 เสียง งดออกเสียง 24 เสียง ไม่ได้เสียงกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด ตีกลับเรื่องไปให้คณะกรรมการสรรหาฯเสนอชื่อเข้ามาใหม่

พลันที่มีชื่อ “หมอเรวัต” กลับเข้ามาที่ สนช. ได้สร้างความกระอักกระอ่วนใจในหมู่สมาชิก สนช.เป็นอย่างมาก ขั้วหนึ่งยืนกรานถึงความไม่เหมาะสมที่เคยอภิปรายกันอย่างดุเดือดไปเมื่อครั้งก่อน ที่มีทั้งข้อหาอิงแอบฝ่ายการเมือง มีความใกล้ชิดกับนักการเมืองสายพรรคเพื่อไทย และประวัติการถูกร้องเรียนสมัยรับราชการ ตลอดจนการเปลี่ยนชื่อ-สกุลผิดวิสัยของข้าราชการระดับสูง

ขณะที่ สนช.อีกขั้วหนึ่งพร้อมให้การสนับสนุน “หมอเรวัต”เต็มที่ ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามี “ใบสั่ง” จาก “พี่ใหญ่ คสช.” ที่เชื่อมโยงกับค่ายการเมือง “สีน้ำเงิน” จากกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังตรวจสอบ “กลุ่มคิงเพาเวอร์” เกี่ยวกับสัญญารับอนุญาตขายสินค้าปลอดอากร และสัญญาร้านค้าเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ของบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จนมีความพยายามในการวางตัว “มือปืน” เข้ามาเพื่อ “เป่าคดี” โดยเฉพาะ

ในชั้นของคณะกรรมการสรรหาฯก็มีสัญญาณแห่งความวุ่นวายพอสมควร เมื่อมีการโหวตกันถึง 30 รอบกว่าจะเคาะชื่อ“หมอเรวัต” ออกมา เนื่องจากในกรรมการสรรหาฯมีจำนวนเป็นเลขคู่หรือ 6 คน ตลอด 29 รอบโหวตยันกัน 3 ต่อ 3 เสียง ก่อนที่จะล็อบบี้กันสุดฤทธิ์พลิกคะแนนเป็น 4 ต่อ 2 เสียงเลือก “หมอเรวัต”ที่ตลกร้ายก็ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. หนึ่งในกรรมการสรรหาเป็นผู้หนึ่งที่โหวตเลือก “หมอเรวัต” ตั้งแต่รอบแรก

เป็น “ท่านประธานพรเพชร” ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม สนช.เมื่อครั้งโหวตไม่รับรอง “หมอเรวัต” แต่ก็เหมือนไม่เห็นหัวเพื่อนสมาชิก สนช. ไปร่วมในขบวนการยัดชื่อกลับมาอีก จนทำให้ความวุ่นวายลามมาถึง สนช. ตั้งแต่การลงมติรับหลักการวาระที่ 1 มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตรอบสอบประวัติ แต่ก็เกิดความไม่คาดฝันเมื่อมี กมธ. 3 รายขอลาออกตั้งแต่ยังไม่ได้ประชุมนัดแรก

ในขณะที่ สนช.กำลังตั้งลำตรวจสอบประวัติ “หมอเรวัต”ท่ามกลางความกังวลว่า หากดึงดันต่อจะนำไปสู่ภาวะ “ทางตัน” ขัดกับหลักธรรมเนียมประเพณีของสภาฯ ซึ่งบางส่วนประเมินว่า ไม่เพียงแต่ทำให้ สนช.ต้องถูกตั้งคำถามจากสังคมแล้ว หากมีรายการ “กลืนน้ำลาย” กลับมติตัวเองเกิดขึ้น ยังอาจจะมี “เอฟเฟ็กต์” ลามไปถึง คสช.ด้วย

จู่ๆ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ชัก “กระบองยักษ์” มาตรา 44 ทุบเปรี้ยงสั่งยุติกระบวนการสรรหาตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหมด จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เพียงแต่องค์กรอิสระอื่นๆหมดวาระ แต่งตั้งใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว เหลือก็แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินนี่แหละ เท่ากับว่าเป็นคำสั่งที่ออกมาสำหรับกรณีของ “หมอเรวัต” โดยเฉพาะ และก็เท่ากับสกัดเส้นทางของ “หมอเรวัต” ไปในตัวนั่นเอง

เบื้องลึกเบื้องหลังไม่มีอะไรมาก ก็ “ทั่นพรเพชร” กุนซือกฎหมายคู่ใจ “บิ๊กตู่” ที่เหมือนเพิ่งสำนึก และ สนช.สาย “เพื่อนตู่” ที่ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) ตบเท้าไปพบหัวหน้า คสช.เพื่อขอให้ใช้อำนาจ “ผ่าทางตัน” ก่อนที่จะมีคำสั่งออกมานั่นเอง เพราะหากปล่อยลากเข้าโหวตลงมติรับรอง อาจจะคุมเกมไม่อยู่

ส่วนใครจะไปมองว่าเป็น “สงครามตัวแทน” กระเทาะรอยร้าวระหว่าง “บิ๊กผู้พี่ - บิ๊กผู้น้อง” ก็คงจะไม่ผิดนัก

ในช่วงไล่เลี่ยกัน “พรเพชร” ก็ลงนามคำสั่งลงโทษ 2ข้าราชการระดับสูงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รายหนึ่งคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถูกปลดออกจากความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่รอบคอบ ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการดินในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทำให้กระทบต่อแผนงานก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า อีกรายมีคำสั่งไล่ออก สมชาติ ธรรมศิริ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ในข้อหาผิดวินัยร้ายแรง ใช้ตำแหน่งประธานกรรมการสโมสรรัฐสภาและผู้จัดการสโมสรรัฐสภา อนุมัติให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯยืมเงินของสโมสรรัฐสภาจำนวน 3.4 ล้านบาทเศษ โดยไม่มีอำนาจและไม่มีกฎหมายรองรับ

ผลพวงจากการลงโทษ “2 บิ๊กข้าราชการ” หนนี้ก็เหมือนกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมโยงและตั้งคำถามถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งคำสั่งปลด “คุณวุฒิ” นั้นชัดเจนว่ามาจากความล่าช้าของโครงการฯ ขณะที่ “สมชาติ” แม้ถูกลงโทษด้วยข้อหาอื่น แต่ก็มีความเกี่ยวพันกับโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ โดยเป็นรองประธานกรรมการบริหารจัดการดิน ชุดที่มี“คุณวุฒิ” เป็นประธาน

การขนดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาใหม่ย่านเกียกกาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการฯ ล่าช้า หากแต่มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความบกพร่องในการบริหารจัดการนั้นไม่เท่ากับความผิดปกติส่อไปในทางทุจริตแสวงหาผลประโยชน์จาก “มูลดิน” ที่ได้จากการปรับพื้นที่ราว 1 ล้านคิว ตีมูลค่าตามราคาตลาดก็ตกราวคิวละ 250 - 300 บาท รวมทั้งหมดก็ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท

จาก “มูลดิน” ที่ทีแรกถูกมองเป็นขยะส่วนเกิน ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องนำไปจำหน่ายหวังรายได้เข้ากระเป๋าสภาฯ แต่ด้วยปริมาณที่มาก จึงมีค่าราวกับทองคำขึ้นมา และถูกจ้องกันตาเป็นมันทันที โดยเฉพาะบรรดา “บิ๊กๆ” ที่อยู่เหนือกรรมการบริหารจัดการดินที่ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการ

ตั้งแต่กรณีที่ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอรับบริจาคดินที่ได้จากการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวน 5 แสนคิวเพื่อนำไปใช้ในกิจการของมูลนิธิฯ และเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่ง สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในตอนนั้น ก็อนุมัติตามที่ขอ แต่จากนั้นไม่นาน ดิศธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชาฯ ก็มีหนังสือขอระงับการบริจาคดิน พร้อมแจ้งว่าไม่ทราบเรื่องการขอรับบริจาค และไม่ทราบว่ามีการนำดินออกไปถมบริเวณใด

จากหนังสือที่ขัดกันของมูลนิธิราชประชาฯนี้เอง ทำให้มีการแกะรอยตามหามูลดินที่อ้างว่าบริจาคไป ก็ปรากฏว่า ไปโผล่ในที่ดินของเอกชนย่านนวมินทร์ 42 กทม. ซึ่งมี “บิ๊กอสังหาฯ” เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และปัจจุบันสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรร เปิดจำหน่ายไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อเรื่องแดงขึ้นมา จเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้นที่เข้ามาทำหน้าที่แทน “สุวิจักขณ์” ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น แต่ผลสรุปก็ไม่มีผู้ใดถูกลงโทษ และที่สำคัญจนป่านนี้ก็ยังไม่มีเรียกคืนมูลดิน หรือหากมาตรการให้มีการชดใช้ทรัพย์ของราชการที่เสียไปแต่อย่างใด

ถัดมาเป็นกรณีของ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีโครงการถมที่ดินเพื่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่พิบูลสงคราม ย่านสะพานพระราม 7 คณะกรรมการบริหารจัดการดิน ได้เสนอความเห็นต่อ “เลขาฯจเร” เพื่อเสนอขายมูลดินจำนวน 2 แสนคิวให้แก่ธนาคารกรุงไทย ในราคามิตรภาพระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งยังไม่เสียค่าขนส่ง เนื่องจากในสัญญาก่อสร้างสภาฯ ใหม่ กำหนดให้ผู้รับเหมาเป็นผู้ขนส่งดินโดยไม่คิดค่าบริการ ในจุดที่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ไม่ถึง 10 กิโลเมตร
ภาพแบบจำลองภายในห้องโถงรับรอง ส.ส.-ส.ว. ในอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งมีลักษณะของเสาทรงกลมจำนวนมาก โดยในแบบทางสถาปัตยกรรมกำหนดให้ใช้ไม้สักจำนวนทั้งสิ้น 4,534 ต้นด้วยกัน
มีการยืนยันว่า การประสานงานซื้อ-ขายในระดับเจ้าหน้าที่มีแนวโน้มว่าจะไปด้วยดี แต่ท้ายที่สุด ธนาคารกรุงไทยกลับไปรับซื้อดินจากเอกชนในราคาคิวละ 250 บาท รวมมูลค่าราว 57.5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มูลดินที่เอกชนประมูลจากไป สำนักงานเลขาธิการสภาฯไปราคาเพียงคิวละ 25 บาทเท่านั้น จำนวน 2 แสนคิวคิดเป็นเงินเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น

มาจนถึงมูลดินกองสุดท้าย จำนวน 2.9 หมื่นคิว ซึ่งได้ทำการประกาศขาย เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2558 แต่ก็ไม่มีผู้สนใจรับซื้อ ทางคณะกรรมการบริหารจัดการดินได้เสนอให้ สายทิพย์ เชาวลิตถวิล เลขาธิการสภาฯ คนปัจจุบัน ให้นำมูลดินที่เหลือไปในที่ดินย่านคลองสาน กทม. ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาฯกำหนดเป็นที่ก่อสร้างอาคารที่พักสวัสดิการข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ซึ่งห่างจากพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ไม่ถึง 10 กิโลเมตร ผู้รับเหมาต้องผู้ขนส่งดินโดยไม่คิดค่าบริการเช่นกัน แต่ “สายทิพย์”กลับไม่เห็นด้วย ยืนกรานที่จะขายทอดตลาด เมื่อไม่มีผู้ยื่นขอซื้อ ทำให้ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ต้องมาช่วยซื้อเพื่อตัดปัญหา

จากกรณีที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า มีความพยายามทำให้เกิด“ช่องโหว่” ในการแสวงหาผลประโยชน์จากมูลดิน มากกว่าจะรักษาประโยชน์ให้แก่สภาฯ หรือราชการ ยิ่งไปกว่านั้น “คนระดับตัดสินใจ” ในแต่ละยุค ก็ไม่ฟังข้อเสนอ คณะกรรมการบริหารจัดการดิน แม้แต่น้อย ซึ่งกระทบทำให้การบริหารจัดการดินเป็นไปด้วยความล่าช้า

หลักฐานทนโท่ รู้เรื่องกันไปทั่ว แต่น่าแปลกที่ “พรเพชร” ไม่คิดจะทำไรเลย

มาถึง “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ประจำสัปดาห์ ล้อไปกับผลความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท “เลขาฯสายทิพย์” เพิ่งแถลงหน้าชื่นตาบานไปว่า ตอนนี้ผ่านไปแล้ว 21.77% ใช้เวลาไป 3 ปีเต็ม ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งเมื่อต้นปี2559 เคยแถลงว่า คืบไปประมาณ 16% ครึ่งปีผ่านได้งานมาแค่ 5% จนต้องพิจารณาต่อสัญญาให้กับเอกชนที่จะหมดในเดือนธันวาคม2559 เป็นครั้งที่ 2 ตั้งเป้าให้เสร็จไม่เกินปี 2563

ตัวเลขความคืบหน้าที่กระดึ๊บๆ ทำงานเป็นรถหวานเย็น นอกจากความช้าที่เหลือเชื่อแล้วก็ไม่ค่อยเป็นที่สนใจของสาธารณชนเท่าไร จะเสร็จไม่เสร็จก็เป็นเรื่องนักการเมือง คนที่อยู่ในกระดานอำนาจมากกว่า

แต่ที่มันโจษจันจนเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะมีสะพัดในสังคมออนไลน์ว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ไปตระเวนเสาะหาต้นสักจำนวนมาก เพื่อเตรียมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างรัฐสภาใหม่ที่มีชื่อสวยหรูว่า “สัปปายะสภาสถาน” โดยได้ประสานผ่านทาง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ไว้

ฟังทีแรกก็นึกว่า เป็นข่าวประเภทเขาเล่าว่า พอเช็คไปที่ประลอง ดำรงค์ไทย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ก็โป๊ะเชะ “คอนเฟิร์ม” ว่าเรื่องจริง แถมล็อกเป้ากันไว้เสร็จสรรพ เจอไม้งามตามสเปกราว 2 พันต้นอยู่ที่ “สวนป่าแม่หอพระ” บริเวณเหนือเขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ ซึ่ง ออป.ขออนุญาตปลูกไว้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

ร้อนถึง “นายกฯตู่” ต้องยกหูต่อสายถึง “บิ๊กเต่า” พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้สั่งยุติทันที ตามแนวทางอนุรักษ์-ทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล และกำลังไล่เช็คบิล “นักการเมือง - บิ๊กมีสี - นายทุน - ผู้มีอิทธิพล” ที่ครอบครองที่ดินสำนักงานการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทั่วประเทศโดยผิดกฎหมาย กว่า 5 แสนไร่อยู่ในตอนนี้

แต่เรื่องมันไม่จบนะสิ นาย...

วาจาสิทธิ์ของ “บิ๊กตู่” ที่สั่งเบรกไม่ให้ยุ่งกับ “สวนป่าแม่หอพระ” ก็แค่มาตรการห้ามเลือดชั่วคราวเท่านั้น เพราะอย่างไรเสียก็ต้องหาไม้สักมาเป็นส่วนประกอบในการสร้างรัฐสภาใหม่ให้ได้อยู่ดี และก็ไม่ใช่แค่ 2 พันต้นด้วย ตามแบบสถาปัตยกรรมของ “สัปปายะสภาสถาน” ที่ “กิจการร่วมค้า สงบ 1051” ออกแบบไว้ ต้องมีเสาไม้ประดับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร รวมแล้ว 4,534 ต้นด้วยกัน

ในสัญญาว่าจ้าง “ซิโน-ไทย” ระบุไว้ชัดว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องจัดหาและติดตั้งเสาไม้สักตามแบบก่อสร้าง โดยข้อกำหนดของไม้จะต้องเป็นไปตามที่ แบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ 1 กำหนดว่า “คุณภาพของไม้ที่ใช้ต้องปฏิบัติตามรายการประกอบแบบอย่างเคร่งครัด ตรง ไม่คดไม่งอ ไม่มีกระพี้ ไม่มีตาที่ทำให้เสียความแข็งแรงหรือความสวยงาม มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี มีขนาดตามที่กำหนด ไม้เสาไม้สักทั้งหมดเป็นไม้จากป่าปลูก และไม้พื้น ผนัง ฝ้า เพดานที่เป็นไม้จริงทั้งหมด เป็นไม้จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) หรือไม้ที่ยึดได้จากการทำผิดกฎหมาย หรือไม้เก่าที่นำมาใช้ใหม่ หรือไม้ที่มิได้อยู่ในกระบวนการที่จะต้องตัดใหม่”

ขณะที่ แบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมแบบที่ 2 ระบุว่า “เสาประดับเป็นเสาไม้สักเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 ดซนติเมตร สูง 4.60 เมตร ทาน้ำยาเคลือบชนิด OIL BASE ติดตั้งเสาไม้บนฐานคอนกรีตเสริมเหล็ก ฝังแผ่นเหล็กยึดด้วยน็อตตามมาตรฐานวิศวกรรม และตามรายการออกแบบ ไม้ทั้งหมดที่ใช้ในโครงการจะต้องไม่มีข้อ บกพร่องอื่นๆ ต้องเป็นไม้ที่ผ่านการอบและผึ่งแห้งดีแล้ว ไม้ที่มีความชื้นเกิน 16% ห้ามนำมาใช้ในงานถาวร หากมีการยืดหดภายหลัง ผู้รับจ้างจะต้องแก้ไขและรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมด”

แค่อ่านสเปกไม้ก็ปวดหัวแล้ว พร้อมคำถามในหัวว่า แล้วตอนออกแบบไม่ได้คิดก่อนหรือว่า จะไปเอาไม้มาจากที่ไหน

จากปัญหาการจัดหาไม้ให้ได้ตามข้อกำหนดนี่เอง ทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯเคยต่อรอเจรจากับ “ผู้ออกแบบ” ให้ผ่อนปรนเปลี่ยนชนิดและรูปแบบของไม้ แต่ข่าวว่าทางผู้ออกแบบไม่ยินยอม ทั้งสำนักงานเลขาธิการสภาฯ และ “ซิโน - ไทย” ผู้รับเหมา ก็ต้องก้มหน้าทำตามแบบให้ได้

ล่าสุด ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการรัฐสภาแห่งใหม่ของ “กิจการร่วมค้าสงบ 1051” ได้ชี้แจง “เหตุผล - ความจำเป็น” ที่ต้องใช้ไม้สักเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยเปรียบไม้สัก เป็นเหมือน “DNA ของชาติ” ที่ผูกพันกับไม้มาเกือบ 1,000 ปี พร้อมจำกัดความว่า “ต้นสัก” เป็นต้นไม้ที่สามารถงอกงามอย่างสมบูรณ์ที่สุดในโลกด้วย

“รัฐสภา คืองานสถาปัตยกรรมที่ต้องแสดงออกถึงความเป็นชาติ และมรดกทางด้านวัฒนธรรมอันงดงามของเรา เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของชาติในรอบ 100 ปี ที่ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจนิติบัญญัติซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักในการอยู่ร่วมกันของผู้คนในบ้านเมืองอย่างสงบสุข จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่บนรากฐานนี้ และมีDNA ที่ถูกต้อง ที่ส่งสารอันทรงคุณค่าถึงคนรุ่นลูกหลานต่อไป” คือคำชี้แจงบางส่วนของประธานคณะผู้ออกแบบฯ

“คนรับจ้าง” ก็จำเป็นต้องทำตามสัญญา “คนออกแบบ”ก็ไม่ยอมบิดพลิ้วจากหลักการตัวเอง ขณะที่ “ฝ่ายรัฐ” ก็ต้องรักษาจุดยืนในการอนุรักษ์ผืนป่า แล้วจะไปยังไงกันต่อกับ “สัปปายะสภาสถาน”
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสถานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะนำสื่อมวลชนตรวจงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559
ทางด้าน “ประธานพรเพชร” ก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ สนช. เนื่องจากมีการคัดเลือกแบบ และลงนามในสัญญาก่อสร้างตั้งแต่ก่อนที่จะมี สนช. ที่ผ่านมาก็รับทราบปัญหาที่ต้องมีการใช้ไม้สักจำนวนมากมาสร้างรัฐสภา และจะมีการนัดพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกต่อไป

จะว่าไป ถ้าจะย้อนหาคนผิด จับมือใครดม ก็ต้องว่ากันไปถึงเมื่อครั้งริเริ่มโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ที่มีปัญหาตั้งแต่ต้นในทุกๆเรื่อง ทั้งพื้นที่ในการก่อสร้าง ที่มีออปชั่นให้เลือกหลายแห่ง ก่อนจะมาจบที่ย่านเกียกกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ มีหลายหน่วยงานใช้พื้นที่อยู่ ทั้งหน่วยทหาร และโรงเรียนโยธินบูรณะ เคยถึงขนาดมีการประท้วงต่อต้านโครงการมาแล้ว และเป็นปัญหาเรื้อรังในการเคลื่อนย้านส่งมอบที่ดิน ที่จนป่านนี้ก็ยังมีชุมชนบางส่วนไม่ออกจากพื้นที่

ตลอดจนการประกวดแบบก่อนจะเป็น “สัปปายะสภาสถาน” ที่บ้างก็ว่าสวยงามเลิศหรู บ้างก็ว่าเหมือนวัด ซึ่งคนออกแบบก็เปรียบเป็นห้องพระของชาติ จะได้ทำแต่ความดี ไม่ทำชั่วกัน ว่าไปนู้นน.. บ้างก็ว่าอัปลักษณ์หรือมากเกินพอดีกะอีแค่ที่ทำงานของนักการเมือง ก่อนที่วันนี้จะมีเรื่องโค่นไม้สักทำลายป่าเข้ามาพัวพันอีก ที่ขาดไม่ได้ก็การประมูลหาผู้รับเหมา งบประมาณโครงการกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ที่แม้ “ซิโน-ไทย” ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างประเทศ แต่ก็ดิ้นไม่หลุดข้อครหาว่าได้รับการเอื้อประโยชน์จากฝ่ายการเมืองในยุคนั้น รวมทั้งการขนย้ายมูลดินหาประโยชน์กับโครงการนี้จนไม่คืบหน้าไปไหน

ต่างๆ เหล่านี้คงต้องยกเป็น “มหากาพย์” ที่ยังไม่รู้บทสรุป อาจจะสร้างเสร็จทันเดดไลน์ใหม่ในปี 2563 ก็เป็นได้ หรือหากไปไม่รอด ล้มพับโครงการไป จนเกิดกรณี “ค่าโง่” ให้มาไล่สะสางกันอีกก็เป็นได้อีกเช่นกัน

วันนี้คงสรุปได้เพียงว่า “สัปปายะสภาสถาน” กลายเป็นอีกหนึ่ง “มรดกบาป” ที่ฝ่ายการเมืองทิ้งเอาไว้.




กำลังโหลดความคิดเห็น