xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อัคราฯ ท้าชน “บิ๊กตู่” ทุบโต๊ะสั่งปิดเหมืองทองทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหมืองทองคำของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังทนทุกข์แสนสาหัสมานานนับสิบกว่าปี ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็ขี่ม้าขาวเข้ามาปลดเปลื้องปัญหา ปลดปล่อยความตายผ่อนส่งให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่รอบ “เหมืองทอง” ทั่วประเทศ แม้ว่าจะตัดสินใจมาช้าไปหน่อยแต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ชาวบ้านตาดำๆ เจ็บป่วยล้มตายไม่มีวันจบสิ้น

หากมองไม่เห็นผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันนอกจากความเลอะเทอะเหลวไหลไล่จับคนเห็นต่างของ คสช. แล้วละก็ ผลงานการสั่งปิดเหมืองทองทั่วประเทศ คงพอจะเรียกเสียงชื่นชมจากประชาชนคั่นเวลาโห่ฮาและตอบคำถามว่ามีทหารเอาไว้ทำไมได้บ้าง

คำสั่งปิดเหมืองทองคราวนี้ มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 มีดังนี้ 1.ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย 2.ในกรณีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัท อัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต

และ3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมของบริษัท อัคราฯ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และกระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

ที่มาที่ไปของมติครม.ครั้งนี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบายเพิ่มเติมว่า มติครม.ดังกล่าว มาจากข้อเสนอของ 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเสนอให้มีการยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรของเหมืองแร่ทั่วประเทศ ภายหลังชาวบ้านเข้าร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริเวณรอยต่อของ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก และคัดค้านการต่ออายุโรงประกอบโลหกรรมที่ถึงกำหนดหมดอายุในวันที่ 13 พฤษภาคม 2559นี้ ที่สำคัญคือ ผลตรวจสุขของประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองที่ฟ้องว่าอันตราย

“ช่วงที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่และตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ พบว่าประชาชนจำนวนมากมีโลหะหนักอยู่ในร่างกาย ถือว่าเป็นอันตราย ปัจจุบันแม้ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าปัญหาข้อร้องเรียนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ หรือไม่ แต่หัวหน้า คสช. ได้กำชับว่าการเปิดสำรวจและทำเหมืองทองคำต้องไม่สร้างมลพิษ ต้องไม่เกิดความขัดแย้งจากชุมชนและดำเนินไปด้วยความโปร่งใส เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว 4 กระทรวง จึงเห็นชอบยุติการอนุญาต เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น แม้บริษัทอัคราฯ จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย รัฐบาลพร้อมต่อสู้ในชั้นศาล เพื่อรักษาผลกระทบต่อสุขภาพกับชาวบ้านในพื้นที่” นางอรรชกา กล่าว

รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ยังยอมรับว่าเพิ่งมีการตรวจสุขภาพประชาชนเมื่อปี 2557-2558 นี้เอง ที่ผ่านมาไม่ได้มีการตระหนัก หรือตรวจสุขภาพร่างกายของประชาชน ตั้งแต่เปิดเหมืองทองคำใหม่ๆ เมื่อ 15 ปีก่อนแต่อย่างใด ซึ่งผลจากการตรวจร่างกาย 3ครั้ง จำนวน 1,583 คน พบว่า 51.6% หรือ 817 คน ที่พบโลหะหนักในร่างกาย ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูง แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาว่าเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันผลการตรวจสุขภาพจะเหมือนกันหรือไม่ ยอมรับว่าจริงๆ แล้วหลายเรื่องยังไม่มีข้อสรุปในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน แต่ทั้ง4 กระทรวง ก็เห็นร่วมกันว่า การทำเหมืองทองคำถ้าทำให้เกิดความขัดแย้ง ต่อต้านในชุมชนก็ควรจะยุติ ไม่คุ้มกับต้นทุนทางสังคม
ทองคำที่ได้จากเหมือง
การทำเหมืองทองของบริษัทอัคราฯ ได้ทองคำปีละ3-4 ตัน โดยต้องย่อยหินกว่า 1 ตัน เพื่อจะได้ทองคำ 1 กรัม ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ทองคำ ประมาณ 50 ตัน คิดเป็นมูลค่า 52,000 ล้านบาท และประเมินว่าทองคำในพื้นที่ใกล้จะหมดแล้ว

นับจากนี้ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า บริษัทอัครฯ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ขยายเวลาประกอบการไปจนถึงสิ้นปี2559 ก่อนปิดเหมืองทองคำเพื่อฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบจะทำตามมติครม. หรือไม่ เพราะทันทีที่ครม.มีมติออกมา ทางบริษัทอัคราฯ ออกแถลงการณ์แสดงท่าทีประหลาดใจอย่างมาก โดยอ้างว่าบริษัทยังคงมีประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตจนถึงสิ้นปี2571 และบริษัทจะพิจารณาหาช่องทางดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แถมขู่ปิดเหมืองให้พนักงานนับพันตกงาน ซึ่งประเด็นนี้ รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่ายกเลิกทั้งหมดตามมติครม.รวมถึงไม่ให้ใบอนุญาตทุกชนิด

ขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ย้อนว่า เงื่อนไขสัญญาสัมปทานไม่น่าจะฟ้องร้องได้เพราะสัญญาหมดอายุแล้ว และครม.ไม่ได้อนุญาตต่อสัญญาให้

กระนั้นก็ดี ถึงจะมีมติครม.ออกมาชัดเจน แต่สำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างนางสมลักษณ์ หุตานุวัตร อดีตพยานผู้เชี่ยวชาญกรณีเหมืองทองคำพิจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยังคงคลางแคลงใจ โดยได้ตั้งข้อสังเกตต่อมติครม.ที่ออกมาผ่านการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า นี่เป็นการลดกระแส ซ่อนเงื่อนเหมืองทองหรือหลอกลวงให้ตายใจหรือไม่?

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ผู้นี้ ชี้แนะให้ดูหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นความสลับซับซ้อนของการลดกระแสกดดันรัฐบาลเรื่องเหมืองทองซึ่งมิใช่เป็นการยุติอย่างแท้จริง โดยวิเคราะห์คำแถลงของกระทรวงอุตสาหกรรมว่าอะไรคือเจตนาที่แท้จริงของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ใครได้ ใครเสีย ในระยะเวลา 7 เดือนนี้ก่อนที่จะปิดเหมือง และทำไมรัฐบาลทิ้งโอกาสทองในการปิดเหมืองโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยการไม่ต่ออายุใบประกอบโลหกรรม เขาทำเพื่อใครกันแน่? การซื้อเวลาออกไปอีก 7 เดือนให้บริษัทอัคราฯ มีเงื่อนงำอะไรที่ซ่อนเร้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เป็นการแลกซื้อใจเพื่อให้ผ่านพ.ร.บ.แร่ ใช่ไหม?

“หลังชนฝาหมาจนตรอก หรือแค่หมาหยอกไก่ ฝรั่งตัวดีกับคนไทยขี้ข้าจะหลอกกันไปอีกกี่น้ำ ภาพข้างล่างนี้คือแผนที่แหล่งทองคำและเงินกว้างใหญ่ครอบคลุม 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก จัดทำโดยกรมทรัพยากรธรณี มันกว้างใหญ่มากทำให้ฝรั่งจ้องตะครุบไว้อย่างเหนียวแน่นไม่ปล่อยง่ายๆ ละครตบตายกนี้ยอกย้อนซ่อนเงื่อนนัก คนไทยที่มีปัญญาคงคิดได้เองว่ายังไม่ต้องเชื่อคำใครจนกว่าเสียงระเบิดแร่ทองคำ เสียงเครื่องบดแร่จะหยุดลงอย่างแท้จริง” ข้อความในเฟซบุ๊ก Somlak Hutanuwatr เมื่อวันที่11 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

คำตอบเบื้องต้นซื้อเวลาเพื่อใคร?มาจากปากของนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่เปิดเผยว่า ในส่วนของโรงโลหกรรมที่ได้ต่อใบอนุญาตดำเนินการนั้น จะสามารถเริ่มถลุงแร่ที่ยังมีอยู่ต่อได้ทันทีซึ่งมีกำลังผลิต 6.5 ล้านตัน/ปี ไปจนกว่าจะถึงสิ้นปีตามที่มติ ครม.พิจารณา ซึ่งเหลือระยะเวลาอีก 7 เดือน ในระหว่างนี้ทางบริษัทแม่อัคราฯ หรือ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ท จากประเทศออสเตรเลีย จะเรียกคณะกรรมการทุกส่วนประชุมเพื่อทำการปรับแผน โดยเฉพาะแผนการลงทุนที่เตรียมไว้ 30,000 ล้าน บาท เนื่องจากเงินลงทุนส่วนนี้ในเบื้องต้นเตรียมไว้เมื่อได้ใบอนุญาตทั้งตัวประทานบัตรและใบอนุญาตโลหกรรม แต่เมื่อประทานบัตรไม่ผ่านการพิจารณาบริษัทจึงเริ่มหันไปสู่ธุรกิจทองรูปพรรณควบคู่อัญมณีและลดการขายทองแท่งลง
.เครือข่ายภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อคัดค้านการเปิดเหมืองทองคำ
แร่ทองคำในเมืองไทยเป็นขุมทรัพย์ที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยสร้างชาติเมื่อ700 ปีที่ผ่านมา โดยกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ปัจจุบันมีทองคำบริสุทธิ์ใต้ผืนแผ่นดินไทยอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 700 ตัน ซึ่งทำให้ต่างชาติต่างจ้องเข้ามากอบโกย และด้วยเหตุที่มี “คนไทยใจขี้ข้า” จึงทำให้ขุมทองของไทยตกอยู่ในอุ้งมือของฝรั่งต่างชาติผ่านบริษัทร่างทรงในไทย

จากการติดตามข้อมูลเรื่องเหมืองทองอย่างต่อเนื่องของนางสมลักษณ์ ยังแฉให้สังคมได้รู้ว่า การสำรวจและได้สิทธิ์ขาดในการทำเหมืองในไทยมีปัญหานับแต่พ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ. 2510และกฎหมายบีโอไอซึ่งทำให้ประเทศชาติเสียเปรียบอย่างร้ายแรง เปิดทางให้ต่างชาติได้รับข้อยกเว้นหลายประการ โดยสมัยที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อันเป็นช่วงของการออกประทานบัตร ได้ลดค่าภาคหลวงทองคำจากร้อยละ 10ให้เหลือเพียงร้อยละ 2.5 จนกระทั่งปี 2550 จึงเปลี่ยนเป็นอัตราก้าวหน้า เป็นร้อยละ2.5-20 แต่ในความเป็นจริงเหมืองทองคำไม่เคยจ่ายค่าภาคหลวงให้รัฐเกินร้อยละ 10 มิหนำซ้ำยังไม่ต้องจ่ายภาษีตามสิทธิบีโอไอด้วย

ต่อมาใน ยุค คสช. ปี 2557-2558 กรรมการเหมืองแร่ทองคำได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล หลังจากลาออกจากกรรมการเหมืองเพียง 7 วัน และได้เสนอนโยบายขยายเหมืองแร่ทองคำไปอีก 12 จังหวัด จนเป็นเหตุให้เกิดการเดินขบวนประท้วงของชาวบ้าน และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการระดับชาติตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะลงพื้นที่รับฟังความเห็นรอบเหมืองชาตรี
ในรายงานการตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของหน่วยงานต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้จะมีรายงานการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พืช หรือมีค่าโลหะหนักเกินมาตรฐาน และแม้จะมีรายงานการพบสารโลหะหนักในร่างกายของประชาชนเกินค่ามาตรฐานครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังไม่ก่อให้เกิดการระงับยังยั้งการแพร่กระจายของแหล่งมลพิษ ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการในพื้นที่นั้นมีเพียงรายเดียว นั่นเพราะหน่วยงานของรัฐจำนนต่อข้ออ้างของเหมืองว่า สารพิษต่างๆ นั้น เป็นเพื่อนแร่ ซึ่งย่อมมีอยู่แล้วในพื้นที่ที่มีทองคำ จึงเป็นธรรมดาที่จะตรวจพบ โดยไม่ตระหนักว่าหากไม่มีการไปรบกวนด้วยการระเบิดและทำเหมืองในพื้นที่กว่า 7,200ไร่ สารพิษเหล่านั้นก็ยากที่จะเข้าสู่ร่างกายคน ดิน น้ำ และพืชผักริมรั้ว
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
กระทั่งรายงานล่าสุด พบว่า ประชาชนรอบพื้นที่กว่าร้อยละ 55 และเด็กถึงร้อยละ 63มีสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานตามผลการตรวจเลือดครั้งสุดท้ายจำนวน 1,004 คน ในปี2558 ในขณะที่ปรากฏการณ์ทางกายภาพ พบว่าประชาชนและเด็กในพื้นที่รอบเหมืองทองคำ เกิดทุกขภาวะ มีสภาพร่างกายที่ผิดปกติ เด็กๆ มีการเจริญวัยที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ความจริงเชิงประจักษ์นี้ ทำให้ ในที่สุด ครม.บิ๊กตู่ ต้องมีมติเลิกสัมปทานเหมืองทองทั่วประเทศ ตามมาด้วยการลาออกอย่างกะทันหันของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายอาทิตย์ วุฒิคะโร เมื่อเย็นวันที่10 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีผลในวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ด้วยเหตุผลเพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพและไปดูแลครอบครัว



กำลังโหลดความคิดเห็น