xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาลยกคำร้อง "รสนา" ทวงคืนท่อก๊าซฯ มหากาพย์ทวงทรัพย์สินจาก ปตท. ยังอีกยาวไกล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การต่อสู้เรียกร้องให้ปตท.คืนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ครบถ้วนของภาคประชาชนโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีอันต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้งเมื่อศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำร้องของ "นางสาวรสนา โตสิตระกูล และพวก" ที่ร้องขอให้ศาลไต่สวนรายการทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องส่งคืนคลังใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่ศาลเคยมีคำวินิจฉัยไปแล้ว

โดยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นางสาวรสนา โตสิตระกูล, นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน, นางภินันทน์ โชติรสเศรณี และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสดที่ ฟ. 35/2550 (เกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ สิทธิ ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้เป็นของกระทรวงการคลัง) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ที่ตุลาการเจ้าของสำนวนเดิม มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม2551ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีมีคำขอเพียงข้อเดียว คือ ขอให้ศาลเพิกถอนพ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ ประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และ พ.ร.ฎ .กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 ซึ่งศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษายกคำขอ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดจึงไม่ใช่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี หรือเจ้าหน้าที่ตามคำพิพากษา ที่จะมีสิทธิร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีที่ 1, 2, 5 เคยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ขอให้ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่บริษัท ปตท.ต้องคืนกระทรวงคลัง ซึ่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีดังกล่าวก็พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตามคำพิพากษา จึงไม่มีสิทธิบังคับคดี รวมถึงผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงให้ยกคำร้องแล้ว

คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวข้างต้น เท่ากับเป็นการดับฝันของภาคประชาชนโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องนี้มายาวนานนับทศวรรษ นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม กรณีฟ้องขอให้มีการพิจารณาแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ สิทธิประโยชน์ของ ปตท. ใหม่ ขณะนี้ยังมีคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 ขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน ซึ่งคมสัน โพธิ์คง รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งติดตามคดีการทวงคืนทรัพย์สินจากปตท.มาอย่างต่อเนื่อง มีความเห็นว่า กรณีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ไม่รับคำร้องของนางสาวรสนา โตสิตระกูล ที่ขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนรายการทรัพย์สินที่ปตท.ต้องส่งคืนคลังใหม่โดยให้ยึดรายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินของ สตง. เป็นหลักพิจารณาด้วยว่า คำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าวไม่น่าจะมีผลกับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องต่อศาล แม้ในคำฟ้องของผู้ตรวจฯ จะมีปมว่ารายการทรัพย์สินที่ปตท.ต้องคืน ตามที่ตุลาการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง แต่ประเด็นสำคัญที่ผู้ตรวจฯ ฟ้องคดีคือขอเพิกถอนมติ ครม.วันที่ 18 ธันวาคม 2550 และวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดจากการที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขณะนั้น ปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริง อีกทั้งมีกระบวนการทำผิดกฎหมายเนื่องจากกรมธนารักษ์ไม่ได้ถูกมอบหมายให้ดำเนินการแต่กลับไปดำเนินการ

“ดังนั้น ที่ว่าเป็นการกระทำโดยชอบ จริงๆ คือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันนี้เป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่เกิดขึ้น และเป็นคำร้องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นประเด็นใหม่เพราะการร้องไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่เคยมีการร้องหรือเคยมีอยู่ในคำฟ้องเดิมแน่นอน และเชื่อว่าคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นหลักฐานค่อนข้างแน่นหนา เพราะเท่าที่ทราบ มีการนำส่งประกาศเกี่ยวกับการใช้อำนาจมหาชนไปเวนคืนที่ดินมาทำท่อก๊าซกว่า 60 ฉบับให้กับศาล และยังมีเอกสารหลักฐานการมีท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเลครบทั้งหมด"

มหากาพย์ทวงคืนทรัพย์สินจาก ปตท. ต้องบอกว่าเส้นทางยังอีกยาวไกล



กำลังโหลดความคิดเห็น