ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แจงผ่านบทความ เหตุยื่นฟ้องขอคืนทรัพย์สินจาก ปตท. แฉความไม่โปร่งใสตั้งแต่การแปรรูป ที่มีไอ้โม่งกินผลกำไรของ ปตท.มหาศาลทุกปี แถมการบริหารงานมีนอกมีในของคนใน ปตท.และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ย้ำเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม กม.และมติ ครม. ปกปิดข้อเท็จจริง
นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงผ่านบทความและข้อสังเกต กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งล่าสุดไม่รับคำร้องของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ที่ขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนรายการทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องส่งคืนคลังใหม่ โดยให้ยึดรายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นหลักพิจารณาด้วยว่าคำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าวไม่น่าจะมีผลต่อคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องต่อศาล แม้ในคำฟ้องของผู้ตรวจฯ จะมีปมว่ารายการทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องคืน ตามที่ตุลาการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง
นายศรีราชาเห็นว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงคนละส่วนกับคำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 เพื่อขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินประกอบด้วย ที่ดินที่ได้จากการเวนคืน สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชน และทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ
(1) โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย (2) โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และ (3) โครงการท่อราชบุรี-วังน้อย รวมถึงโครงการท่อย่อย ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 ประมาณ 16,175 ล้านบาท
“เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เกิดจากการที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ดำรงตำแหน่งขณะนั้น ปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริง อีกทั้งมีกระบวนการทำผิดกฎหมายเนื่องจาก กรมธนารักษ์ไม่ได้ถูกมอบหมายให้ดำเนินการแต่กลับไปดำเนินการ ดังนั้น ที่ว่าเป็นการกระทำโดยชอบ จริงๆ คือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่เกิดขึ้น และเป็นประโยชน์สาธารณะ การร้องไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ยังไม่เคยปรากฏมีการร้องมาก่อน หรือเคยมีอยู่ในคำฟ้องเดิมแน่นอน” นายศรีราชาระบุ
นายศรีราชายังตั้งข้อสังเกตในเรื่องความเป็นมาเกี่ยวกับการยื่นฟ้องต่อ ปตท. โดยเริ่มตั้งแต่การแปรรูป ปตท.เป็นบริษัทมหาชน ตลอดจนเรื่องราวการบริหารจัดการภายในองค์กร ที่ยังเป็นข้อสงสัยในความไม่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ประกอบด้วย 1. การแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทมหาชนไม่โปร่งใส เนื่องจากในเรื่องแรกที่จะแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนนั้น สหภาพแรงงานคัดค้านการแปรรูป ผู้บริหารจึงปิดปากด้วยการแจกหุ้นให้ผู้บริหารและพนักงาน จำนวนลดหลั่นกันลงไป ถือเป็นการนำเงินของชาติและประชาชน ไปแจกจ่ายโดยมิชอบ เพื่อลดกระแสการคัดค้านการแปรรูปหรือไม่
2. การแปรรูปไม่โปร่งใส จากการค้นพบบัญชีผู้ถือหุ้นระบุว่า กระทรวงการคลังถือร้อยละ 49 อีกร้อยละ 2 เป็นของกองทุนของรัฐบาล ส่วนที่นำมาขายให้ประชาชนซื้อมีจำนวนร้อยละ 49 โดยการจองซื้อผ่านธนาคาร ปรากฏว่าหุ้นขายหมดในไม่ถึง 2 นาที จึงน่าสงสัยว่าหุ้นจำนวนมหาศาลหายไปไหนในระยะเวลาอันสั้น หรือเป็นเพราะมีการกระจายหุ้นไปเกือบหมด การเปิดขายให้ประชานเป็นเพียงพิธีกรรมว่ามีการเปิดขายหรือไม่ จากการพิจารณาเอกสารผู้ถือหุ้นพบว่า มีผู้ถือหุ้นเป็นชื่อธนาคารต่างชาติ 10 ธนาคาร ถือหุ้นแห่งละ 1.2 % รวมเป็น 12% แต่ละธนาคารมีคำว่า “Nominee” วงเล็บอยู่ข้างท้ายชื่อ ใครคือไอ้โม่ง Nominee เป็นไปได้หรือไม่ว่า คือผู้มีส่วนอย่างยิ่งในการแปรรูป และได้รับประโยชน์
ตัวอย่างเช่น ปตท.มีกำไรโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท ก็จะได้ปันผล 6,000 ล้านบาท กลุ่มผู้ที่เป็นนอมินีจะได้เงินปันผลได้เดือนละ 500 ล้านบาท วันละ 16.67 ล้านบาท หากมีกำไร 100,000 ล้านบาทต่อปี จะได้เงินปันผลถึงปีละ 12,000 ล้านบาท หรือจะได้วันละ 33.33 ล้านบาท
3. การบริหารงานไม่โปร่งใส มีความเชื่อมโยงกันในกลุ่มคณะกรรมการนโยบายพลังงาน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีคนของกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท.เป็นก๊วนอยู่ในกลุ่มพลังงานดังกล่าวเชื่อมโยงกันตลอดมา มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน ปตท.นำข้อมูล เล่ห์กลการโกงรูปแบบต่างๆ ใน ปตท.มาเปิดเผยให้ฟัง เช่น นำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายเป็นค่าขนส่งก๊าซ ช่วยให้ ปตท. ลดค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มกำไรกว่า 20,000 กว่าล้านบาท ในปีสองปีที่ผ่านมา
“โครงการสร้างแท็งก์ขนาดใหญ่เพื่อสต็อกน้ำมันในต่างจังหวัด 10 กว่าแห่ง บริษัทที่เสนอค่าก่อสร้างที่แพงกว่าปกติ 4-5 ล้านบาท เป็นผู้ชนะการประมูล มีผู้บริหารบางคน ดำรงตำแหน่งทั้งในบริษัทแม่ (ปตท.) และยังมีตำแหน่งในบริษัทลูก รับเงินเดือน 2-3 ตำแหน่งในคราวเดียวกัน เป็นต้น” นายศรีราชาระบุ
4. ปตท.ถูกตั้งคำถามเรื่องการความโปร่งใสในการบริหารงาน โดยถูกตั้งข้อสงสัยประเด็นการนำเงินมาซื้อคน ซื้ออำนาจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์ของบริษัทโดยไม่ถูกตามหลักธรรมาภิบาล
ในตอนท้าย นายศรีราชระบุว่า ประเด็นข้อสงสัยเหล่านี้ประชาชนกำลังเฝ้ามองว่าศาลปกครองซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ จะใช้ดุลพินิจและตีความข้อกฎหมายเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ไม่เร่งรีบ รวบรัดการตัดสินคดีภายในวันเดียวดังที่มีข้อครหาในคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550
อย่างไรก็ตาม สำนักงานผู้ตรวจการฯ พร้อมที่จะยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองที่จะมีต่อไป