xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.ไม่รับคำร้อง “รสนา” ให้ไต่สวนรายการทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องคืน ก.คลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูลย์
ศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำร้อง “รสนา” ขอให้เพิกถอนรายงานการคืนทรัพย์สิน ปตท.ต่อ กระทรวงการคลัง และไต่สวนรายการทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องส่งคืนคลังใหม่ โดยให้พิจารณารายงานการตรวจสอบทรัพย์สินของ สตง.ด้วย ระบุเป็นประเด็นที่ศาลเคยมีคำวินิจฉัยไปแล้ว อีกทั้งเคยวินิจฉัย “รสนา กับพวก” ไม่ใช่ จนท.ตามคำพิพากษา ที่มีสิทธิร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.รสนา โตสิตระกูล น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน นางภินันทน์ โชติรสเศรณี และน.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รมว.พลังงาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสดที่ ฟ. 35/2550 (เกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ สิทธิ ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้เป็นของกระทรวงการคลัง) ของ รมว.พลังงาน ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ที่ตุลาการเจ้าของสำนวนเดิม มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีมีคำขอเพียงข้อเดียว คือ ขอให้ศาลเพิกถอน พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ ประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และ พ.ร.ฎ .กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกคำขอ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดจึงไม่ใช่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี หรือเจ้าหน้าที่ตามคำพิพากษา ที่จะมีสิทธิร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้

อีกทั้งผู้ฟ้องคดีที่ 1, 2, 5 เคยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2552 ขอให้ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่บริษัท ปตท.ต้องคืนกระทรวงคลัง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวก็พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตามคำพิพากษาจึงไม่มีสิทธิบังคับคดี รวมถึงผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงให้ยกคำร้องแล้ว

“ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดยื่นคำร้องนี้ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของตุลาการเจ้าของสำนวนเดิม เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551 ที่สั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 25 ธ.ค. 2551 ของบริษัท ปตท. ที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาแล้ว โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคำร้องใหม่และให้พิจารณารายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ได้ตรวจสอบทรัพย์สินในคดีนี้อีกครั้งหนึ่งนั้น เป็นการขอให้ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี หรือประเด็นข้อใดแห่งคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไปแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นอีก ตามข้อ 96 ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2543 ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำสั่งใหม่ตามที่ร้องขอได้”

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีฟ้องขอให้มีการพิจารณาแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ สิทธิประโยชน์ของ ปตท. ใหม่นั้น ขณะนี้ยังมีคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ขอให้ศาลเพิกถอนมติ ครม. วันที่ 18 ธ.ค. 2550 และวันที่ 10 ส.ค. 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน ประกอบด้วยที่ดินที่ได้จากการเวนคืน สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชนและทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ 1. โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย 2. โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และ 3. โครงการท่อราชบุรี-วังน้อย รวมถึงโครงการท่อย่อย ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 ประมาณ 16,175 ล้านบาท เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดจากการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งขณะนั้น

2. ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศให้กระทรวงการคลัง ตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย วันที่ 30 ก.ย. 2544 จำนวน 68,569 ล้านบาท ซึ่ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้คืนไปแล้วประมาณ 16,175 ล้านบาท ดังนั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ยังคงต้องโอนคืนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังอีกจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 52,393 ล้านบาท รวมทั้งค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่นและสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนต่อไป และ 3. เพิกถอนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่ได้รับแจ้งจากทางศาลปกครองว่าศาลได้พิจารณารับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น