xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการฯ ยื่นศาลปกครองฟันคลัง-พลังงาน-ปตท.ไม่คืนท่อก๊าซ แฉมีอดีต ปธ.ส่ง จม.ขู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงมติยื่นฟ้องศาลปกครอง ฟัน ”ฉลองภพ-กรณ์-ระนองรักษ์-ปิยสวัสดิ์, วรรณรัตน์” ปตท.และพวกรวม 11 ราย หลังไม่คืนท่อก๊าซตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด นำไปแสวงหาประโยชน์ ขอให้ถอนมติ ครม.ปี 50 และ 53, สั่ง 2 กระทรวงบี้ ปตท.โอนคืนทรัพย์ที่เหลืออีก 52,393 ล้าน แฉกลายเป็นองค์กรลึกลับเชื่อยังมีผลประโยชน์อีกเยอะ รับมีอดีตประธานส่งจดหมายขู่อย่าหาเรื่อง แย้มคิงเพาเวอร์-สุวรรณภูมิ-การไฟฟ้า รายต่อไป


วันนี้ (4 เม.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการไม่คืนท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและการนำท่อก๊าซซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปแสวงหาประโยชน์ โดยเป็นการฟ้องกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีจำนวน 11 ราย ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา 1. เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และวันที่ 10 ส.ค. 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน ประกอบด้วย ที่ดินที่ได้จากการเวนคืน สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชนและทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ 1.โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย 2. โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และ 3. โครงการท่อราชบุรี-วังน้อย รวมถึงโครงการท่อย่อย ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 ประมาณ 16,175 ล้านบาท เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดจากการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งขณะนั้น

2. สั่งให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศให้กระทรวงการคลังตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย วันที่ 30 ก.ย. 2544 จำนวน 68,569 ล้านบาท บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้คืนไปแล้วประมาณ 16,175 ล้านบาท ดังนั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ยังคงต้องโอนคืนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังอีกจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 52,393 ล้านบาท รวมทั้งค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่นและสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนต่อไป และ 3. เพิกถอนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

นายศรีราชากล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากหลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต่อมา วันที่ 18 ธ.ค. 50 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการตามความเห็นของกระทรวงพลังงาน โดย รมว.พลังงาน ที่มีนายปิยสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สินอำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว แล้วให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวอีกว่า แต่พบว่าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลับร่วมกันเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลและบนบกที่เป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง รวมทั้งระบบท่อที่ได้ก่อสร้างในที่ดินของรัฐภายหลังการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยไม่มีผลตอบแทนคืนให้แก่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รายงานผลการดำเนินการตามคำพิพากษาอันเป็นเท็จดังกล่าวนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยรายงานว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว

“เห็นได้ว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนโดยไม่เป็นธรรม และมิได้รักษาผลประโยชน์ของชาติตามหน้าที่ของข้าราชการที่ต้องพึงปฏิบัติ มีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และลัดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ปล่อยปละละเลยมิได้เร่งรัด ติดตาม ทวงคืนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราใช้เวลากว่า 3 ปีในการตรวจสอบ โดยหลังจากศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล เพราะไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ก็ได้มีการพูดคุยกันและมีการมาร้องเรียนของ พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวะพันธุ์ศรี ในนามเครือข่ายภาคประชาชน ที่เป็นฐานในการทำงานมา จนได้ข้อมูลที่เป็นเอกสารหลักฐานเสนอศาลกว่า 96 รายการ โดยในจำนวนนี้มีข้อมูลที่เป็นท่อก๊าซที่ สตง.ตรวจพบแล้วยังไม่มีการเปิดเผยกว่า 50 ท่อ เชื่อว่าทั้งคำฟ้องและหลักฐานที่ยื่นประกอบรวมทั้งหมด 500 หน้ามีความหนักแน่นพอที่ศาลจะพิจารณาและมีคำพิพากษา

สำหรับผู้ถูกฟ้องคดี 11 ราย เป็นทั้งฟ้องตัวบุคคลและหน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีต รมว.คลัง นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีต รมช.คลัง กระทรวงพลังงาน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต รมว.พลังงาน นายประสิทธิ์ สืบชนะ อดีตรองอธิบดีกรมธนารักษ์ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปตท.ฯ ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวก็ด้วยเจตนาที่อยากจะสร้างความถูกต้อง และจากการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวก็ทำให้พบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานด้านพลังงานที่ไม่ถูกต้อง เช่น การจัดเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งผู้ตรวจฯ ก็เคยทำความเห็นเสนอไปยังรัฐบาลก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งยังมีเรื่องที่กำลังดำเนินการอีก 2-3 เรื่อง เช่น การสร้างแทงค์เก็บน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีราคาสูงเกินความจำเป็น

“ที่ผ่านมา ปตท.ใช้สิทธิแสวงหาประโยชน์จากประชาชนเกินกว่าที่ประชาชนจะแบกรับ พอผู้ตรวจมีการตรวจสอบเรื่องกองทุนน้ำมันก็จะเห็นได้ว่าน้ำมันมีราคาถูกลง แต่ทั้งนี้ ปตท.ยังเป็นองค์กรที่ลึกลับ เชื่อว่ายังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์อีกเยอะ การที่กรรมการของ ปตท. และตัวแทนจากรัฐทั้งกระทรวงการคลังและพลังงาน เข้ามานั่งเป็นกรรมการ มีผลประโยชน์ ปี 2557 แค่เบี้ยประชุมก็ 2 ล้านบาทต่อปี บวกกับเงินปันผลอีก 2.7 ล้านบาทต่อปี รวมแล้วกรรมการแต่ละคนจะได้ไม่ต่ำกว่า 4.7 ล้านบาทต่อปี จึงทำให้ไม่อยากทุบกระเป๋าตัวเอง และเมื่อผู้ตรวจเริ่มตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็มีอดีตประธาน ปตท.เขียนจดหมายส่วนตัวมาถึงตนระบุว่า ปตท.ได้ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว อย่ามาหาเรื่องและให้ยุติเรื่องดังกล่าว ซึ่งผมก็เก็บจดหมายใส่ลิ้นชักแล้วเดินหน้าต่อไป จนมาถึงการฟ้องร้องในครั้งนี้” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายศรีราชามีความตั้งใจจะตรวจสอบเรื่อง ปตท.ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ (4 เม.ย.) จึงทำให้มีการแถลงและส่งคำร้องไปยังศาลปกครองในวันดังกล่าว นอกจากนี้ นายศรีราชายังระบุอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีเรื่องร้องเรียนสนามบินสุวรรณภูมิ บริษัท คิงเพาเวอร์ และการคิดค่าเก็บเอฟพีของการไฟฟ้า ที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบที่ต้องดำเนินให้แล้วเสร็จ








กำลังโหลดความคิดเห็น