สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยแพร่สำเนาคำฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนมติ ครม.ปี 2550 ส่งมอบทรัพย์สินระบบท่อก๊าซธรรมชาติ เหตุพบว่า “ปิยสวัสดิ์” แจ้งเท็จ รวมทั้งให้แบ่งแยกและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมฯ ให้กระทรวงการคลังตามมูลค่าสุทธิ 6.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งค่าตอบแทน ผลประโยชน์อื่น พร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วน และเพิกถอนการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ ปตท.ดำเนินการไปแล้ว
อ่านสำเนาคำฟ้องต่อศาลปกครอง จากเว็บไซต์สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คลิกที่นี่
วันนี้ (14 เม.ย.) เว็บไซต์สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เผยแพร่สำเนาคำฟ้องต่อศาลปกครองกรณีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฎิบัติตามกฏหมายและมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการตีความที่คลาดเคลื่อนบิดเบือนไปจากคำสั่งของศาลปกครองเกี่ยวกับเรื่องการคืนท่อก๊าซธรรมชาติและทรัพย์สินของรัฐ ความยาว 64 หน้า โดยนายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ยื่นฟ้อง กระทรวงการคลัง, นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีต รมว.คลัง, นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง, ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีต รมช.คลัง, กระทรวงพลังงาน, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน, นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต รมว.พลังงาน, นายประสิทธิ์ สืบชนะ อดีตรองอธิบดีกรมธนารักษ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวม 11 ราย
สาระสำคัญของคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2555 พ.ท.พญ.หญิง กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี และคณะ ร้องเรียนว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 11 ราย ละเมิดคำสั่งศาลและใช้ทรัพย์สินของประชาชนมาแสวงหาผลประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยศาลปกครองสูงสุดสั่งให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คืนท่อก๊าซให้แก่แผ่นดิน แต่กลับไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่สั่งให้คืนท่อก๊าซที่เป็นส่วนของแผ่นดินให้กับรัฐทั้งหมด แต่คืนเพียงบางส่วนเฉพาะที่ปรากฎในคำพิพากษาของศาลปกครอง และยังนำเอาท่อก๊าซส่วนที่เหลือไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ โดยเรียกเก็บค่าก๊าซผ่านท่อเพิ่มเติมจากเดิม ส่งผลให้เกิดรายได้และผลประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการบริษัทที่ได้โบนัสตามผลกำไร เป็นการขูดรีดและฉ้อโกงประชาชน ทําให้ประชาชนผู้บริโภคน้ำมัน ต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง
ผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามประเด็นคําร้องเรียน และคําชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคําพิพากษาและกฎหมายต่างๆ แล้ว มีความเห็นว่าเรื่องร้องเรียนนี้มีประเด็นแห่งคดี ได้แก่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 11 ราย ได้ร่วมกันเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จและไม่ครบถ้วนต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี โดยเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และการแยกอํานาจ สิทธิ เพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ตามคําสั่งศาลปกครองสูงสุด ด้วยการที่กระทรวงพลังงาน โดยนายปิยะสวัสดิ์ เสนอข้อมูลต่อคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยกตามคําสั่งศาลปกครองสูงสุดน้อยกว่าที่รัฐจะได้รับการแบ่งแยกคืนกลับมายังกระทรวงการคลัง
ขณะเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 11 รายยังไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ที่เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อํานาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคําพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดําเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิ โดยให้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง, มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์รับไปดําเนินการกําหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราค่าเช่าในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อ เพื่อเป็นฐานในการคํานวณค่าเช่าให้แก่บริษัท ปตท.จํากัด (มหาชน) ภายใน 3 สัปดาห์, มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินรับไปพิจารณาในเรื่องค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนการเช่าทรัพย์สิน และมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องภาระภาษีที่จะเกิดขึ้น ในช่วงตั้งแต่การแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจนถึงวันที่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินอย่างถูกต้อง เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ภาษีจากการหักค่าเช่าย้อนหลังและเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม รวมถึงความชัดเจนของภาระภาษีที่เกิดจากการแบ่งแยกทรัพย์สิน
อีกประการหนึ่ง กระทรวงการคลัง และนายประสิทธิ์ ไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้องในคดี จึงไม่มีอํานาจเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล ผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 11 ราย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัตินอกเหนืออํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนโดยไม่เป็นธรรมตามที่มีผู้ร้องเรียน และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้ฟ้องคดีจึงมีความจําเป็นต้องเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
นอกจากนี้ บริษัท ปตท.จํากัด (มหาชน) ได้รายงานผลการดําเนินการตามคําพิพากษาอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยรายงานว่าได้ร่วมกันกระทําการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอํานาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอํานาจมหาชนของรัฐออกจากอํานาจ และสิทธิของบริษัท ปตท.จํากัด (มหาชน) ให้เป็นไปตามคําวินิจฉัยและคําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว
ทั้งนี้ ความเห็นของคณะกรรมการเพื่อดําเนินการตรวจสอบและกําหนดแนวทางดําเนินการเกี่ยวกับการรับโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ตามคําสั่งกรมธนารักษ์ ที่ 582/2550 ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2550 ที่เห็นว่าท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลและบนบกบางส่วนมีลักษณะไม่ติดตรึงตราเป็นการถาวร และทรัพย์สินระบบท่อก๊าซธรรมชาติที่ไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังเป็นทรัพย์สินที่ลูกค้า หรือคู่ค้าของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นผู้จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ดังนั้น ทรัพย์สินมูลค่าจํานวนดังกล่าวจึงไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ
ส่วนกรณีกระทรวงการคลังอ้างว่า ทรัพย์สินที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้มาโดยมิได้ใช้อํานาจมหาชน แต่ได้มาโดยวิธีการอื่น เช่น การซื้อ จัดหา แลกเปลี่ยน หรือได้มาจากการที่ลูกค้าหรือคู่ค้าของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นผู้จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเพื่อใช้ประโยชน์นั้น เป็นการได้มาตามกฎหมายเอกชน ไม่ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุนั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การตีความดังกล่าวเป็นการตีความที่ทําให้รัฐเสียหาย และเห็นว่า กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จํากัด (มหาชน) ยังไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรี และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นสมควรเสนอเรื่องพร้อมความเห็นดังกล่าวต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยและมีคําสั่งดังต่อไปนี้ 1. ขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และวันที่ 10 ส.ค. 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน ประกอบด้วยที่ดินที่ได้จากการเวนคืน สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชน และทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่ระบุในคําพิพากษาของศาล คือ โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย, โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย รวมถึงโครงการท่อย่อย ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 ประมาณ 16,175 ล้านบาท เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดจากการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จของนายปิยสวัสดิ์
2. ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จํากัด (มหาชน) ดําเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้กระทรวงการคลังตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 จำนวน 68,569,690,569.82 บาท ทั้งจํานวน รวมทั้งค่าตอบแทน ผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่น และสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่บริษัท ปตท.จํากัด (มหาชน) ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้ครบถ้วนต่อไป
3. เพิกถอนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอํานาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอํานาจมหาชนของรัฐออกจากอํานาจและสิทธิของบริษัท ปตท.จํากัด (มหาชน) ที่ได้ดําเนินการไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ