ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นว่าข้อเสนอ แนวคิดที่หลายหน่วยงานมีทั้ง เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจะเสนอให้ขยายอายุราชการเป็น 65 ปี เดิมให้กำหนดให้เกษียณ 60 ปี ต้องเบรกไปในช่วงนี้ก่อน “วันนี้คนแน่นไม่พอหรือไง”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นไว้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล กพ. กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกพ. หรือ นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานคณะกรรมการนโนบายพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เห็นเช่นเดียวกันว่า ต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียก่อน
โดยเฉพาะ นายวิษณุ ประกาศเลยว่า“เอาเป็นว่าจะไม่เห็นในสมัยรัฐบาลนี้”ด้าน ม.ล.ปนัดดา ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า น่าจะเป็นแนวคิดของกลุ่มงานมากกว่า ที่ดูว่าควรมีกลุ่มงานไหน กลุ่มงานชำนาญการไหนบ้างที่ควรต่ออายุราชการ (65 ปี) และคงไม่ใช่ทุกสายงาน เพราะนายกรัฐมนตรี กล่าวอยู่บ่อยครั้งให้นึกถึงคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้อาวุโสในอนาคตด้วย หากต่อทันที ถือเป็นการไปขวางกั้น ยังเชื่อว่าการต่ออายุ 65 ปี คงต้องเลือกในกลุ่มชำนาญการที่ขาดคน หรือสายงานที่จำเป็น หรืออัตรากำลังที่หายไป
ส่วน นายกรณ์ เห็นว่า การขยายอายุเกษียณออกไปตอนนี้ จะทำให้ข้าราชการจำนวนมากยังคงอยู่ในระบบ และเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีต้นทุนสูงที่สุดอีกด้วย ข้าราชการระดับสูงที่เสนอเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า สังคมมีสิทธิมองว่าท่านอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนแฝงอยู่ในข้อเสนอ เพราะการรักษาตำแหน่งอธิบดี/ปลัด (หรือนายพล) ต่อไปอีก 5 ปี น่าจะมีผลในแง่ผลประโยชน์ไม่น้อยอยู่
ปฐมบท ของข้อเสนอนี้ ที่มีข่าวก.พ.เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่ออนุมัติให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ในมาตราที่กำหนดอายุเกษียณราชการ โดยจะเสนอเพิ่มอายุการเกษียณราชการเป็น 65 ปี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่แก้ไขนับจากบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2494
มีการให้เหตุผลว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ของคนน้อย ทำให้คนในวัยทำงานไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ การขยายอายุการเกษียณราชการเป็น 65 ปี ยังจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดต่อระบบงบประมาณในการดูแลบุคลากรทั้งในด้านของอัตราค่าจ้าง ค่ารักษาพยาบาล รวมถึง เงินบำเหน็จ บำนาญ
ในแต่ละปีจะมีจำนวนข้าราชการที่เกษียณอายุราชการประมาณ 3 หมื่นคน จากจำนวนข้าราชการประมาณ 1.7 ล้านคน ในจำนวนที่เกษียณอายุไปนี้ ส่วนราชการจะต้องรับบุคลากรเข้ามาทดแทน ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในด้านเงินเดือน และค่ารักษาพยาบาล ซึ่งในส่วนของค่ารักษาพยาบาลนี้ จะรวมถึง บุคคลในครอบครัวตามกฎหมายด้วย เพราะข้าราชการที่เกษียณอายุ 3 หมื่นคนต่อปีนี้ รัฐยังต้องจ่ายเงินค่าบำเหน็จ หรือค่าบำนาญ และ ค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะเสียชีวิต และเมื่อรับบุคลากรใหม่เข้ามาทดแทน ภาครัฐก็จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นเพื่อชะลอการรับบุคลากรใหม่ และคงรายจ่ายสำหรับบุคลากร ดังนั้น การต่ออายุราชการอีก 5 ปี น่าจะช่วยแก้ไขเรื่องดังกล่าวได้บ้าง
ขณะที่กระทรวงการคลัง ก็กังวลเกี่ยวกับวิกฤต “ภาระการคลัง”ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า ที่จะต้องเข้ามารองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าไม่แก้ปัญหาบางอย่าง จากโครงสร้างต่างๆในปัจจุบัน วิกฤตที่เกิดขึ้นจะเป็นวิกฤตการคลังไม่ใช่วิกฤตการเงิน
ย้อนกลับไปดูข้อมูลปี 2558 ประเด็นนี้ “สำนักงาน กพ.”ได้ทำการศึกษาเรื่องของการขยายการเกษียณอายุราชการ ร่วมกับ“กระทรวงการคลัง”ซึ่ง ก่อนการศึกษา กพ.พบว่างบกลางที่ใช้จ่ายมากที่สุดคือ งบประมาณที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ของข้าราชการที่เกษียณอายุ จากข้อมูลของสำนักงบประมาณพบว่า ปีงบประมาณ 2557 มีวงเงินนำไปใช้จ่ายเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ของข้าราชการ จำนวน 132,277 ล้านบาท จากงบกลางทั้งหมด 345,459 ล้านบาท
กพ.เห็นว่า การขยายการเกษียณอายุราชการ จะต่างจากการต่ออายุราชการ ที่มีอยู่ในระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในมาตรา 108 คือ การต่ออายุราชการ จะต่อให้กับข้าราชการในตำแหน่งบางสายงาน หรือให้ข้าราชการบางคนที่ราชการต้องการ ซึ่งในมาตราดังกล่าว มุ่งไปที่เรื่องการขาดแคลนคนที่คุณภาพในบางสายงาน หรือสายงานเหล่านั้นสร้างคนไม่ทัน โดยที่ผ่านมามีการต่ออายุแล้ว เช่น สายงานแพทย์ สายงานนักกฎหมาย เช่น กฤษฎีกา สายงานด้านศิลปิน เป็นต้น
สำหรับการขยายการเกษียณอายุราชการ คือ การขยายทั้งระบบ จากเกษียณที่อายุ 60 ปี ก็จะเกษียณที่อายุ 65 หรือ 70 ปี ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวเกิดจากปัจจุบันคนอายุยืนขึ้นกว่าสมัยก่อนที่พบว่า คนมีอายุเฉลี่ยเพียง 52 ปี เท่านั้น แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนเกือบ 80 ปี ขณะที่อายุ
เกษียณยังอยู่ที่ 60 ปี เหมือนเดิม ซึ่งจากแนวคิดที่ว่า ถ้าคนที่อายุเลย 60 ปี แล้วยังมีกำลังในการทำงาน สร้างผลผลิต แต่ให้หยุดการทำงาน หรือเกษียณอายุราชการไป ก็เป็นการสูญเสียทรัพยากร
ขณะเดียวกัน กพ.เคยเห็นว่า ถ้าไม่ให้คนกลุ่มนี้ทำงาน แต่รับเงินบำนาญจากภาครัฐ นั่นเท่ากับว่ารัฐต้องจ่ายเงิน 2 ทาง คือต้องจ่ายทั้งบำเหน็จ บำนาญ และจ่ายในการจ้างคนใหม่ มาทดแทน แต่ปัญหาที่ตามมา หากนำแนวคิดการขยายการเกษียณอายุราชการมาใช้ คือ จะทำให้ไม่มีตำแหน่งงานว่างให้กับเด็กจบใหม่ ประกอบกับสภาวะการเจริญเติบโตของประชากรของโลก มีอัตราที่ลดลง ในส่วนของประเทศไทยพบว่า มีคนเกิดน้อยลง คนแก่อยู่นานขึ้น และตายช้าลง
นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อมูลของอัตราพึ่งพาซึ่งในสมัยหนึ่ง มีสัดส่วน 4 : 1 คน คือ คนมีงานทำ 4 คน สามารถเลี้ยงคนชรา หรือไม่มีงานทำ 1 คน แต่ต่อไปอนาคตอันใกล้นี้ หรือประมาณ 10 ปีข้างหน้า อัตราพึ่งพาจะลดลงเหลือ 2 : 1 คือ คนมีงานทำ 2 คน สามารถเลี้ยงคนชรา หรือไม่มีงานทำ 1 คน ดังนั้นถ้าไม่วิเคราะห์เรื่องนี้ให้ดีอาจเกิดปัญหาตามมาได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าในส่วนของไทย เท่าที่การประเมินทราบว่า สูงสุดจะมีประชากรไม่เกินประมาณ 67 ล้านคนจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 62-63 ล้านคน
กพ.สรุปไว้ว่า แนวคิดดังกล่าว จึงน่าเป็นการใช้คนให้คุ้มประโยชน์กว่าเดิม และน่าจะดูในเรื่องของการประหยัดงบประมาณ เพราะการขยายอายุเกษียณในหลายประเทศ เช่น ประเทศแถบยุโรป ก็มีการขยายอายุเกษียณราชการ เพราะไม่มีเงินในการจ่ายบำเหน็จบำนาญ ในส่วนของไทยเองก็กำลังจะอยู่ในสภาวะดังกล่าว
เช่นเดียวกับ“สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)”ที่เห็นด้วยกับ กพ. ที่จะช่วยลดภาระทางการคลังของประเทศได้มาก เพราะแต่ละปีมีผู้เกษียณอายุราชการจำนวนมาก ส่งผลให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนที่สูง การแก้ไขดังกล่าวยังเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งพบว่าผู้ที่มีอายุ 60 ปี หลายคนยังมีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะทำงานอยู่ และหลายๆประเทศที่เจอปัญหาผู้สูงอายุ ก็ทำแบบนี้
ดังนั้น กพ.ต้องศึกษาเพิ่มเติม จะต้องจำกัดเฉพาะบางหน่วยงาน หรือเฉพาะสาขางานที่จำเป็น เพราะเด็กรุ่นใหม่อาจยังเข้ามาทำงานไม่เชี่ยวชาญพอ รวมทั้งต้องสอบถามความต้องการของข้าราชการว่า ต้องการให้เกษียณอายุ 60 ปี เท่าเดิมหรือไม่ เพราะอาจมีข้าราชการบางคนต้องการเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และออกไปทำกิจการของตัวเอง หรือดูแลลูกหลาน
หากย้อนกลับไปดู เมื่อต้นปี 2558 นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พูดถึง“มาตรการส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ”ตอนหนึ่งว่า “การเกษียณอายุในความเห็นส่วนตัว เห็นว่าควรอยู่ที่ 65 ปี เนื่องจากเห็นว่าผู้สูงอายุยังทำงานได้อยู่ จากข้อมูล “กองทุนผู้สูงอายุ” พบว่า มีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 30 ที่มีศักยภาพในการทำงานสามารถพึ่งพาตนเองได้”
หรือเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ไปเปิดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2559 ภายใต้แนวคิด“เดินหน้าประเทศไทยไปกับผู้สูงอายุ” ที่จะจัดในวันที่ 7 เมษายน ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ก็เชื่อว่า“แนวทางน่าจะขยายอายุผู้เกษียณเฉพาะสาขา และความเชี่ยวชาญอย่างที่ทำอยู่แล้ว เช่น นักกฎหมาย อาจารย์ นักวิจัย”
และยังให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งประเทศ ถือได้ว่าประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในอีก 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว อยู่ที่ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งประเทศ
เวทีเดียวกัน ข้อมูลในอดีต ที่นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า พ.ร.บ.เกษียณอายุราชการ พ.ศ.2498 ที่กำหนดอายุเกษียณราชการที่ 60 ปี ทั้งที่สมัยนั้นคนไทยอายุขัยเฉลี่ย 58 ปี แต่ปัจจุบันอายุขัยคนไทยเฉลี่ย 74 ปีแล้ว กฎระเบียบดังกล่าวจึงล้าสมัย ยิ่งเมื่อพบว่า คนเกษียณอายุราชการหลายคนยังทำงานได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องขยายอายุเกษียณ แต่การขยายก็ควรดูรายละเอียด ไม่ใช่ให้ทั่วไปหมด เพราะงานไม่เหมือนกัน อย่างงานที่ควรขยาย อาจเป็นงานที่ใช้สมองทำงาน งานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งกพ.คิดว่าต้องไปศึกษาต่อ รวมถึงภาคเอกชนที่อายุเกษียณที่ 55 ปี จะส่งเสริมภาคธุรกิจอย่างไร ให้จ้างงานต่อ เพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุ
แต่ที่แน่ ๆ คนรัฐบาลประกาศไว้แล้วว่า “แนวคิดนี้ จะยังไม่เห็นในสมัยรัฐบาลนี้”