อดีต สปช. แจงศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องขอถอนคำสั่ง ปตท. คืนทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว ชี้ไม่ใช่ผู้ชนะ จึงไม่มีสิทธิ์บังคับคดี งงคำสั่งศาลคดีเก่าเขียนชัดไม่ยกฟ้อง แต่ให้แบ่งทรัพย์แสดงว่าตนชนะคดีด้วยหรือไม่ ถามนักกฎหมาย 9 ข้อ สุดสงสัยทำไมซีอีโอใหญ่ ปตท. ทราบคำสั่งศาลรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ผู้ร้อง และตนยังไม่รู้เรื่องเลย
วันนี้ (11 เม.ย.) เว็บไซต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล ของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เขียนข้อความหัวข้อ ใครคือผู้ชนะคดี? โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด มีมติไม่รับพิจารณาคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางบุญยืน ศิริธรรม และ ตน ที่ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ตุลาการเจ้าของสำนวนเดิมมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่า รายงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปตท.) แจ้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษา (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ 35/2550) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องของตนและคณะด้วยเหตุผลดังนี้ 1. พวกเราที่เป็นผู้ฟ้องคดีตามคดีแดงที่ ฟ 35/2550 ไม่ใช่ผู้ชนะคดีตามคำพิพากษา จึงไม่มีสิทธิขอให้มีการบังคับคดี
2. กรณีขอให้ศาลมีคำสั่งใหม่โดยพิจารณารายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้ตรวจสอบทรัพย์สินในคดีนี้อีกครั้ง ศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า เป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำชี้ขาดคดี หรือประเด็นข้อใดแห่งคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยแล้วจึงเป็นกรณีที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นอีก
ศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ได้อ้างอิงคำพิพากษาคดีแดงที่ ฟ 35/2550 ที่ตน และคณะเป็นผู้ฟ้องคดีนั้น
ซึ่งในคดีนั้นศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ว่า “ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, บริษัท ปตท. ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อรวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ส่วนคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ที่ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 นั้น ให้ยก”
ศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จึงวินิจฉัยว่า ตนและคณะผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ชนะคดี ไม่มีสิทธิขอบังคับคดี
ด้วยความเคารพในคำสั่งตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ตนและคณะยังมีความไม่เข้าใจในประเด็นข้อกฎหมายจึงใคร่ขอความรู้จากผู้รู้ทางกฎหมายเป็นวิทยาทานแก่ตนและคณะ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักการของกฎหมายปกครองต่อไป
การที่ศาลปกครองสูงสุดไม่พิพากษายกฟ้อง แต่มีคำพิพากษาให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ ส่วนคำขอให้เพิกถอนการแปรรูป ปตท. ให้ยก เพราะศาลใช้ดุลพินิจว่าช่วง 6 ปี ระหว่างปี 2544 - 2550 บริษัท ปตท. ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนมหาชน แม้จะไม่ชอบด้วยพระราชกฤษฎีกาการแปรรูปทั้ง 2 ฉบับ แต่เพราะได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าทรัพย์สินของ ปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ในขณะนั้นมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 8 แสนล้านบาท หากมีการเพิกถอนการแปรรูปอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาดหุ้นและระบบเศรษฐกิจ ศาลจึงไม่เพิกถอนการแปรรูปตามคำร้องของผู้ฟ้องคดี แต่มีคำพิพากษาให้แบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนออกจากบริษัท ปตท. ที่ครอบครองและใช้อยู่คืนให้แก่รัฐ
มีอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่งเคยให้ความรู้ตนว่า หากไม่ใช่ผู้ชนะคดีทั้งหมด ศาลต้องพิพากษายกฟ้องสถานเดียว การที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้พิพากษาสั่งยกฟ้อง แต่พิพากษาให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิที่เป็นอำนาจมหาชนออกจากอำนาจของเอกชนของบริษัท ปตท. และสั่งว่าคำขอท้ายฟ้องของตนและคณะที่ให้เพิกถอนการแปรรูปนั้นให้ยก ก็แสดงว่าตนและคณะผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้แพ้คดีทั้งหมด แต่เป็นผู้ชนะคดีส่วนหนึ่ง
ตนขอตั้งคำถามเพื่อให้ผู้รู้ทางกฎหมายโปรดกรุณาชี้แนะดังนี้ 1. หากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้แพ้คดีทั้งหมดตามคำพิพากษา ศาลต้องพิพากษายกฟ้องใช่หรือไม่ 2. ในเมื่อคำพิพากษาไม่ได้พิพากษายกฟ้อง และยังสั่งให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิมหาชนออกจากบริษัท ปตท. คืนให้แก่รัฐ เช่นนี้แสดงว่าคณะผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ชนะคดีบางส่วน ใช่หรือไม่หากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ชนะคดีบางส่วน ผู้ฟ้องคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีได้ ใช่หรือไม่ 3. หากผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ชนะคดีบางส่วน ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แล้วใครคือผู้ชนะคดี และใครคือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากไม่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แล้วจะให้ใครเป็นผู้ขอบังคับคดีเพื่อให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ครบถ้วน
4. การให้โอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิทธิที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนแก่กระทรวงการคลังย่อมต้องมีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้ขอบังคับคดี ใช่หรือไม่ และใครคือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น 5. กระทรวงการคลังเป็นเพียงผู้รับโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กระทรวงการคลังไม่ได้เป็นผู้ฟ้องคดี จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาใช่หรือไม่ หากตนและคณะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เหตุใดศาลจึงไม่สอบถาม ตนและคณะก่อนว่า ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังครบถ้วนแล้วหรือไม่ 6. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - ที่ 4 ได้แก่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. ล้วนแต่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิ้น จึงไม่ใช่ผู้ชนะคดีหรือไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ใช่หรือไม่
7. คำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีไม่ใช่คำพิพากษา หากมีการสั่งผิด สามารถเพิกถอนได้ ใช่หรือไม่ 8. ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ขอให้เพิกถอนคำพิพากษา แต่ขอให้เพิกถอนคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดี โดยขอให้พิจารณารายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินประกอบการคืนทรัพย์สินของ ปตท. ในเมื่อคำสั่งของศาลปกครองในคดีนี้ ก็กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีว่าต้องให้ สตง. ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินเสียก่อน แล้วเหตุใดจึงไม่เรียก สตง. ไปไต่สวนเพื่อให้ได้ความจริงว่ามีการโอนทรัพย์สินครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วหรือยัง 9. หากการบังคับคดีไม่ถูกต้อง เนื่องจาก ปตท. ยังส่งมอบทรัพย์สินไม่ครบถ้วนก็สามารถเพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่ได้ ใช่หรือไม่
ในการสั่งคดีล่าสุดนี้ศาลปกครองไม่ได้นัดหมายให้ตนและคณะในฐานะผู้ฟ้องคดีไปรับฟังคำสั่งของศาลที่มีคำตัดสินในวันที่ 7 เมษายน 2559 ตนได้รับทราบคำสั่งของศาลจากเฟซบุ๊กของนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอใหญ่ของ ปตท. นายเทวินทร์ ได้โพสต์คำสั่งศาลในวันที่ 8 เมษายน 2559 เวลา 5:09 น. เหตุใดนายเทวินทร์ จึงทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่มิใช่ผู้ยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับคดีให้ถูกต้อง เหตุใดจึงไม่แจ้งตนและคณะ ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับคดีให้ถูกต้อง จนถึงขณะนี้ตนก็ยังไม่ได้รับแจ้งจากศาลปกครองว่ามีคำสั่งในคดีนี้ออกมาแล้ว
" ใครคือผู้ชนะคดี?"เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมีมติไม่รับพิจารณาคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริ...
Posted by รสนา โตสิตระกูล on Monday, April 11, 2016