xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักฐาน “หนังสือ สตง. 2 ฉบับ” เตือนล่วงหน้าก่อนโอนท่อก๊าซ ดิ้นเข้าไปอย่าได้ถอย คุกนั้นคอยเอาใจช่วยอยู่!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังจากการที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 แจ้งผลมติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรณี ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้รัฐเสียหายกว่า 32,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ความตอนหนึ่งว่า:

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถูกฟ้องที่ 4 ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด โดยมิได้รอผลรายงานการตรวจสอบของ สตง. โดยในคำร้องมีการกล่าวอ้างว่า

และยังแจ้งต่อศาลปกครองสูงสุดอีกด้วยว่า “การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3, และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแบ่งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องที่ 4 (ปตท.)ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว”

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้แถลงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ว่า คำร้องของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่แจ้งเนื้อหาอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญ

“เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 3 (คณะรัฐมนตรี,นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ไม่ได้ร่วมกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน และในประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้มีข้อยุติว่าถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ แต่ในคำร้องดังกล่าวมิได้ระบุถึงเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้คณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณา”

และการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดแจ้งเนื้อหาอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ เป็นผลทำให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” จึงถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปตท. และกระทรวงการคลัง ที่ออกมาแถลงข่าวโต้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ยืนกระต่ายขาเดียวว่าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งว่าแบ่งแยกทรัพย์สินครบแล้ว

แต่ในขณะคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีจุนยืนว่า ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเช่นนั้นก็เพราะ คำร้องของ ปตท.ที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดไปนั้นเป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีการแปรรูป ปตท.ว่า

“ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 (คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปตท.) ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อรวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ทั้งนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550”

จากคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550 แสดงให้เห็นว่า

ประการแรก ส่วนที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินออกจาก ปตท.มี 3 ส่วนคือ

1.สาธารณสมบัติของแผ่นดิน

2.สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ

3.อำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐ

ใน 3 ประการที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนี้ จึงย่อมแสดงว่าทรัพย์สินที่ต้องทำการแบ่งแยกนั้นย่อมไม่ได้ถึงท่อบนบกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ประการที่สอง ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ในการแบ่งแยกทรัพย์สินคือ “ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4” นั่นก็คือคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปตท. ต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ร่วมกันในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งที่จะแอบอ้างในการแบ่งแยกทรัพย์สินได้

เมื่อมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเช่นนี้ แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 3 นั่นก็คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้มีมติร่วมกันว่า:

“เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน และสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง โดยหากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาของศาลฯในการดำเนินการ แบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป”

จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เจตนาของผู้ถูกฟ้องคดี 3 รายคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการร่วมแบ่งแยกทรัพย์สินโดย ปตท.อยู่ในฐานะเป็นผู้ใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมีผู้ถือหุ้นใหญ่โดยกระทรวงการคลัง ก็ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่ว่า

1.ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ในการแบ่งแยกทรัพย์สินคือกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง

2.ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง

3.หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาของศาลฯให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง (อดีตรองอธิบดีกรมธนารักษ์ และอดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ในช่วงการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท.) ซึ่งเป็นผู้ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินระบุว่าจะดำเนินคดีความอาญานั้น ได้ออกมาโต้แย้งในประเด็นมติคณะรัฐมนตรีนี้อ้างว่า

“มติคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีมติให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองความถูกต้องก่อน แล้วจึงให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรายงานคณะรัฐมนตรีหรือศาลปกครองแต่อย่างใด”

ถ้านายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เห็นว่าเพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในงบการเงินทุกองค์กร “ภายหลังจากดำเนินการ” เป็นปกติอยู่แล้ว ก็ต้องตั้งคำถามว่า

1.มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 ธันวาคม 2550 คือ “วาระการแบ่งแยกทรัพย์สิน” ดังนั้นการให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจึงย่อมต้องหมายถึงการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินเสียก่อน เพราะไม่ใช่รับรองงบการเงินปกติ จริงหรือไม่?

2.มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ได้ระบุถึงความขัดแย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาของศาลฯ แสดงให้เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีย่อมเห็นว่าอาจเกิดความขัดแย้งกันได้ ระหว่าง ผู้โอนกับผู้รับโอน หรือ แม้แต่อาจมีความขัดแย้งกับผู้ตรวจสอบอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงได้วางหลักเกณฑ์ว่าต้องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหาข้อยุติก่อนใช่หรือไม่?

เพราะหากตีความว่าสำนักงานการตรวจเงินทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินตามหลังเป็นปกติอยู่แล้ว คณะรัฐมนตรีก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกมติเป็นกรณีพิเศษเพื่อระบุอำนาจให้กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในการแบ่งแยกทรัพย์สินโดยเฉพาะแต่อย่างใด จริงหรือไม่? และแสดงให้เห็นว่าการวางหลักเกณฑ์ของคณะรัฐมนตรีเช่นนี้ก็เพื่อทำให้เกิดการถ่วงดุลตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินให้มีความถูกต้องเสียก่อน

และในทำนองเดียวกันมติคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้ให้อำนาจ ปตท. และกระทรวงการคลังไปแจ้งต่อศาลปกครองสูงสุดโดยปราศจากการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินใช่หรือไม่?

และไม่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้อำนาจ ปตท.หรือกระทรวงการคลังไปแจ้งต่อศาลปกครองสูงสุดว่าแบ่งแยกทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งๆที่มีข้อโต้แย้งเรื่องท่อก๊าซทางทะเล และยังไม่ได้ข้อยุติจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียก่อนใช่หรือไม่?


เพราะสามัญสำนึกทั่วไป ถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง แล้วอ้างว่าสามารถยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดว่าครบแล้วก่อนได้ แล้วจะทำอย่างไรเมื่อเกิดกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบแล้วพบภายหลังว่าเป็นรายงานเท็จในสาระสำคัญและการแบ่งแยกทรัพย์สินไม่ถูกต้อง?

และเมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินโต้แย้งการแบ่งแยกทรัพย์สิน ปตท.และกระทรวงการคลังกลับให้ยึดว่าให้ทำตามศาลปกครองสูงสุดที่ตัวเองชิงตัดหน้ายื่นคำร้องก่อน ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นก็เพราะ ปตท.และกระทรวงการคลังไม่รอการรับรองความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเสียก่อนใช่หรือไม่ ?

ถ้าเป็นเช่นนั้นการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ไร้ความหมายเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแบ่งแยกทรัพย์สินใดๆทั้งสิ้น คณะรัฐมนตรีก็ไม่มีความจำเป็นต้องออกมติตั้งแต่แรกว่าให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเลย

ถ้าเป็นไปตามแนวทางของ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอ้างแล้ว มติคณะรัฐมนตรีก็ควรจะระบุว่า “ให้ ปตท. และ โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน และสิทธิตามหลักการดังกล่าว เมื่อครบแล้วให้ยื่นคำร้องแจ้งผลการดำเนินงานไปยังศาลปกครองสูงสุด” ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ออกมาใกล้เคียงอย่างทีนายอำนวย ปรีมนวงศ์ ตีความเลยจริงหรือไม่?

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ นายชวลิต พันธ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 อ้างว่า “ก่อน” ปตท.ยื่นคำร้องการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ศาลปกครองสูงสุดนั้น ปตท.ไม่เคยได้รับข้อโต้แย้งใดๆ จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาก่อน

คำถามก็คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เคยโต้แย้งหรือทักท้วงการแบ่งแยกทรัพย์สินและคืนรัฐไม่ครบถ้วนก่อนที่ ปตท. จะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้วหรือไม่?

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว ตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ ตผ.0023/0415 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 และหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ ตผ.0023/0416 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 ลงนามโดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในเรื่อง “ทรัพย์สินที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มาโดยการใช้อำนาจรัฐ” เมื่อตรวจสอบแล้วพบข้อความการทักท้วงความตอนหนึ่งว่า:

“ขณะนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ระหว่างการตรวจสอบซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเจ้าของทรัพย์สินในระหว่างการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพบว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 บมจ.ปตท. มีระบบท่อก๊าซบนบก ในทะเล และระบบท่อจัดจำหน่ายทั้งสิ้น ซึ่งมีมูลค่าที่ได้มาประมาณ 115,000 ล้านบาท (มูลค่าสุทธิทางบัญชีคงเหลือ 80,200 ล้านบาท) ในจำนวนดังกล่าวมีระบบท่อส่งก๊าซบนบกและระบบท่อจัดจำหน่ายบางรายการ ที่ บมจ.ปตท. ได้มาโดยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐหลังจากที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแปลงสภาพเป็น บมจ.ปตท.แล้ว เช่น โครงการท่อเส้นที่ 3 มูลค่าประมาณ 28,600 ล้านบาท และมีการวางระบบท่อก๊าซในทะเลที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นการใช้อำนาจมหาชนของรัฐมาตั้งแต่ยังเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย”

แสดงให้เห็นว่า “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ทำการทักท้วงล่วงหน้า” ก่อน ปตท. จะไปยื่นคำร้องต้องศาลปกครองสูงสุดว่าโอนทรัพย์สินครบแล้วถึงเกือบ 11 เดือน ว่ายังมีท่อก๊าซในทะเลซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ยังไม่ได้มีอยู่ในแผนว่าจะแบ่งแยกและโอนกลับมาเป็นของรัฐใช่หรือไม่?

นอกจากนี้จากใบแถลงข่าวของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ทำให้มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 หรือ 17 วันล่วงหน้าก่อน ปตท.จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่าได้ทำการโอนทรัพย์สินครบถ้วนแล้วนั้น ได้มีการประชุมร่วมระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วย โดยแถลงว่า

“สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เสนอร่างรายงานการตรวจสอบฯทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีความเห็นว่าการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินฯให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วน”

คำถามสำคัญจึงไม่ใช่อยู่ประเด็นว่า ปตท.และกระทรวงการคลังสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดไปก่อน โดยอ้างว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ให้รอผลการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก่อน จึงให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไปรับรองหรือไม่รับรองความถูกต้องในภายหลังได้หรือไม่เท่านั้น

แต่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท. ต่างรู้ใช่หรือไม่ว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ทักท้วงถึงการโอนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนมาก่อนหน้านี้ จึงตัดสินใจชิงตัดหน้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยไม่สนใจการรับรองความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเสียก่อน ใช่หรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น