xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กรรมไล่ล่า ลงดาบเชือด “หมอเลี๊ยบ”-“บิ๊กไฝ” อมท่อก๊าซปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซฯ จากปตท.ถึงจุดไคลแมกซ์ เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)มีมติส่งเรื่องให้คณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดอาญา “หมอเลี๊ยบ”-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.คลัง สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช พ่วง “บิ๊กไฝ”นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และพวก โทษฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่คืนท่อก๊าซฯ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ทำให้รัฐเสียหายกว่า 32,000 หมื่นล้าน

มหากาพย์ที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบสิบปีได้เวลาเริ่มต้นเอาผิดก๊วนแก๊งที่เคยสำแดงฤทธิ์เดชว่าใหญ่คับแผ่นดินชนิดที่เชื่อมั่นเหลือเกินว่าไม่มีใครหน้าไหนจะมาทำอะไรได้ งานนี้คงต้องยกนิ้วให้ภาคประชาชนในนาม “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” และเครือข่าย ที่ต่อสู้เพื่อทวงคืนสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ย่อท้อแม้จะมีอุปสรรคขวากหนามมากมายก็ตาม

มาดูผลการพิจารณาและมติ คตง. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศ.พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง.แถลงว่า สืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้ ปตท.คืนท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินให้รัฐบาล และ ครม. ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 18ธันวาคม 2550 ให้กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยดำเนินการคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลัง และให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการส่งมอบคืน

ต่อมา วันที่ 25 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ว่าได้มีการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว และวันรุ่งขึ้น 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งว่ามีการคืนทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว ต่อมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวก4,450 คน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ปตท. และกระทรวงการคลัง ว่ามีการส่งมอบท่อก๊าซฯ คืนไม่ครบถ้วน ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 กว่าล้านบาท ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องให้ส่งมอบคืนให้ครบถ้วน แต่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งที่800/2557 ว่า การส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วนเป็นการฝ่าฝืนมติ ครม.เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับคณะ จึงมีหนังสือขอให้ คตง.วินิจฉัยว่ากระทรวงการคลัง และ ปตท.กับพวก ฝ่าฝืนมติ ครม.หรือไม่ คตง.จึงมีคำสั่งให้ สตง.ดำเนินการตรวจสอบ เมื่อ สตง.ตรวจสอบแล้วได้เสนอผลการตรวจสอบต่อ คตง. และ คตง. ได้ประชุมกันในวันที่ 10พฤษภาคม 2559 มีมติ ดังนี้

1.ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลเป็นสมบัติสาธารณของแผ่นดิน เพราะได้มาจากการประกอบกิจการและใช้เพื่อกิจการปิโตรเลียมของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521ก่อนการแปรรูปและส่งมอบให้บริษัท ปตท.

2. อดีต รมว.คลัง และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. และพวก ฝ่าฝืนมติ ครม.และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขาดไป 32,000ล้านบาทเศษ และทำให้รัฐขาดประโยชน์จากค่าเช่าที่พึงได้รับ นอกจากนี้ ยังยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดว่าได้ดำเนินการส่งมองท่อก๊าซคืนครบแล้ว โดยไม่รอผลตรวจสอบและรับรองจาก สตง.ตามมติ ครม. ก่อน และไม่เสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 44 ก่อน

3. ให้ส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินคดีอาญา อดีต รมว.คลัง กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.กับพวก เนื่องจากมีพฤติกรรมอันน่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย และความรับผิดทางละเมิดด้วย

4. คตง.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44, 46และ 15 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542ขอให้นายกรัฐมนตรี, รมว.คลัง, รมว.พลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.กับผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซที่ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000ล้านบาทเศษ แก่กระทรวงการคลัง และให้ ครม.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนต่อไปภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก สตง. มิฉะนั้น คตง.จะดำเนินการตามมาตรา 17,63 และ 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ต่อไป

“กระทรวงการคลังมีหน้าดูและรักษาทรัพย์สินแผ่นดิน ท่อก๊าซธรรมชาติมูลค่า 32,000 ล้านบาทเศษ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน นายอดิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซให้ครบถ้วนไม่ได้ ส่วนเมื่อมีการส่งมอบแล้วกระทรวงการคลังจะให้บริษัท ปตท. หรือจะให้ผู้ใดเช่า เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของกระทรวงการคลังต่อไป” ประธาน คตง. ระบุ

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงเพิ่มเติมว่า คตง. ยังมีมติให้ สตง. ดำเนินการ ดังนี้ 1) แจ้ง ครม. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ว่าการบังคับคดีที่ผ่านมา ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามคำบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550เพื่อให้ ครม. ดำเนินการเพื่อให้มีการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป 2)แจ้งนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

3) แจ้งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง คนปัจจุบัน เพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัย ตามนัยมาตรา 44 และ มาตรา46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง 4) แจ้ง รมว.พลังงาน เพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัยตามกฎหมาย หรือตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนด ตามนัยมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

5) แจ้ง ป.ป.ช.เพื่อดำเนินคดีตามนัยมาตรา 46แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง 6) แจ้งผลการตรวจสอบให้ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ก.พ. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และ7) แจ้งผลการตรวจสอบให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก่บุคคลที่กระทำความผิดต่อไป

“เรื่องดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของนายธนกร ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนิติกร 7 ว. กับนายนิพิฐ อริยวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ และนายอำนวย ปรีมนวงศ์ ที่ขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมธนารักษ์ และปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมธนารักษ์ แล้วก็มี รมว.คลัง ขณะนั้น คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่เป็นผู้อนุมัติให้รับเอามูลค่าท่อก๊าซที่ไม่ได้เป็นไปตามมติ ครม.และไม่เป็นไปตามคำพิพากษา รวมถึงฝ่าย ปตท. ก็คือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.และนายสุพจน์ เหล่าอาภา ที่ขณะนั้นเป็นผู้จัดการสำนักกฎหมาย ซึ่ง สตง.จะดำเนินการตามมติ คตง. ต่อไปภายใน 60 วัน”นายพิศิษฐ์แจงแจงข้อมูลเพิ่มเติม

ผู้ว่า สตง. ยังบอกว่า ในการดำเนินการของ สตง. ตามมติของ คตง.จะแบ่งแยกเรื่องค่าเสียหายกับการดำเนินการทางอาญากับผู้ที่รับผิดชอบออกเป็นคนละส่วน ในเรื่องค่าเสียหายหากมีการชดใช้ก็น่าจะบรรเทาลงได้และไปดำเนินการให้ถูกต้องโดยเพิกถอนคำบังคับเดิมที่ไม่ถูกต้องแล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องเพื่อหยุดความเสียหายจากค่าเช่าที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยค่าเช่าใหม่จะต้องคำนวณรวมกับค่าท่อที่คำนวณไว้ไม่ครบด้วย ซึ่งรายจ่ายค่าท่อที่เพิ่มขึ้นไม่ได้กระทบฐานะของปตท. ไม่กระทบต่อราคาหุ้น และคนในวงการหุ้นรู้ดีว่าปตท.อยู่ในฐานะจ่ายได้ การคืนท่อก๊าซฯให้รัฐ ไม่ได้หมายความว่าเอามาแล้วไม่ให้ปตท.ใช้ เพราะท่อยังอยู่ที่เดิม แต่เป็นการคืนเป็นตัวเลขทางบัญชี แล้วมาคำนวณว่าเมื่อไม่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของก็ต้องเช่าและคิดค่าเช่าท่อฯ กันใหม่

จะว่าไปเรื่องความเสียหาย เรื่องค่าเช่าท่อฯ ที่ปตท.ต้องจ่ายเพิ่มคงไม่เท่าไหร่ สามารถบรรเทาและแก้ไขกันใหม่ได้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ก็คือ ความผิดทางอาญา ซึ่งยอมความกันไม่ได้ ใครที่ทำให้รัฐเสียหายต้องรับโทษทัณฑ์นี่สิเป็นเรื่องที่ บิ๊ก ปตท. ที่ยิ่งใหญ่คงซีเรียสน่าดู ส่วนนักการเมืองอย่าง “หมอเลี๊ยบ”ที่เคยได้ขึ้นชื่อว่านักการเมืองน้ำดี มีส่วนร่วมผลักดันทำให้เกิดการปฏิรูป ระบบสุขภาพของประเทศในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็คงต้องก้มหน้ารับกรรมที่ร่วมก่อกับปตท.และข้าราชการกระทรวงคลังที่ติดร่างแหในคราวนี้
หมอเลี๊ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.คลัง สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช
สำหรับรายละเอียดพฤติกรรมการกระทำที่เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมีความผิดทางอาญาตามรายงานการตรวจสอบของ สตง. และ คตง.พิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วยนั้นชัดเจนตามคำแถลงของผู้ว่า สตง. ดังนี้

หนึ่ง การแบ่งแยกทรัพย์สินมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กล่าวคือ คำพิพากษาของศาลฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 นั้น “ให้คณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน....”

แต่จาการตรวจสอบของ สตง.พบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 3มิได้มีส่วนร่วมในการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามคำพิพากษา โดยการแบ่งแยกทรัพย์สินได้ถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่1 พิจารณาลงนามในบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สิน และมิได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนการยื่นคำร้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 และไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3เข้ามีส่วนร่วมในการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ

สอง การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 กล่าวคือ มติครม.ดังกล่าวระบุว่าเมื่อแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามคำพิพากษาของศาลฯ แล้ว ให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง และหากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ แต่จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินนั้น กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ไม่ดำเนินการตามมติครม.กำหนดและไม่ได้ให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง

นอกจากนี้ กรณีท่อก๊าซฯในทะเลซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ทาง สตง. มีหนังสือทักท้วงไปยังกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ลงวันที่ 28มกราคม 2551 ซึ่งเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่ปรากฏว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการต่อศาลปกครองสุงสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม2551 โดยมิได้นำเรื่องท่อก๊าซทางทะเลให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้พิจารณาให้มีข้อยุติ

สาม การจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักฐานมัดอดีตรมว.คลัง คือ “หมอเลี๊ยบ” ชัดเจน กล่าวคือ การแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการแบ่งแยกและโอนให้แก่กระทรวงการคลัง ตามมาตรา 24วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

แต่จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า ไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้คณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ แต่กลับมีกระบวนการเสนอให้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มิใช่บุคคลในบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคณะรัฐมนตรี มิได้มอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถพิจาณาอนุมัติการแบ่งแยกทรัพย์สินได้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นชอบโดยมิได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและเป็นไปโดยมิชอบ

นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่1 กันยายน 2535 กล่าวคือ มิได้ส่งร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

สี่ การเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา มีการแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด กล่าวคือ ภายหลังการลงนามในบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ปตท.ได้ทยอยส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินฯ ตามบันทึกให้กรมธนารักษ์ กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ได้มีการประชุมระหว่าง สตง. กับ ปตท. ซึ่ง สตง.ได้เสนอร่างรายงานการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ในขณะนั้น คือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ โดยมีความเห็นว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้แก่กระทรวงการคลัง ยังไม่ครบถ้วน

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551ปตท.ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ แจ้งว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้แก่กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาของศาลฯ เสร็จสิ้นแล้ว และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 กรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า บริษัท ปตท. ฯ ได้แบ่งแยกทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลัง ครบถ้วนตามที่กรมธนารักษ์และบริษัท ปตท.ฯ ได้ร่วมกันตรวจสอบและกระทรวงการคลังได้เห็นชอบแล้ว ขอให้รายงานศาลปกครองสูงสุด เพื่อทราบต่อไป ซึ่ง บริษัท ปตท. ฯ ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ตามคำพิพากษาของศาลฯ โดยไม่ได้รอผลการตรวจสอบ สตง.
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.
โดยในคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. มีคำกล่าวว่า “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 4และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด” และยังกล่าวอ้างว่ากระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ได้ทำตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ครบถ้วนแล้วดังกล่าวข้างต้น ซึ่ง สตง.เห็นว่า เป็นข้อกล่าวอ้างที่แจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญ เนื่องจากปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 3ไม่ได้ร่วมกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน และในประเด็นเรื่องท่อก๊าซฯในทะเล ยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

ในคำร้องดังกล่าวมิได้ระบุถึงเรื่องท่อก๊าซฯในทะเลให้ศาลปกครองสูงสุดได้รับทราบข้อเท็จจริง และไม่ได้รายงานว่าประเด็นเรื่องท่อก๊าซฯในทะเลนั้น มิได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณา การยื่นคำร้องโดยการกล่าวอ้างดังกล่าว เป็นผลให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

“ดังนั้น การยื่นคำร้องดังกล่าว จึงเป็นการแจ้งเนื้อหาอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ

“การที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของสาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่26 ธันวาคม 2551 โดยไม่ปรากฏการแบ่งแยกทรัพย์สิน มูลค่า 32,613.45 ล้านบาท ให้แก่รัฐ รวมทั้งไม่ได้รายงานทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ทำให้มีทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคงเหลือที่ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายขั้นต้นไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนไปให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2554 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง”ผู้ว่าการ สตง. ระบุ

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ซึ่งติดตามคดี ปตท. มาอย่างต่อเนื่อง โพสเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 11พฤษภาคม 2559 ว่า จากคำแถลงของผู้ว่า สตง.นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส และตอบข้อซักถาม พบว่า กรณีจำนวนทรัพย์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบมีจำนวนมากกว่าที่ สตง.ตรวจสอบ กล่าวคือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุทรัพย์สินเฉพาะท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเล ที่ต้องคืนให้กระทรวงการคลัง มีมูลค่ารวมกว่า 68,000ล้านบาท ส่วนที่ปตท.คืนแล้ว16,000ล้านบาท ยังขาดอีกเป็นจำนวนกว่า 52,000 ล้านบาท

และนอกจากนั้น ยังมีส่วนที่ประชาชนผู้ฟ้องคดีตรวจสอบ พบว่า ยังมีหุ้นในบริษัททรานส์ไทยมาเลเซีย( TTM)ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย ที่เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐต่อรัฐ จึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องคืนด้วย ซึ่งไม่ได้อยู่ในการรายงานตรวจสอบทรัพย์สินที่ต้องคืนทั้งจากสตง.และผู้ตรวจการแผ่นดิน จะทำอย่างไรต่อไป ผู้ว่าสตง.ตอบว่า การตรวจสอบครั้งนี้จำกัดเฉพาะของเดิมที่สตง.ทำรายงานไว้ หากยังมีส่วนที่ยังไม่ครบถ้วน จะมีการตรวจสอบต่อไปได้อีก

มหากาพย์ทวงคืนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จาก ปตท. ยังเหลืออีกหลายยก เพราะหลังจาก คตง. มีมติออกมาข้างต้น ปตท.ก็ออกมาโต้ทันควันว่าดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินถูกต้องครบถ้วนกระบวนความแล้ว และคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ย่อมถือเป็นข้อยุติไม่อาจมีบุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดจะมีอำนาจกลับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้....

ฉากสุดท้ายของมหากาพย์ฯ จะลงเอยเช่นใด โปรดติดตามกันต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น