xs
xsm
sm
md
lg

“ชาญชัย” ปูดเอไอเอสเล่นแง่ไม่คืนทรัพย์สินรัฐ ชี้แก้สัญญา-กม.ทำรัฐสูญ 1.2 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์
รองประธานอนุ กมธ. ปราบทุจริต สปท. แฉเอกสารลับเอไอเอส เล่นแง่ไม่คืนทรัพย์สินรัฐ ชี้ แก้สัญญา 5 ครั้ง พ่วงแก้กฎหมาย รัฐสูญ 1.25 แสนล้านบาท

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามทุจริต ในสังกัดคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฎิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณี บมจ.เอไอเอส ชี้แจง 3 ข้อยืนยันว่า ไม่ได้ทำให้รัฐเสียหายจากการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ว่า ขอขอบคุณ เอไอเอส ที่ยืนยันในเรื่องนี้ แต่คงไม่ปฏิเสธว่าที่ผ่านมา เอไอเอส ได้เงินเข้าบริษัทแล้วนับแสนล้านจากการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมนี้ ขอให้ดูว่า 1. การแก้ไขสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะจากเอกสารบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ 291/2550 ลงนามโดย คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาอนุญาต ระหว่าง ทศท. หรือ (บมจ.ทีโอที ปัจจุบัน) กับ บมจ.เอไอเอส ตามกรณีหารือ ดำเนินการไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. ให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯฉบับปี พ.ศ. 2553 เพราะไม่ได้เสนอเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาให้คณะกรรมการประสานงาน มาตรา 22 พิจารณา และเสนอให้ ครม. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมที่ทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐถึง 5 ครั้ง รวมมูลค่า 88,359 ล้านบาท ถือเป็นเงินที่ เอไอเอส ได้ประโยชน์หรือไม่

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ส่วนที่อ้างว่า การแก้ไขสัญญานี้ ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ใช้งานในราคาที่ถูกลงนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาของ บมจ.เอไอเอส กับ ทศท. (บมจ.ทีโอที) ไว้เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2553 ว่า การแก้ไขสัญญาโดยทำเป็นบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาในกรณีนี้ ไม่ได้เสนอต่อคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ฉบับปี 2535 เพื่อขอความเห็นชอบก่อน จึงวินิจฉัยว่า การอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้เป็นการชอบหรือไม่ หรือเพื่อประโยชน์แก่ เอไอเอส

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสัญญาในสาระสำคัญ ทำให้ ทศท. (บมจ.ทีโอที) ต้องขาดผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับตามสัญญาหลัก แต่กลายเป็น เอไอเอส ได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น นับจากวันที่ 1 มิ.ย. 2544 ไปถึงสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 ก.ย. 2558 เป็นเวลาเกินกว่า 14 ปี ที่ทำให้ ทศท. (ทีโอที) เสียประโยชน์ของรัฐที่ควรจะได้

รองประธานอนุฯ กล่าวต่อว่า สำหรับมูลค่าความเสียหายจากการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมของ เอไอเอสกับทีโอทีนั้น ตามเอกสารหลักฐานที่ อนุ กมธ. ตรวจสอบพบ คือ การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 3 มูลค่าความเสียหาย 100 ล้านบาท ครั้งที่ 4 เสียหาย 7,019 ล้านบาท ครั้งที่ 5 เสียหาย 429 ล้านบาท ครั้งที่ 6 เสียหายถึง 70,819 และครั้งที่ 7 เสียหาย 9,992 ล้านบาท รวมมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 88,359 ล้านบาท ส่วนที่อ้างว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม เอไอเอส ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดนั้น ถามว่าในสมัย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ได้ออก พ.ร.ก. ภาษีสรรพสามิต โดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2546 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯวินิจฉัยแล้วว่า นายทักษิณใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในการตรา พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับ และออกประกาศกระทรวงการคลัง รวมทั้งมติ ครม. ให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกจากค่าสัมปทาน ซึ่งเป็นการกีดกันผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป ขณะนั้น หรือ (เอไอเอส) จนเป็นเหตุให้รัฐขาดรายได้ตามสัญญาหลักเป็นเงินอีก 36,861 ล้านบาท รวมเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา และ แก้ไขกฎหมายสรรพสามิต ทำให้รัฐเสียหายรวม 125,220 ล้านบาท ซึ่งเอไอเอสได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว

นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่ เอไอเอส ระบุในข้อ 3. ว่า อยู่ระหว่างการเจรจาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บมจ.ทีโอที และรอส่งมอบเสาสัญญาณคลื่น เครื่องมือ และอุปกรณ์ทั้งหมด 1.6 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ให้ ทีโอที นั้น ก็ไม่ตรงกับหลักฐานที่มี เพราะอนุ กมธ. มีหลักฐานประทับตรา “ลับ” ของ บมจ.เอไอเอส ลงวันที่ 7 ส.ค. 2556 ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที โดยมีสาระสำคัญระบุว่า เอกสารลับนี้ขอยกเลิกหนังสือส่งมอบทรัพย์สินในส่วนของเสาติดตั้งสายอากาศคืนแก่ ทีโอที ทั้งที่ในสัญญาหลักข้อ 2, 3, 4 ระบุชัดเจนว่า อุปกรณ์ทั้งหมด เสา ฐาน และสัญญาการเช่าที่ดินต้องส่งมอบให้ ทีโอที ณ วันที่ก่อสร้างเสร็จสิ้น โดยทรัพย์สินทั้งหมดต้องตกเป็นของรัฐ ในวันที่สิ้นสุดสัญญาคือวันที่ 28 ก.ย. 2558 โดยไม่มีเงื่อนไข

แต่การที่ เอไอเอส ตั้งเงื่อนไขขอเจรจาใหม่ ว่า ต้องให้ เอไอเอส มีหุ้นส่วน หรือผลประโยชน์ในอุปกรณ์เหล่านี้ด้วยแล้วจะส่งมอบคืนให้ ต่องขอขอบคุณที่สารภาพความจริง และความผิดที่ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ทำผิดกฎหมายจนเป็นเหตุให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดผู้บริหารทีโอที ไปแล้ว และที่ เอไอเอส อ้างว่า การแก้ไขสัญญาเป็นไปโดยสมัครใจของทั้งสองฝ่ายนั้น ถือเป็นการร่วมทำผิดกฎหมาย ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จนถึงวันนี้ยังไม่ปรากฏว่า จะมีหน่วยงานใดของรัฐจะบังคับใช้กฎหมายโดยเรียกคืนทรัพย์สินกลับมาเป็นของรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น