xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมเถียงกันไม่จบสักที เรื่องการคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถึง 2 หน่วยงาน คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ต่างได้แถลงข่าวในมติที่ตรงกันว่าการส่งท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้น ยังคืนไม่ครบตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

เมื่อมีการแถลงข่าวเรื่องนี้เมื่อใด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็จะออกมาแถลงตอบโต้ทันทีว่าได้มีการส่งมอบคืนทรัพย์สินให้กับกรมธนารักษ์ครบแล้ว และยังอ้างอีกด้วยว่าศาลปกครองสูงสุดได้ให้ความเห็นว่า ปตท.ได้ส่งมอบทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ยังยืนยันว่าจะเชื่อฟังศาลปกครองสูงสุดมากกว่าความเห็นและมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

คนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ก็อาจจะสับสนเรื่องนี้พอสมควร เพราะองค์กรเหล่านี้เขาพูดคนละเรื่องเดียวกัน

เพราะสาระสำคัญในเรื่องนี้อยู่ประเด็นที่ว่า ปตท.มักจะอ้างมาโดยตลอดว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งว่า ปตท. ได้ส่งมอบทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว

ในขณะที่ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่ยืนยันว่าการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่รัฐนั้นยังคืนไม่ครบตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพราะภายหลังจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ปตท.ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่ว่า ต้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินเสียก่อน แต่ ปตท.ไม่ดำเนินการตามนั้น แต่กลับไปแจ้งต่อศาลปกครองสูงสุดว่าได้ดำเนินการคืนท่อก๊าซครบถ้วนแล้ว จนเป็นเหตุทำให้ศาลปกครองเข้าใจไปว่าการส่งมอบทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ตามที่ ปตท.รายงานมา

ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 และได้ทำการรวบรวมเอกสารถึงเหตุผลว่าการคืนทรัพย์สินนั้นยังไม่ครบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยพิพากษาความตอนท้ายว่า

"ให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อรวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550"

จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มิได้กำหนดเฉพาะท่อก๊าซธรรมชาติบนบก ซึ่งใช้สิทธิการใช้ที่ดินแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังระบุคำชัดเจนถึง ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐ ต้องแยกออกมาจากอำนาจและสิทธิของ ปตท. อย่างชัดเจนด้วย ดังนั้นความเห็นของศาสตราจารย์ ดร.ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงถูกต้องตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้วว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน

ประการที่สอง ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2550 ว่า

"เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน และสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง โดยหากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป "
        
ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น ระบุให้ผู้ทำหน้าที่แบ่งแยกทรัพย์สินคือ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ไม่ใช่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อแบ่งแยกทรัพย์สินแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้อง ต้องเป็นหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ใช่หน้าที่ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เลย ดังนั้น การทำหน้าที่ของกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังตามมติคณะรัฐมนตรีจะครบถ้วนสมบูรณ์ได้นั้น จึงต้องมีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นสำคัญเสียก่อน และหากมีข้อโต้แย้ง เฉพาะด้านกฎหมายเท่านั้น จึงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาให้ได้ข้อยุติ

ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การทำหน้าที่ในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ยังทำไม่ครบถ้วนตามกระบวนการของมติคณะรัฐมนตรี เพราะในขณะที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องในคดีที่ 4 ได้กระทำการยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินงานตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ว่า ต้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน แต่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่รายงานข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของมติคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองสูงสุดว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินยังไม่ได้รับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน อีกทั้งยังให้ความเห็นในรายงานสรุปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว

การรายงาน ที่ไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดเช่นนี้ จึงเป็นผลทำให้ นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ได้บันทึกคำสั่งลงในคำร้องดังกล่าวด้วยลายมือว่า

“เสนอวันนี้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รายละเอียดปรากฏตามคำร้อง รวมสำนวน ลงลายมือชื่อ จรัญ หัตถกรรม 26 ธ.ค. 51”

ดังนั้นการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มักอ้างการบันทึกข้อความในคำร้องของนายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดมาโดยตลอดว่า เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และยังอ้างเป็นการพิสูจน์ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้คืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้วนั้น ก็เป็นเพราะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แจ้งรายละเอียดปรากฏตามคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดในสาระสำคัญว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ยังไม่รับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามมติคณะรัฐมนตรี

การรายงานลักษณะนี้จึงทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีเจตนารายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน และมติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่เห็นควรที่จะต้องดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่กระทำความผิดหลายคนในโอกาสต่อไป

ประการที่สาม ตามเอกสารประกอบการแถลงข่าวของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือทักท้วงให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานทราบ เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกรณีที่มีการโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังไม่ได้นำเรื่องข้อโต้แย้งของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ว่า ต้องคืนท่อก๊าซในทะเลด้วย ส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาให้มีข้อยุติ แล้วปล่อยให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด โดยไม่มีการรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551 อย่างชัดเจน

จากข้อมูลดังกล่าวถ้าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ดำเนินการทักท้วงในการคืนทรัพย์สิน ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2551 ถึงกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องทำหน้าที่แบ่งแยกทรัพย์สินตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น เป็นความจริงหรือไม่ แม้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะอ้างว่าได้ส่งบัญชีทรัพย์สินให้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2551 ก็ไม่ได้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอยู่ดี เพราะหากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายในการตีความแล้ว ผู้ที่หาข้อยุติดังกล่าว ต้องเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ใช่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อ้างว่า หนังสือโต้แย้งอีกฉบับหนึ่งของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2551 นั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่เคยได้รับมาก่อน โดย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้นำส่งให้แก่ ปตท. ศาลฯ และหน่วยงานอื่นๆ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ศาลฯ มีคำสั่งแล้วและเป็นวันที่หมดเขตการขยายเวลาแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำสั่งศาลฯนั้น

ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวอาจทำให้เข้าใจผิดว่าวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้พ้นช่วงการขยายเวลาแบ่งแยกทรัพย์สินไปแล้ว หรืออาจทำให้เข้าใจว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินบกพร่องต่อหน้าที่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2551 เป็นวันครบกำหนดระยะเวลาการดำเนินการตามคำพิพากษาพอดี วันครบกำหนดจึงไม่เลยวันแบ่งแยกทรัพย์สิน การเสนอรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2551 จึงเป็นวันที่ยังอยู่ในช่วงระยะเวลาการดำเนินการตามคำพิพากษาที่ศาลอนุญาต และยิ่งไปกว่านั้น จะต้องตั้งคำถามว่าเอกสารประกอบการแถลงข่าวของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งได้ระบุว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้โต้แย้งมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 อยู่ด้วยแล้ว จริงหรือไม่

แต่ปัญหาที่แท้จริงในกรณีนี้เกิดขึ้นเพราะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กระทำการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยปราศจากการรับรองความถูกต้องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจกระทำที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีในการแบ่งแยกทรัพย์สิน

เพราะหากกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความเห็นว่า ระยะเวลากระชั้นชิดเกินไปที่จะรอเอกสารการรับรองความถูกต้องของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็สามารถที่จะยื่นคำร้องเพื่อขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก เช่นเดียวกับที่เคยทำมาแล้วถึง 4 ครั้ง ก่อนหน้านี้

แต่การที่กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ไม่รอการรับรองความถูกต้องของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตามมติคณะรัฐมนตรี ก็เพราะได้รับทราบข้อโต้แย้งของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินล่วงหน้าอยู่แล้วตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551ใช่หรือไม่ ว่าจะต้องให้มีการคืนท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลด้วย ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ต้องมีการตั้งคำถามต่อมาว่า ตามเอกสารประกอบการแถลงข่าวของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งได้แจ้งว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ได้เคยเสนอร่างรายงานการตรวจสอบทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีความเห็นว่า การแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินฯ ให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551 จริงหรือไม่

เมื่อได้รับทราบข้อโต้แย้งจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแล้ว แทนที่จะดำเนินการแก้ไข หรือส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อวินิจฉัยหาข้อยุติทางกฎหมาย กลับปรากฏว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลับเลือกละเว้นไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีแล้วส่งรายงานที่ไม่ได้มีการรับรองจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดแทน ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีความเห็นว่า ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จริงหรือไม่

ดังนั้นคำถามจึงมีประเด็นที่ว่า การที่ ปตท.มักอ้างว่าได้ศาลปกครองสูงสุดได้ให้ความเห็นว่าคืนครบถ้วนแล้วนั้น ก็เป็นเพราะ ปตท.ไม่รายงานข้อเท็จจริงการโต้แย้งของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินใช่หรือไม่?

จึงสมควรแก่เหตุแล้วหรือไม่ ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต่างมีความเห็นตรงกันที่จะต้องดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น