xs
xsm
sm
md
lg

มทบ.41 ขอเป็นคนกลางแก้ปัญหาความขัดแย้งชาวไทยใหม่-บารอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ตัวแทนชาวไทยใหม่ เอ็นจีโอ 12 คน พบผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 หลังส่งหนังสือเชิญ เผยเป็นการร่วมหารือเพื่อรับทราบข้อมูลหาทางออกปัญหา เตรียมเชิญบริษัทบารอน พบภายในเดือนนี้ เพื่อหาแนวทางลดปัญหาความขัดแย้ง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (26 เม.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.ภูเก็ต กลุ่มชาวบ้านไทยใหม่บ้านราไวย์ และเอ็นจีโอ จำนวน 12 คน ประกอบด้วย นายอาหลิม หาดทรายทอง นายเสกสรรค์ บางจาก นายเลี้ยว หลักเกาะ นายหงีม ดำรงเกษตร นายชนะ หาดทรายทอง นายสนิท แซ่ซั่ว นายนิรันด์ หยังปาน นายสงัด หาดวารี นายบุญนำ บางจาก นายบัญชา หาดทรายทอง นายไมตรี จงใจกว้าง และนางปรีดา คงแป้น เข้าพบ พล.ต.ธีร์ณฉัฎฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41/ผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 หลังได้รับหนังสือเชิญตัวจากกองบัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 (มทบ.41) ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ผ่านมา โดยให้ไปรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ 41 จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ทางชาวไทยใหม่ไม่สะดวกจึงได้นัดให้มาพบกันในวันนี้ (26 เม.ย.)

ในการเดินทางมาพบกับ พล.ต.ธีร์ณฉัฎฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41/ผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 ของชาวไทยใหม่ และเอ็นจีโอ ทั้ง 12 ราย ในครั้งนี้ มีชาวไทยใหม่ในพื้นที่ ต.ราไวย์ เดินทางมาให้กำลังใจด้วยเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมี นายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดี ฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนจากจังหวัดเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

สำหรับการเดินทางเข้ารายงานตัวของชาวไทยใหม่ราไวย์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังชาวบ้านได้รับหนังสือเชิญตัวจากกองบัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 (มทบ.41) ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช ให้แกนนำชาวเลราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต และเอ็นจีโอรวม 12 ราย ไปพบเพื่อสอบถาม และให้ถ้อยคำที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 1 เมษายน 2558 ในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า เนื่องด้วยมีข้อมูลข่าวสารอันน่าเชื่อถือว่า เกี่ยวข้องต่อการชุมนุม หรือเป็นแกนนำในการชุมนุมของชาวไทยใหม่ (ราไวย์) อันถือเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอำนาจอ้างถึง มณฑลทหารบกที่ 41/กองบัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 ขอให้ไปพบผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41/ผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 ณ กองบัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 ค่ายวชิราวุธ ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2559 เวลา 13.00 น. ลงนามคำสั่ง พล.ต.ธีร์ณฉัฎฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41/ผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41

นายนิรันดร์ หยังปาน หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกเรียกตัว กล่าวก่อนที่จะเข้าพบกับทาง พล.ต.ธีร์ณฉัฎฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41/ผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 ว่า หลังได้รับหนังสือก็รู้สึกตกใจที่ตกเป็นแกนนำชาวบ้าน ทั้งๆ ที่สิ่งที่ตนทำไปนั้นทำไปในฐานะชาวบ้านที่ต้องการรักษาสิทธิเท่านั้น และเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้แจ้งไปทางทหารว่า ไม่สามารถเดินทางไปที่นครศรีธรรมราชได้ เนื่องจากชาวบ้านติดภารกิจ จัดงานแต่งเปลว ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีการสืบทอดกันมายาวนาน และมีการแจ้งกลับไป มทบ.41 แล้วว่า จะขอเดินทางไปพบวันอื่น แต่ทาง มทบ.41 ได้นัดให้มาพบในวันนี้ที่ศาลากลาง จ.ภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม สำหรับการร่วมหารือระหว่างตัวแทนในส่วนของชาวไทยใหม่ และ พล.ต.ธีร์ณฉัฎฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41/ผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 ไม่ได้เปิดให้สื่อมวลชนได้เข้าสังเกตการณ์แต่อย่างใด โดยใช้เวลาในในการพูดคุยเกือบ 2 ชั่วโมง ในการพูดคุยครั้งนี้

พล.ต.ธีร์ณฉัฎฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41/ผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 เปิดเผยว่า การลงมาพบปะกับชาวไทยใหม่ในครั้งนี้ เป็นการมารับฟังข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากชาวไทยใหม่โดยตรง โดยที่ไม่มีหน่วยงานอื่นๆร่วมพูดคุย และไม่ได้เป็นการเรียกให้ชาวไทยใหม่ไปรายงานตัวเหมือนที่มีการเข้าใจกัน ในหนังสือเป็นการส่งมาเพื่อให้ไปพบปะพูดคุยเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเรียกให้ไปรายงานตัวแต่อย่างใด ตอนนี้ได้ทำความเข้าใจต่อชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว ที่ลงมาครั้งนี้อยากทราบข้อมูลจริงๆ จากปากชาวไทยใหม่ เพราะที่ผ่านมา มีการประชุมกันไปหลายครั้ง มีทั้งหน่วยราชการ ชาวไทยใหม่ และหน่วยงานอื่นๆ เมื่อมีการพูดคุยกันก็จะมีการแย้งกันไปแย้งกันมา จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถพูดในสิ่งที่อยากจะพูดได้อย่างเต็มที่ ตนจึงอยากให้ชาวบ้านได้สื่อออกมาอย่างเต็มที่ถึงความต้องการ ที่สื่อออกมาด้วยความบริสุทธิ์จากชาวเล อยากได้สิ่งที่เป็นชีวิต และจิตวิญญาณของชาวเลจริงๆ ที่ไม่มีการปรุงแต่ง จึงเชิญชาวไทยใหม่มาร่วมพูดคุยโดยมีไม่คนอื่นเข้ามาแย้ง

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับชาวไทยใหม่ก็ได้ข้อมูลมากพอสมควร โดยเฉพาะสิทธิในเรื่องของที่อยู่อาศัย และสิทธิในการทำกิน สิ่งเหล่านี้ก็จะรวบรวมไว้เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างชาวไทยใหม่ และบริษัทเอกชนที่กำลังมีปัญหาความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับครั้งนี้ถือว่ายังไม่ครอบคลุม เพราะจะต้องเชิญในส่วนของทางบริษัทบารอน มาร่วมพูดคุยด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะร่วมหารือกับทางบริษัทบารอนได้ภายในเดือนนี้ คิดว่าถ้าได้มีการพูดคุยกับทุกฝ่ายจะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นคลี่คลายไปในทางที่ดีได้ ซึ่งในเรื่องนี้ คิดว่าทางทหารจะเข้ามาเป็นตัวกลางในการหาทางออกร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการหารือกับทุกฝ่าย และให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ และเกิดความสงบในพื้นที่

ส่วนกรณีที่มีการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาของชาวไทยใหม่ ทั้งกรณีชาวไทยใหม่ กับชาวบ้านในพื้นที่ และกรณีชาวไทยใหม่กับทางบริษัทบารอน ก็ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน ไม่สามารถที่จะก้าวล่วงจุดนี้ได้ เช่นเดียวกับกรณีที่มีการฟ้องร้องเรื่องนี้ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการการตัดสินของศาล แต่สิ่งที่ทหารจะเข้ามาทำคือ ปัญหาเรื่องความกระทบกระทั่งกัน ระหว่างชาวไทยใหม่ กับทางบริษัททำกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งชาวบ้านเองก็ไม่อยากที่จะให้มีปัญหาเกิดขึ้น อยากที่จะให้อยู่กันอยากสงบสุข การลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็เพื่อมาหาข้อมูลเพื่อนำไปกำหนดวิธีการในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในพื้นที่

ขณะที่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่ดินในส่วนของชาวไทยใหม่ที่ราไวย์ มี 2 ส่วน คือ ในส่วนของชุมชนที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ในที่ดินที่มีชาวบ้านอ้างสิทธิ เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ จุดนี้ทางจังหวัดกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยการเสนอไปยังรัฐบาลในการจ่ายชดเชยให้แก่เจ้าของที่ดิน ซึ่งต้องใช้งบประมาณพอสมควร หลังจากนั้น ก็จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านให้ดีขึ้น ส่วนกรณีของบารอน ที่ลงมาฟังปัญหาในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ทางดีเอสไอเตรียมข้อมูลไว้แล้วโดยเฉพาะเรื่องการออกเอกสารสิทธิที่น่าจะไม่ถูกต้องตั้งแต่ ส.ค.มา ส่วนการแก้ไขปัญหาชาวเล ทางนายกรัฐมนตรี เองก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้คิดว่าน่าจะมีการแก้ไขปัญหาในรูปคณะกรรมการระดับชาติ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น