ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มาช้านาทีสุดท้ายแต่ก็ดีกว่าไม่มา ในที่สุด นายศรีราชา วงศารยางค์กูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ถือฤกษ์วันลุกจากเก้าอี้ 4 เมษายน 2559 ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณี บมจ.ปตท.ไม่คืนท่อก๊าซฯ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และนำท่อก๊าซฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปแสวงหาประโยชน์
ต้องบอกว่ามหากาพย์ ปตท.อมท่อก๊าซ ที่ลากยาวมาเกือบทศวรรษตั้งแต่ปี 2550 หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา จนบัดนี้ ยังคาใจไม่สะเด็ดน้ำ รอบนี้ก็ถือว่าเอาเสียให้เคลียร์คัตตัดสินกันให้จบ จะออกหัวหรือก้อย จะได้ไม่ต้องคาใจสาธารณชนกันอีกต่อไป เพราะที่ผ่านๆ มาก็มีการฟ้องร้องต่อศาล แต่ถูกตีตกศาลไม่รับฟ้องด้วยว่าผู้ยื่นฟ้องไม่ได้เป็นผู้เสียหายในคดี ฯลฯ
ขณะที่ ปตท.ก็ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน มาตลอดว่าคืนท่อฯ ครบถ้วนแล้ว จะเอาอะไรอีก
เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ออกโรงฟ้องศาลเอง ก็น่าจะได้ข้อยุติกันก็คราวนี้!!!??
ตามถ้อยแถลงของนายศรีราชา ระบุว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และพวก รวมจำนวน 11 ราย ฐานไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่18 ธันวาคม 2550 และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
1. เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่18 ธันวาคม 2550 และวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน ประกอบด้วย ที่ดินที่ได้จากการเวนคืน สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชนและทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ1.โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย 2. โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และ 3.โครงการท่อราชบุรี-วังน้อย รวมถึงโครงการท่อย่อย ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30ก.ย. 2544 ประมาณ 16,175 ล้านบาท เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดจากการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งขณะนั้น
2. สั่งให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศให้กระทรวงการคลัง ตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย วันที่ 30 กันยายน 2544 จำนวน 68,569 ล้านบาท บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้คืนไปแล้วประมาณ 16,175 ล้านบาท ดังนั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)ยังคงต้องโอนคืนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลัง อีกจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 52,393ล้านบาท รวมทั้งค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่นและสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนต่อไป
และ 3.เพิกถอนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากหลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
ต่อมา วันที่ 18 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการตามความเห็นของกระทรวงพลังงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มีนายปิยสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สินอำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว แล้วให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการปฏิบัติ พบว่า การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลับร่วมกันเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลและบนบกที่เป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง รวมทั้งระบบท่อที่ได้ก่อสร้างในที่ดินของรัฐภายหลังการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยไม่มีผลตอบแทนคืนให้แก่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)ได้รายงานผลการดำเนินการตามคำพิพากษาอันเป็นเท็จดังกล่าวนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551โดยรายงานว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว
“เห็นได้ว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนโดยไม่เป็นธรรม และมิได้รักษาผลประโยชน์ของชาติตามหน้าที่ของข้าราชการที่ต้องพึงปฏิบัติ มีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และลัดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ปล่อยปละละเลยมิได้เร่งรัด ติดตาม ทวงคืนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราใช้เวลากว่า3 ปีในการตรวจสอบ โดยหลังจากศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล เพราะไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ก็ได้มีการพูดคุยกันและมีการมาร้องเรียนของ พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวะพันธุ์ศรี ในนามเครือข่ายภาคประชาชน ที่เป็นฐานในการทำงานจนได้ข้อมูลที่เป็นเอกสารหลักฐานเสนอศาลกว่า96 รายการ โดยในจำนวนนี้มีข้อมูลที่เป็นท่อก๊าซที่ สตง.ตรวจพบแล้วยังไม่มีการเปิดเผยกว่า 50 ท่อ เชื่อว่าทั้งคำฟ้องและหลักฐานที่ยื่นประกอบรวมทั้งหมด 500หน้ามีความหนักแน่นพอที่ศาลจะพิจารณาและมีคำพิพากษา” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจ ในทำนองเอาปตท.อยู่แน่
สำหรับผู้ถูกฟ้องคดี 11 ราย เป็นทั้งฟ้องตัวบุคคลและหน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง, นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีต รมว.คลัง, นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง,ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีต รมช.คลัง, กระทรวงพลังงาน,นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต รมว.พลังงาน, นายประสิทธิ์ สืบชนะ อดีตรองอธิบดีกรมธนารักษ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)
การตรวจสอบบริษัทปตท. ในครั้งนี้ ยังทำให้เชื่อมโยงพบเรื่องการจัดเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้โต้แย้งไปแล้วก่อนหน้านี้ เพราะการจัดเก็บภาษีต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่สามารถทำได้โดยคำสั่งฝ่ายบริหาร ขณะนี้ยังมีคำร้องเกี่ยวกับปตท.อีก 2-3 เรื่อง เช่น การสร้างแท็งก์เก็บน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีราคาสูงเกินความจำเป็น
“ที่ผ่านมาปตท.ใช้สิทธิแสวงหาประโยชน์จากประชาชนเกินกว่าที่ประชาชนจะแบกรับ พอผู้ตรวจฯมีการตรวจสอบเรื่องกองทุนน้ำมันก็จะเห็นได้ว่าน้ำมันมีราคาถูกลง แต่ทั้งนี้ปตท.ยังเป็นองค์กรที่ลึกลับ เชื่อว่ายังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์อีกเยอะ การที่กรรมการของปตท. และตัวแทนจากรัฐทั้งกระทรวงการคลังและพลังงาน เข้ามานั่งเป็นกรรมการ ก็มีผลประโยชน์ เพียงแค่ปี 2557 แค่เบี้ยประชุมก็ 2ล้านบาทต่อปี บวกกับเงินปันผลอีก 2.7 ล้านบาทต่อปี รวมแล้วกรรมการแต่ละคนจะได้ไม่ต่ำกว่า 4.7 ล้านบาทต่อปี จึงทำให้ไม่อยากทุบกระเป๋าตัวเอง เมื่อผู้ตรวจได้เริ่มตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็มีอดีตประธานปตท.เขียนจดหมายส่วนตัวมาถึงตนระบุว่าปตท.ได้ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว อย่ามาหาเรื่องและให้ยุติเรื่องดังกล่าว ซึ่งผมก็เก็บจดหมายใส่ลิ้นชักแล้วเดินหน้าต่อไป จนมาถึงการฟ้องร้องในครั้งนี้”นายศรีราชา กล่าว
ฟากฝั่ง ปตท. ที่ถนัดในการเอามือปิดฟ้า ก็ออกมาสวนหมัดทันควัน ถึงแม้จะยังไม่ได้รับทราบละเอียดคำฟ้อง แต่นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)ก็บอกว่า จากเนื้อหาตามข่าวไม่พบว่ามีประเด็นใหม่ ที่ผ่านมา ปตท.เคารพและปฏิบัติตามคำสั่งศาลตลอดมา ซึ่งประเด็นการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเรื่องการคืนท่อส่งก๊าซฯ นี้ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลฯ มาตั้งแต่ปี 2550-2555 จำนวน 4 ครั้ง ศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งยืนยันทั้ง 4 ครั้งว่า ปตท.ได้คืนและแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาให้แก่กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำสั่งยืนยันอีกครั้งว่า ปตท.ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วตั้งแต่ปี2551 การขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ ปตท.ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดอีกนั้นจึงเป็นการดำเนินคดีซ้ำ ศาลไม่อาจรับฟ้องไว้พิจารณาได้อีก
“ปตท.ขอย้ำอีกครั้งว่า ปตท.ได้ดำเนินการส่งคืนทรัพย์สินท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังตามเงื่อนไขในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนตั้งแต่ปี2551 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้วว่า ปตท.ดำเนินการโอนทรัพย์สินครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว” นายสุพจน์ ยืนยันนั่นเป็นเหตุผลเป็นหลักฐานจากฟากฝั่ง ปตท. ส่วนการฟ้องร้อง ปตท.อมท่อก๊าซฯ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน คราวนี้ จะมีผลลงเอยอย่างที่ ปตท. ประโคมโอ่ว่าเรื่องนี้จบไปแล้วหรือไม่ โปรดติดตามกันต่อไป