รายงานพิเศษ
ประเด็นเรื่องการแยกท่อก๊าซธรรมชาติออกจากปตท. แล้วให้ ปตท.ถือหุ้น 100% ยังเป็นประเด็นร้อนฉ่าต่อเนื่อง และมหากาพย์เรื่องนี้ดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ มิหนำซ้ำอาจกลายเป็นบูมเมอแรง เหวี่ยงกลับเข้าใส่ คสช. และคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช.อีกต่างหาก
เรื่องนี้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กรุงเทพฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” ในหัวข้อ “ท่อก๊าซธรรมชาติ : สาธารณสมบัติของแผ่นดินตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2557 ระบุตอนหนึ่งว่า การคัดค้านเรื่องการแยกท่อส่งก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่และให้เป็นของ ปตท.นั้น เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จะตั้งบริษัทท่อก๊าซให้เป็นของ ปตท. หากจะแยกท่อก๊าซธรรมชาติออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ รัฐต้องถือหุ้นในบริษัทใหม่ 100%
อดีตส.ว.กรุงเทพฯ ย้ำว่า ท่อส่งก๊าซในทะเลก็เหมือนสายส่งไฟฟ้า ระบบประปา หรือถนนหลวง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน (อำนาจรัฐ) และมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ ตามกฎหมายเอาไปซื้อขายหรือยกให้เอกชนเป็นเจ้าของไม่ได้ นอกจากนี้ ในคำพิพากษาหน้า 72 ศาลได้บรรยายว่า ท่อส่งก๊าซเป็นทรัพย์สินที่ “ไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ทรัพย์สินใดที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี แสดงว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของรัฐ จะถูกยึดเหมือนทรัพย์สินของเอกชนไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะตั้งบริษัทท่อก๊าซ กรรมสิทธิ์ต้องเป็นของรัฐ 100% เท่านั้น
เธอยังย้อนถึงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า ท่อก๊าซธรรมชาติเป็นของรัฐ 100% ไม่ให้นำไปรวมกับทรัพย์สินที่จะแปรรูป แต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความจงใจฮุบกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการไม่แยกท่อก๊าซธรรมชาติก่อนการแปรรูป จึงเป็นเล่ห์กลในการลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของท่อก๊าซธรรมชาติของรัฐจาก 100% เหลือเพียง 51% ตามหุ้นที่มีอยู่ใน บมจ.ปตท.
หลังศาลฯ มีคำพิพากษา ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 ก็ได้มีมติเห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รับไปแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
“ในการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ยอมให้ ปตท.คืนเพียงที่ดินที่มีการรอนสิทธิเพื่อวางท่อบนบกเท่านั้น ส่วนท่อก๊าซในทะเลไม่ได้คืนทั้งหมดให้กับรัฐ แต่กลับปล่อยให้ ปตท.ไปรายงานต่อศาลฯ ว่าคืนครบแล้ว โดยไม่มีเอกสารการรับรองการคืนทรัพย์สินจาก สตง. อีกทั้งไม่รับฟังคำทักท้วงของ สตง.ว่า ปตท.ยังไม่ได้คืนทรัพย์สินไม่ครบ” นางสาวรสนา ระบุ
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ มีหนังสือลงวันที่ 7 ม.ค. 2551 ของสำนักเลขารัฐมนตรีถึง รมว.กระทรวงพลังงานระบุเนื้อหาที่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน ในขณะนั้น ขอแก้ไข โดยให้ตัดทิ้งข้อความที่ว่า “ซึ่งในหลักการแล้วสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้ จึงไม่ควรมีภาระภาษีใดๆ” จากวันนั้นที่นายปิยสวัสดิ์ ผู้ตัดข้อความ “สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้” ออกจากหนังสือกระทรวงพลังงาน 22 วัน ก่อนที่จะหมดวาระการเป็น รมว.พลังงาน มาวันนี้นายปิยสวัสดิ์เข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. และผลักดันนโยบายแยกท่อส่งก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ของ ปตท.
“.... นายปิยสวัสดิ์ควรตอบสังคมว่า นี่คือภารกิจที่ค้างไว้เมื่อปี 2551 เพราะหมดเวลาไปเสียก่อน คราวนี้จึงต้องรีบร้อนสานต่อภารกิจในการเอาท่อก๊าซไปเป็นของเอกชนให้ได้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2558 ใช่หรือไม่?” อดีต ส.ว.กทม.ระบุ
นางสาวรสนา ยังสอนมวยรองโฆษก คสช. พ.อ.วินธัย สุวารี ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับประเด็นการแยกกิจการท่อส่งก๊าซเป็นบริษัทใหม่ โดยอ้างว่าเป็นนโยบายรัฐที่ไม่ต้องการให้มีการผูกขาด ปตท.เป็นผู้ลงทุนระบบท่อก๊าซ และรัฐยังไม่สามารถถือครองได้ 100% โดยระยะแรกจะถือ 25% แต่ในระยะยาว รัฐมีแผนที่จะเข้าถือครอง 100% ด้วยว่า กิจการท่อก๊าซเป็นกิจการที่ผูกขาด รัฐมีหน้าที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของประชาชน จึงต้องเป็นกิจการที่ให้รัฐเป็นผู้ผูกขาด ไม่ใช่ให้เอกชนผูกขาด ซึ่งหลายประเทศก็ทำเช่นนั้น
“พ.อ.วินธัยเข้าใจผิดที่ว่า บมจ.ปตท.เป็นผู้ลงทุนสร้างท่อส่งก๊าซ ทำให้รัฐไม่สามารถถือครองหุ้นของบริษัทใหม่ทั้ง 100% แท้จริงแล้ว ท่อส่งก๊าซทั้งบนบกและในทะเล สร้างก่อนการแปรรูป 2544 รัฐจึงเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง ตั้งแต่ ปตท.ยังเป็นองค์การมหาชนของรัฐ ... ขอให้ พ.อ.วินธัย ดูเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คณะรัฐมนตรีและ บมจ.ปตท.ไปกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในคำพิพากษาหน้า 70-71
“... สรุปคำพิพากษาชัดเจนเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ อันประกอบด้วย ท่อส่งก๊าซ ท่าเรือ โรงแยกก๊าซ และคลังปิโตรเลียม ฯลฯ เป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจมหาชน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและวันนี้ยังเป็นของรัฐ 100% ....ดังนั้น หาก คสช.มีเจตนารมณ์ในการจะให้รัฐถือหุ้นในกิจการท่อก๊าซธรรมชาติทั้ง 100% จริง ก็สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอไปทำในอนาคตระยะยาว เพราะวันนี้ท่อก๊าซธรรมชาติยังเป็นของรัฐทั้ง 100%”
จากการออกมาตั้งคำถามข้างต้น ทำให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกมาแถลงข่าวด่วนเพื่อชี้แจงต่อคำถามข้างต้น โดย ปตท.ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในการโอนสินทรัพย์ท่อก๊าซฯ ที่เป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินที่ได้จากการใช้อำนาจมหาชนทั้งเวนคืนที่และรอนสิทธิ์ในช่วงก่อนการแปรรูป ปตท.คืนให้กระทรวงการคลัง เป็นที่เรียบร้อยมาตั้งแต่ ธ.ค. 2551 ซึ่งศาลฯ ก็มีคำสั่งว่า ปตท.ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551
ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 (ก่อน ปตท.แปรรูปในวันที่ 1 ต.ค. 2544) มีท่อก๊าซฯ บนบกระยะทาง 773 กม. ได้แบ่งแยกท่อส่งก๊าซฯ ให้กระทรวงการคลัง 371 กิโลเมตร และเป็นท่อของ ปตท.เอง 402 กม. เนื่องจากเป็นท่อส่งก๊าซฯ ที่ ปตท.ลงทุนเองและไม่ได้ใช้อำนาจมหาชน และไม่ได้รวมท่อก๊าซฯ ในทะเล เนื่องจากท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิ์ และไม่มีกฎหมายไทยบังคับใช้ได้เกิน 12 ไมล์ทะเล ดังนั้นท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลจึงเป็นของ ปตท. และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาลปกครองกลาง ไม่รับคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องขอให้ ปตท.คืนท่อก๊าซฯ ในทะเล เมื่อปี 2555
“.... ส่วนที่กังวลว่ามีการโอนทรัพย์สินครบหรือไม่ต้องไปหารือศาล ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะผู้สอบบัญชี บมจ.ปตท. ก็ไม่เคยทำหมายเหตุแนบท้ายงบการเงินในประเด็นดังกล่าวเลย.....” ซีอีโอ ปตท. กล่าว
คำแถลงข้างต้นของซีอีโอปตท. นายวีระ ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการออกมายอมรับกับสังคมว่าท่อก๊าซในทะเลทั้งหมด ปตท. ยังไม่ได้ส่งมอบให้รัฐ ส่วนการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนครบหรือไม่ ทางกระทรวงการคลัง ต้องยื่นให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยตีความการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาไม่ตรงกัน
ขณะที่มีข้อโต้แย้งถกเถียงกันในเรื่องโอนทรัพย์สิน ท่อส่งก๊าซฯ ยังไม่ได้ข้อยุติข้างต้น แต่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งนั่งเป็นกรรมการในบมจ.ปตท.ด้วยนั้น ก็ออกมารับรองความถูกต้องในการนำส่งคืนท่อก๊าซฯ โดยยืนยันว่า ปตท.ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในการโอนทรัพย์สินท่อก๊าซฯ ที่เป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินด้วยการใช้อำนาจรัฐทั้งเวนคืนและรอนสิทธิ์ในช่วงก่อนการแปรรูป คืนกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2551 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท โดยไม่นับรวมถึงระบบท่อในท้องทะเล
นายรังสรรค์ ยัง “ศรีธนญชัย” ต่อไปด้วยว่า สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และตั้งคณะทำงานพิจารณาแล้ว พบว่า ปตท.ได้คืนที่ดินในส่วนของการเวนคืนที่ราชพัสดุ ส่วนกรณีการทวงถามถึงท่อส่งก๊าซในท้องทะเล เพื่อให้กลับมาเป็นสมบัติสาธารณะของแผ่นดินด้วยนั้น กรมธนารักษ์ รายงานให้ทราบแล้ว ท่อก๊าซในทะเลวางอยู่บนพื้นน้ำไม่ได้อยู่ในใต้ดิน จึงไม่จำเป็นต้องส่งคืนให้กับภาครัฐ เพราะไม่ได้เป็นส่วนควบของที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามมติของ ครม. และคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งได้พิจารณาแล้ว
เช่นเดียวกันกับท่าทีของ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน หนึ่งในบอร์ดของบมจ.ปตท. ที่ออกมายืนยันว่า ปตท.ดำเนินการโอนทรัพย์สินคืนรัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วตั้งแต่ปี 2551
ขณะที่ นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ก็ออกมาการันตีเช่นเดียวกันว่า กรณีที่มีการระบุว่า ปตท.ยังไม่ได้โอนท่อก๊าซในทะเลตามคำสั่งศาลฯ นั้นทั้งหมดเป็นไปตามคำพิพากษาเนื่องจากกิจการท่อทางทะเลไม่ได้เป็นการไปลิดรอนสิทธิใครมา เพราะตามคำสั่งศาลระบุให้โอนทรัพย์สินท่อก๊าซฯ ที่เป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินที่ได้จากการใช้อำนาจมหาชนทั้งเวนคืนที่และรอนสิทธิในช่วงก่อนการแปรรูป ปตท.
“ท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิ และไม่มีกฎหมายไทยบังคับใช้ได้เกิน 12 ไมล์ทะเล ดังนั้นท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลจึงเป็นของ ปตท. ส่วนกรณีที่มีคนมองว่าแล้วส่วนที่อยู่ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลต้องคืนหรือไม่ ก็คงจะต้องเป็นเรื่องที่จะต้องไปตีความกันใหม่ ซึ่งก็เคยมีการยื่นฟ้องศาลปกครองกลางมาแล้ว แต่ศาลไม่รับคำร้องที่จะขอให้ ปตท.คืนท่อก๊าซฯ ในทะเลเมื่อปี 2555” นายคุรุจิต กล่าว
การกล่าวอ้างของข้าราชการระดับสูงทั้งสาม ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะนั่งเป็นบอร์ดปตท.อยู่ด้วย ที่ออกมาการันตีว่าปตท.คืนทรัพย์สินท่อส่งก๊าซฯ ครบถ้วนตั้งแต่ปี 2551 มูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท ซ้ำยังอ้างว่าสตง.ตรวจสอบแล้ว ถือเป็นพฤติกรรมของ “ศรีธนญชัย” โดยแท้ เพราะหลักฐานสำคัญ คือ รายงานของสตง.ที่ส่งไปถึงเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายรวมถึงกระทรวงการคลังด้วยนั้น ระบุว่า ทรัพย์สินที่ปตท.แบ่งแยกและส่งคืนแก่คลัง จำนวน 16,179.19 ล้านบาท “ยังไม่ครบถ้วน” ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
“.... รวมระบบท่อก๊าซฯ ที่บริษัทยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง จำนวนทั้งสิ้น 32,613.45 ล้านบาท ประกอบด้วย ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก จำนวน 14,393.16 ล้านบาท และในทะเล จำนวน 18,220.29 ล้านบาท....” รายงานผลสอบของ สตง. ระบุ
ส่วนกรณีศาลปกครองกลาง ไม่รับคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ยื่นคำร้องขอให้ ปตท. คืนท่อก๊าซฯ ในทะเลเมื่อปี 2555 นั้น หม่อมหลวงกรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ขึ้นเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ระบุว่า “มูลนิธิผู้บริโภค แจ้งว่า เนื่องจากศาลเห็นว่า ท่อก๊าซเป็นของชาติโดย กระทรวงคลังเป็นผู้ดูแล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่รับฟ้องครับ”
สรุปรวมความแล้ว ท่อก๊าซฯ ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินยังคืนให้แก่รัฐไม่ครบ ที่ศาลปกครองกลางไม่รับคำร้องของมูลนิธิฯ ก็เป็นคนละประเด็นกันกับที่ซีอีโอปตท. ออกมากล่าวอ้างข้างต้น เรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นก็คือ หน่วยงานของรัฐแทนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ประเทศชาติ ประชาชน กลับแห่เข้าร่วมขบวนแปรทรัพย์สินของชาติให้กลายเป็นของบริษัทเอกชนโดยไม่ละอาย
“การแยกท่อก๊าซเพื่อแปรรูปและขายให้เอกชนในตลาดหลักทรัพย์ มิใช่ภารกิจหลักของการเข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของ “คสช.” มิใช่หรือ? จึงกราบเรียนท่านมาด้วยความเคารพว่า อย่าได้ตกหลุมพรางของกลุ่มทุนที่มุ่งหมายขายสมบัติชาติ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ควรจะเปิดรับฟังประชาชนที่มีสิทธิ์ มีส่วนเป็นเจ้าของทุกคนก่อนจะดำเนินการใดในเรื่องนี้ เพราะเป็นหนึ่งในความขัดแย้งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
“ มิเช่นนั้นแล้ว จะกลับกลายเป็นว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นไปเพื่อต่อยอดให้กลุ่มทุนที่หวังฮุบสมบัติชาติได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่เคยวางเอาไว้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองยิ่งขึ้นกว่าครั้งที่กลุ่มทุนสามานย์แปรรูป ปตท.ครั้งแรก และก่อความเสียหายต่อบ้านเมือง ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งนั่นย่อมมิใช่สิ่งที่ คสช.และประชาชนปรารถนาอย่างแน่นอน” นางสาวรสนา ฝากทิ้งท้ายถึง คสช.