รายงานพิเศษ
การจับกุมแกนนำกลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” จำนวน 11 คน เข้าค่ายมณฑลทหารบกที่ 42 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความเชื่อใจของประชาชนต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่น้อย เพราะคนกลุ่มนี้ที่มีรายชื่อแกนนำอย่างเช่น นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา รองประธานชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ ซึ่งนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ออกมารับประกันว่า การเดินรณรงค์ปฏิรูปพลังงานของกลุ่มดังกล่าวเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝงนั้น มองอย่างไรก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมืองที่จะปลุกมวลชนขึ้นมาสร้างความไม่สงบสุขในสังคมแต่อย่างใด
ปฏิบัติการรวบขาหุ้นฯ ของฝ่ายทหารเมื่อวันที่ 20 ส.ค. คราวนี้ พ.อ.วรพล วรพันธ์ เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 42 (มทบ.42) ให้เหตุผลว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนประกาศของ คสช.ภายใต้กฎอัยการศึกที่ห้ามมีการชุมนุมเกินกว่า 5 คน
“ทำไมพวกคุณไม่ไปใช้ช่องทางปฏิรูป เขาไม่จำกัดทุกเพศทุกวัย วิธีการที่พวกคุณทำกันอยู่นี่มันผิด ผมขอให้พวกคุณหยุดแค่นี้แล้วไปนั่งคุยกัน ผมจะเชิญผู้ว่าราชการฯมาร่วมด้วย พวกคุณอยากเสนออะไรก็ไปใช้ช่องทางที่ถูกต้อง รู้มั้ยบ้านเราตอนนี้ไม่มีใครเขาอยากมาเที่ยวแล้ว ผมเข้าใจสิ่งที่พวกคุณกำลังทำอยู่ แต่มันผิดกฎหมาย ผมไม่อยากบังคับใช้กฎหมาย หยุดตรงนี้แล้วไปหาช่องทางที่ถูกต้อง ..... ทุกคนต้องเข้าใจว่าตอนนี้การบริหารประเทศของ คสช.อยู่ในระยะที่ 2 มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และกำลังจะมีการคัดเลือกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งก็สามารถเอาปัญหาเหล่านี้เข้าไปได้ โดยหัวหน้า คสช.ไม่ชอบอะไรที่ทำผิดกฎหมาย” ภาสกร จำลองราช จากสำนักข่าว คนชายข่าว คนชายขอบ (transbordernews.org) รายงานถ้อยคำที่ พ.อ.วรพล เจรจากับแกนนำขาหุ้นฯ
ขณะที่ทางกลุ่มขาหุ้นฯ พยายามชี้แจงว่า การเดินขบวนครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง และเป็นการทำด้วยใจบริสุทธิ์โดยได้เตรียมตัวกันมาระยะหนึ่งแล้ว ที่สำคัญคือไม่เคยเห็นคสช.เป็นศัตรู
“คสช.อย่ามาผูกขาดความรักชาติ วันนี้การเปิดใจกว้างเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีการปฏิรูป และข้อเรียกร้องของพวกเราก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ว่าราชการจะตอบได้ เช่น การให้ยกเลิกสัมปทานสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความจริงแล้วตรงนี้เป็นกระแสปฏิรูปที่คสช.ควรช่วยสร้างด้วยซ้ำ พวกเราพยายามไม่ทำผิดกฎหมายเพราะโทรโข่งก็ห้ามเราใช้ ขบวนเราก็จัดให้เหลือเล็กลงแล้ว ทุกคนต่างก็มีหน้าที่ เรามีหน้าที่เดินก็จะเดินต่อไป ถ้าท่านจับพวกเราก็ไปนอนอยู่ข้างใน ถ้าจะให้หยุดก็ต้องหยุดโครงการต่างๆ ตามที่เราเรียกร้อง” ผู้ประสานงานในทีมขาหุ้นฯ รายหนึ่ง ชี้แจงเหตุผล
คณะผู้ประสานงาน “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” แถลงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า การรวมตัวกันเดินเท้าโดยมีจุดหมายมุ่งสู่ กทม.เพื่อสร้างกระแสปฎิรูปพลังงานให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะรู้ว่าการปฎิรูปพลังงานเป็นเรื่องยาก แม้แต่ คสช.ก็ไม่อาจทำได้ตามลำพัง โดยเฉพาะยกเลิกระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เราจึงเดินด้วยหัวใจและสองเท้า และขณะนี้เจตจำนงของเรายังเหมือนเดิมคือเดินต่อไป เราทำตามหน้าที่ ทำตามความฝันและความคิด สิ่งที่เราทำไม่ได้ขัดต่อความสงบสุขของประเทศชาติ
“ช่องทางปฎิรูปเราใช้แน่นอน แต่เราก็ใช้ทุกๆ ช่องทาง เราไม่ได้คัดค้านอำนาจคสช. แต่ความร่วมมือของประชาชนคือหัวใจ พลังงานเป็นของพวกเราทุกคน ประเทศไทยมีพลังงานเยอะเพียงพอ แต่วันนี้คนไทยต้องใช้น้ำมันแพงที่สุด เราจึงเดินบอกว่าสิ่งที่ต้องทำคือการปฏิรูปพลังงาน เพราะพลังงานในประเทศไทยตกอยู่ในมือของคนอื่น พวกเราใช้ความพยายามเพื่อที่จะบอกทุกคนให้ช่วยกันปฏิรูปพลังงาน เพื่อประชาธิปไตยด้านพลังงาน สิ่งที่เกิดในวันหน้าเป็นเรื่องอนาคต” ผู้ประสานงานขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน กล่าว
“เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” เริ่มต้นเดินเท้าเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2557 ที่ลานจัตุรัสหน้าหอนาฬิกา เทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตามเป้าหมาย “เดินวันละโยชน์ เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ” จากอ.หาดใหญ่ มายังกรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 1,400 กม. โดยมีการจัดเวทีให้ความรู้เรื่องพลังงานและผ้าผืนใหญ่ตัดเป็นตัวปลา ให้ขาหุ้นร่วมเซ็นชื่อเพื่อนำไปกรุงเทพฯ และมีผ้าสีเขียวอีกผืนให้ขาหุ้นที่ร่วมเดินทางประทับรอยเท้าไว้ด้วย
แต่เดินได้ไม่ทันไร ในที่สุดแกนนำขาหุ้นฯ ก็ถูกเชิญตัวเข้าค่ายทหาร “หมอสุภัทร” ได้ฝากถ้อยคำจากใจกับพี่ทหารก่อนถูกรวบด้วยว่า "ผมอยากให้พี่ส่งสัญญาณเสียงตรงนี้ไปให้ผู้บัญชาการทหารบก พรุ่งนี้ (21 ส.ค.) ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยละ ถ้าเรื่องแค่คนเดินกลางถนน เดินกันไม่กี่คน เดินกันแค่นี้ มีธงแค่นี้ เดินกันไม่ได้แบบนี้ไม่คู่ควรที่จะเป็นนายกฯ ที่เปิดกว้าง เพื่อการปฏิรูป ประโยคนี้สำคัญ ปฏิรูปต้องมีส่วนร่วมครับพี่”
หมอสุภัทร ยังให้เหตุผลยอมถูกจับแต่ไม่ยอมหยุดเดินในการให้สัมภาษณ์กับ “ณาตยา แวววีรคุปต์” นักข่าวสังกัดค่ายไทยพีบีเอส ด้วยว่า "ถึงเวลานี้ปฏิรูปพลังงานเอาไว้ก่อน เราจะยอมถูกจับเพื่อสั่งสอนว่าพวกคุณไม่ควรใช้อำนาจมากเกินไป"
“.... เขาคิดว่าทิศทางปฎิรูปต้องเป็นไปตามที่เขากำหนด แต่นั่นมันไม่มีแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมเลย เขาบอกให้เรารอให้มี สปช.ก่อนแล้วค่อยเสนอไป แต่มันไม่ใช่ เพราะเราแค่รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน” นพ.สุภัทร ให้สัมภาษณ์ “ภาสกร จำลองราช” สำนักข่าว คนชายข่าว คนชายขอบ ในท่วงทำนองเดียวกัน
หลังขาหุ้นฯ ถูกรวบเข้าค่าย โลกโซเชียลมีเดียก็ร้อนฉ่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นาๆ ตามมามากมาย “ณาตยา แวววีรคุปต์” จากไทยพีบีเอส ที่ขึ้นเฟสบุ๊ค “5 เหตุผลที่ทหารไม่ควรจับพวกขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ว่า 1.คนพวกนี้เป็นประชาชนที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง มิได้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และมารวมตัวกันด้วยความบริสุทธิ์ใจในการปฏิรูประบบพลังงานที่เป็นธรรม 2. คสช.ควรพิสูจน์ความจริงใจในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 4 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย
3.คสช.ไม่ควรปิดประตูตัวเองจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนผู้ต้องการเสนอความคิดเห็นแตกต่าง และชักชวนสังคมร่วมสนทนาเพื่อการปฏิรูปประเทศ 4. คนที่จะถูกจับ ควรจะได้มีโอกาสใช้จิตวิญญาณของพวกเขาทำประโยชน์เพื่อสังคมต่อไป เหมือนกับที่ได้เคยทำมา เช่น หมอ ควรได้ทำหน้าที่รักษาคนป่วยในพื้นที่เสี่ยงภัยที่ชายแดน ชาวบ้านควรได้แสดงออกอย่างเสรีไม่ให้สังคมสิ้นหวังกับอำนาจที่ถูกลิดรอน และ 5. เพื่อไม่ให้คนในสังคมรู้สึกว่าถูกกดหัว จนต้องยอมแกล้งตายกันทั่วบ้านทั่วเมือง
ในวันถัดมา กำลังใจจากชมรมแพทย์ชนบท ก็ส่งตรงถึงหมอสุภัทรและบรรดาขาหุ้นฯ ผ่านเฟซบุ๊ก “ชมรมแพทย์ชนบท” ว่า “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แกนนำขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน หนึ่งในแกนนำแพทย์ชนบท รองประธานชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ ผู้ที่ทำงานคร่ำหวอดคลุกคลีกับประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้มาอย่างยาวนาน เป็นนักคิด นักเขียน เป็นหมอชนบทนักสู้ ผู้ไม่เคยยอมแพ้ก้มหัวให้แก่อธรรม และความไม่ถูกต้อง การถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม เคารพสิทธิเสรีภาพของพลังประชาชน เป็นหมอชนบทที่เป็นที่เคารพรักนับถือของประชาชนผู้คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก...
“..... การได้ออกมาทำหน้าที่ให้สติ และปัญญาแก่ประชาชนเรื่องพลังงาน ที่สังคมไทยถูกเอารัดเอาเปรียบมานาน แม้ร่างกายจะขาดอิสรภาพ และจิตใจยังโบยบินโหยหาความเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา… การเดินๆ ด้วยใจไม่ได้ต้าน คสช.ที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ เพราะเดินไปอย่างสงบ ในช่วงต่อสู้ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไปคงจะได้จุดประกายให้ผู้คนในสังคมพิทักษ์สิทธิของตนเองมากขึ้น...เป็นกำลังใจให้ครับ แด่ผู้กล้า นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และคณะขาหุ้นพลังงานเพื่อคนไทย”
เช่นเดียวกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการควบคุมตัวแกนนำขาหุ้นฯและเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการร่วมปฏิรูปพลังงาน หากข้อเรียกร้องถูกปฏิเสธก็พร้อมจะเชิญชวนประชาชนและกลุ่มพลังทางสังคมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ โดยไม่หวาดหวั่นต่ออำนาจอันไม่ชอบธรรม
กิจกรรมเดินสองเท้าบอกเล่าเรื่องการปฏิรูปพลังงานของบรรดา “ขาหุ้นฯ” ยังดำเนินต่อไป บางช่วงมีการเดินเดี่ยว เดินกันไม่เกิน 5 คน เป็นการเดินในเชิงสัญลักษณ์ผสานกับการขับเคลื่อนในลักษณะดาวกระจายไปในแต่ละจังหวัด
การรณรงค์ปฏิรูปพลังงานในหลากหลายรูปแบบของภาคประชาชน และการตอบสนองจากคสช.ที่ออกมาเสมือนมองไม่เห็นหัวประชาชน อาจจะลุกลามบานปลายหากคสช.ยังไม่ปรับท่าที หรือไม่ฟังเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนประเทศชาติเป็นหลัก
ไม่เฉพาะการเดินรณรงค์ของ “ขาหุ้นฯ” เท่านั้นที่ถูกสั่งเบรก การสัมมนา เสวนา แถลงข่าวก็ถูกตรวจสอบ “ความเรียบร้อย” เสียก่อน และหากฝ่ายทหารเป็นกังวลก็อาจสั่งเบรกไม่ให้จัด หรือหากจะดำเนินการก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลง ดังเช่นกรณีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่จัดงานแถลงข่าว “3 คำถามสำคัญเรื่องพลังงานไทย ที่ประชาชนอยากรู้” เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา
ก่อนการแถลงข่าว พ.ท.ชายธนัธชา วาจรัตน์ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 27 รักษาพระองค์ กองบัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพื้นที่เขตพญาไท เข้ามาเจรจาให้ยุติการแถลงข่าว เพราะเกรงจะมีข้อความยั่วยุ ปลุกระดมซึ่งผิดกฎหมาย แต่หลังจากใช้เวลาเจรจาประมาณ 10 นาที ฝ่ายทหารจึงให้แถลงได้แต่ต้องเป็นไปตามข้อตกลง
เนื้อหาที่นายวีระ แถลงก็คือ การที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2557 ให้ปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกไปตั้งบริษัทใหม่โดยให้ ปตท.ถือหุ้น 100% ก่อน และอาจจะให้กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 20 - 25% ในภายหลังนั้นถือว่าผิดกฎหมาย เพราะ ปตท.แปรรูปเป็นบริษัทแล้ว จึงต้องให้กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2544 ก็ระบุว่า ต้องแยกท่อก๊าซอันเป็นทรัพย์สินของรัฐออกมาก่อนที่ ปตท.จะแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งตอนนั้นทำไมไม่ทำ แต่ตอนนี้กลับใช้อำนาจพิเศษเร่งรีบ ทั้งที่ศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 มีคำสั่งให้แยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติ สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกมา
นายวีระ จึงขอตั้งคำถามดังนี้ คือ 1.จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด การโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมถึงท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล และสิทธิทั้งหลายที่ได้มาจากการใช้อำนาจรัฐ ไปให้ บมจ.ปตท. เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ 2.การตั้งบริษัทท่อก๊าซธรรมชาติขึ้นใหม่ เป็นการถ่ายโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้เอกชนเป็นเจ้าของใช่หรือไม่ และ 3.นโยบายการบริหารกิจการพลังงานของไทยที่จะดำเนินการต่อไป จะเป็นการปฏิรูป หรือเป็นการแปรรูป ปตท.ครั้งที่ 2 หรือไม่
นายอิฐบูรณ์ ย้ำในทำนองเดียวกันว่า ขณะนี้พบว่ามีการโอนเฉพาะท่อบนบกคืนให้แก่รัฐเท่านั้น ทั้งที่ตามหลักกฎหมายต้องโอนทั้งท่อก๊าซฯบนบกและทะเล แต่ กพช.ก็กลับมีมติให้แยกกิจการท่อก๊าซมาให้ บมจ.ปตท.ถือหุ้น 100% ซึ่งผิดหลักกฎหมาย เพราะกิจการถือเป็นการผูกขาดโดยอำนาจรัฐ รัฐจึงเป็นเจ้าของ และจัดระเบียบการบริการอย่างเท่าเทียมกัน
นี่คือปัญหาที่ไม่ธรรมดา และสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างที่เด่นชัดมากขึ้นเป็นลำดับ