ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ระยะนี้ได้ยินประเด็นข่าวเรื่องความไม่เท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมายบ่อยครั้ง ซึ่งเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย จุดศูนย์รวมของเรื่องนี้คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีแนวโน้มการใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมโดยหย่อนยานกับกลุ่มคนที่ร่ำรวยและมีอิทธิพล ในทางกลับกันก็ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับกลุ่มคนที่ยากจนและไร้อิทธิพล
การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน และไม่มีสัญญาณใดที่เด่นชัดเพียงพอที่ทำให้เกิดความเชื่อได้ว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ มาตรการในอดีตรวมทั้งปัจจุบันกระทำกันแบบแปรปรวนคล้ายคลื่นในทะเล กล่าวคือหากมีกระแสของสังคมให้ความสนใจต่อปัญหาใด รัฐบาลก็จะกำหนดมาตรการหรือลงมือกระทำพอเป็นพิธีเพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่ามีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่เมื่อกระแสสังคมหมดความสนใจลง การปฏิบัติก็กลับไปสู่จุดเดิมอีกครั้งหนึ่ง
ดูเหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมักจะเป็นโจทย์หลักในเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันทางกฎหมาย เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้กฎหมายเกือบทุกฉบับ ถัดมาที่มักเป็นข่าวคือกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการกับผู้บุกรุกป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ
การจัดการผู้ละเมิดกฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมกันของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อทำบ่อยครั้งเข้าและปรากฏออกมาสู่สาธารณะก็จะทำให้ผู้คนในสังคมขาดความเชื่อถือศรัทธาต่อหน่วยงานเหล่านั้น ทั้งยังส่งผลต่อการกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมตามมาอีกด้วย
การบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือมาเฟียดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการเสื่อมความไว้วางใจต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ประชาชนจะไม่เชื่อถือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น หากแต่ผู้นำรัฐบาลและ คสช. ก็พลอยไม่เชื่อถือไปด้วย
คำสั่ง คสช. 13/2559 ที่ให้ทหารมีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายจำนวนมากจึงเกิดขึ้นมา โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สาระหลักของคำสั่งนี้คือทหารยศร้อยตรีขึ้นไปทั้ง 3 เหล่าทัพมีอำนาจจับกุม ค้น สืบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหา และสามารถสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนของตำรวจ อำนาจของทหารตามคำสั่งนี้ครอบคลุมกฎหมายแทบทุกฉบับที่มีฐานความผิด เช่น กฎหมายอาญา ป่าไม้ แรงงาน คุ้มครองเด็ก และตรวจคนเข้าเมือง
คำสั่งนี้ยังกำหนดให้ทหารสามารถควบคุมผู้ต้องหาไว้ได้ 7 วัน และหากผู้ต้องหาฝ่าฝืนเงื่อนไขตามสัญญาการปล่อยตัว ก็จะมีความผิดในทางอาญาอีกข้อหาหนึ่งซึ่งแยกแตกต่างจากข้อหาเดิมที่ถูกจับกุมโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
เอาเป็นว่า ผมตั้งสมมติฐานเอาไว้ก่อนว่า การที่รัฐบาลและคสช.ให้อำนาจทหารเข้าไปทำหน้าที่ของตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐอื่นๆที่บังคับใช้กฎหมาย เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมของการบังคับใช้กฎหมาย และแก้ปัญหาความไร้สมรรถนะในการจัดการกับปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อนที่หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบอยู่เดิมไม่สามารถทำได้
ภารกิจของทหารในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างสูงและมีความสุ่มเสี่ยงพอสมควร เพราะหากทหารทำงานและแสดงพฤติกรรมแบบซ้ำรอยตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐอื่นๆที่เคยทำ กันมาก่อนซึ่งคือใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมและไร้สมรรถภาพในการปฏิบัติ โอกาสที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมก็มีสูงยิ่ง และอาจส่งผลกระทบต่อความไว้วางใจของสังคมที่มีต่อทหารด้วย
ดังนั้นไหนๆ เมื่อมีคำสั่งและตั้งใจกระทำแล้วก็ต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นายทหารทั้งหลายที่ต้องไปทำงานเหล่านั้น และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาความรู้และทักษะให้แก่บรรดาทหารที่จะลงไปทำงานเรื่องนี้ รัฐบาลและ คสช.ควรจะจัดหลักสูตรอบรมเรื่องการสืบสวน สอบสวน และกฎหมายให้แก่ทหารที่จะลงภาคสนามอย่างเข้มข้น ควรใช้เวลาการอบรมอย่าง1 เดือน เพื่อสร้างความรู้ในเรื่องเหล่านั้น เพราะหากลงไปทำงานอย่างขาดความรู้ก็อาจถูกเจ้าของเรื่องเดิมที่เขาทำอยู่หัวเราะเยาะและดูถูกเอาได้
นอกจากเรื่องความรู้และทักษะในการทำงานแล้ว การอบรมและปลูกฝังทัศนคติ ตลอดจนจริยธรรมในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมแก่ผู้ที่จะลงไปปฏิบัติอย่างเข้มข้นก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อมิให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนในการบังคับใช้กฎหมาย จนกลายมาเป็นเสียงครหาในอนาคตได้ว่าทหารกลายเป็นมาเฟียกลุ่มใหม่ขึ้นมา
นั่นคือทหารต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า ทำงานได้บรรลุผลมากกว่าและสร้างความเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมายได้มากกว่าหน่วยงานเดิม
ผมลองแนะนำแนวทางการปฏิบัติ (บางทีเขาอาจคิดทำกันแล้วก็ได้) ซึ่งควรเริ่มจากการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์ โดยนำสถิติอย่างน้อย 4 เรื่องได้แก่ การเกิดอาชญากรรมร้ายแรง ยาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้อิทธิพลเถื่อน ของแต่ละสถานีตำรวจมาวิเคราะห์และประเมินจัดลำดับความสำคัญเพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานขึ้นมาซึ่งอาจแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ พื้นที่อาชญากรรมสูง กลาง ต่ำ การทำงานควรเน้นพื้นที่ที่มีอาชญากรรมสูงก่อน เอาจังหวัดละ 2-5 สถานีตำรวจก็ได้
จากนั้นก็จัดกำลังทหารเข้าไปอยู่ประจำในสถานีตำรวจที่คัดเลือกไว้เพื่อทำงานร่วมกับตำรวจอย่างใกล้ชิด พื้นที่อาชญากรรมสูงนี้น่าจะเอาทหารไปไว้สัก 20-30 นาย ให้ทหารยศนายพันเป็นหัวหน้าหน่วย และมีทหารสัญญาบัตรยศรองๆลงมาอีก 6-8 นายประกอบด้วยสายการข่าว การสอบสวนและการปราบปราม ส่วนที่เหลือเป็นชั้นประทวนเพื่อช่วยเหลืองานด้านต่างๆ เรียกหน่วยนี้ว่า “หน่วยปราบอาชญากรรมพิเศษ” ก็ได้ สำหรับคดีที่เลือกทำ ขอแนะนำว่าควรเลือกทำคดีที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลที่สถานีตำรวจนั้นๆทำไม่ได้
เพื่อให้ความเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็ควรทำอย่างเป็นระบบโดยน่าจะมีคำสั่ง คสช.อีกสักฉบับ เพื่อกำหนดให้ “นายทหารพระธรรมนูญ” ทำหน้าที่แทน “อัยการ” ดำเนินการฟ้องร้องผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลหรือมาเฟีย เพราะหากให้อัยการทำดังที่เป็นอยู่ก็อาจเกิดปัญหาล่าช้าและความไม่เท่าเทียมคล้ายกับการทำงานของตำรวจนั่นแหละ รวมทั้งอาจมีคำสั่ง คสช.อีกฉบับจัดตั้ง “ศาลพิเศษ” เพื่อพิจารณาคดีแบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้สอดประสานกันครบทุกองค์ประกอบ
เมื่อทำแล้วก็ไม่ควรทำแบบครึ่งๆ กลางๆ เพราะหากแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็อาจมีข้อแก้ตัวได้ แต่หากมั่นใจว่าทหารมีความสามารถ มีความเที่ยงธรรม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมจริง ก็ทำให้มันถึงที่สุดไปเลย จะได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า “มีทหารเอาไว้ทำอะไรได้บ้าง” คนจะได้เลิกถามเสียที
แต่หากทำไม่สำเร็จ หรือทำแล้วสังคมเกิดความรู้สึกว่ายิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม นั่นคือความเสี่ยงที่ต้องแบกรับครับ