โดย... บรรจง นะแส สมาคมรักษ์ทะเลไทย
--------------------------------------------------------------------------------
ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่สบายใจทุกครั้งที่จะต้องพูดถึงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลไทย และต้องเชื่อมโยงถึงสาเหตุที่สำคัญของการเสื่อมลงของทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำ โดยจำเป็นต้องพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้างรุนแรงอย่างน้อย 3 ชนิด คือ อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไป
เพราะผมตระหนักดีว่า ล้วนเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องต่อพี่น้องชาวประมง และอาชีพต่อเนื่องอีกจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน การมองไปข้างหน้าของสังคมที่เอาคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง และมองถึงความยั่งยืน ความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาชีพ และแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของสังคม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงสภาพปัญหา และทางออก
ความเคลื่อนไหวเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา
“จากเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ หรือ MDGs ที่มีบัญญัติ 10 ประการที่ประกาศมาตั้งแต่ปี 2543 บอกว่า ให้เราต้องคำนึงถึงสังคม แรงงาน สิ่งแวดล้อม และทำธุรกิจโดยปราศจากคอร์รัปชัน ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า ธุรกิจไม่สามารถทำกำไรได้อย่างเดียว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของชุดความคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จากในยุคก่อนหน้าที่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในหัวนักธุรกิจเลย สิ่งนี้จึงเป็นรากฐานก่อนที่จะมาถึงการประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs…
วันนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงธุรกิจที่ต่อเนื่องจากการทำการประมงแบบทำลายล้างคือ “ธุรกิจปลาป่น by catch” อีกสักครั้ง เพราะธุรกิจปลาป่น by catch คืออีกหนึ่งธุรกิจที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจสอบ และทบทวนว่าควรจะพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งแน่นอนว่าหากธุรกิจนี้ยังใช้วัตถุดิบจากทะเลไทย ที่ลูกกุ้ง หอย ปู ปลา หรือพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนจำนวนมหาศาลมาป้อน…
นั่นก็หมายความว่า เรากำลังไปในทิศทางที่ขัดแย้งกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) และถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนในวันนี้ ในอนาคตอันใกล้ธุรกิจปลาป่นโดยตรง หรือธุรกิจที่ต่อเนื่องอย่างธุรกิจอาหารสัตว์ หรือการส่งออกสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรไปยังตลาดโลก ก็จะต้องได้รับผลกระทบจากการแซงก์ชัน หรือบอยคอตอย่างแน่นอน”
ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า SDGs มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลก สร้างความเท่าเทียม ขจัดปัญหาความยากจน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งครอบคลุม 17 ด้าน ได้แก่ 1) ความยากจน 2) ความหิวโหย 3) สุขภาวะ 4) การศึกษา 5) ความเท่าเทียมทางเพศ 6) น้ำและการสุขาภิบาล 7) พลังงาน 8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน 9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงให้เป็นอุตสาหกรรม 10) ความเหลื่อมล้ำ 11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ 12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ 14) ทรัพยากรทางทะเล 15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 16) สังคมและความยุติธรรม และ 17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล
ขอยกตัวอย่างของคำอธิบายถึงเหตุผล เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) คือ
“ผู้คนมากกว่า 800 ล้านคน ยังคงอยู่ได้ด้วยเงินน้อยกว่า 1.25 ดอลลาร์ต่อวัน หลายคนยังขาดการเข้าถึงอาหาร น้ำดื่มที่สะอาด และสุขอนามัยที่เพียงพอ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในประเทศ เช่น จีน และอินเดีย ได้ช่วยยกระดับประชากรออกจากความยากจน แต่ความเติบโตในเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีความสม่ำเสมอเท่าใดนัก ประชากรผู้หญิงมีสัดส่วนที่อยู่ในความยากจนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการเข้าถึงที่ไม่เท่ากันในเรื่องค่าแรงงาน การศึกษา และทรัพย์สิน...
SDGs มีเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนในทุกรูปแบบให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องต่อการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงทรัพยากร และการบริการขั้นพื้นฐาน รวมถึงช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องต่อสภาพภูมิอากาศ”
*** ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
“จากรายงานที่ว่าความไม่เท่าเทียมของรายได้มีอัตราเพิ่มขึ้น 10% ของคนร่ำรวยที่สุด มีรายได้เป็น 40% ของรายได้รวมทั่วโลก ผู้ที่ยากจนที่สุด 10% ทำได้รายได้เพียง 2-7% ของรายได้รวมทั่วโลก ในประเทศกำลังพัฒนาความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้น 11% ตามการเจริญเติบโตของประชากร...
ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไข ซึ่งปัญหานี้เกี่ยวข้องต่อการปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับ การตรวจสอบของตลาดการเงิน และสถาบันด้านการเงิน การส่งเสริมการช่วยเหลือด้านการพัฒนา และการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติไปยังภูมิภาคที่มีความจำเป็นมากที่สุด การอำนวยความสะดวกในการอพยพย้ายถิ่นที่ปลอดภัย และการเคลื่อนย้ายของผู้คนก็เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาการแบ่งเขตแดน”
*** อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“ผู้คนกว่าสามพันล้านคน ใช้ชีวิตขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง แต่ในปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่า 30% ของปลาทะเลของโลกได้ถูกใช้ไปเกินขนาด ซึ่งต่ำกว่าระดับที่พวกเขาสามารถผลิตผลตอบแทนที่ยั่งยืน ให้ได้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สร้างกรอบการทำงานเพื่อการจัดการอย่างยั่งยืน และปกป้องระบบนิเวศทางชายฝั่งและทางทะเล จากภาวะมลพิษจากแหล่งบนบก ตลอดจนจัดการปัญหาผลกระทบของการเป็นกรดของมหาสมุทร เสริมสร้างการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของทรัพยากรทะเล ผ่านกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทร”
ดูที่มาจาก (http://www.un.or.th/globalgoals/th/the-goals/)
*** โรงปลาป่นและสถิติการผลิต
*** ผลิตภัณฑ์ปลาป่นปีที่แล้ว 2558 รวมได้ประมาณ 420,000 ตัน ส่งออก 159,500 ตัน
*** สาเหตุที่ปลาป่น by catch มีส่วนทำร้ายทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลไทยก็เพราะว่า
1. ปลาป่นน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต้องใช้วัตถุดิบจากเรืออวนลาก (by catch) ซึ่งก็คือ ลูกกุ้ง หอย ปู ปลา สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนถึง 4 กิโลกรัม ประเทศเราผลิตปลาป่น 500,000 ตัน ผลผลิตปลาป่นในประเทศเรามาจาก by catch คือ จากเรืออวนลาก และที่เรียกว่า by product ซึ่งเป็นเศษหัวก้างจากซูริมิ หรือปลาทูน่าปลากระป๋องประมาณ 50/50 นั่นก็หมายความว่าปลาป่น 250,000 ตันจากปลาป่น by catch จะต้องทำลายพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนที่จะเติบโตขึ้นมาถุง 1 ล้านตัน/ปี
คนไทยบริโภคสัตว์น้ำทั้งหมดในปริมาณ 28-31 กก./คน/ปี (เป็นปลาน้ำจืดในปริมาณ 5 กก./คน/ปี) ถ้าเทียบกับคนอเมริกันบริโภคในปริมาณ 50 กก./คน/ปี หรือคนในญี่ปุ่นในปริมาณ 69 กก./คน/ปี (รศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ)
แม้คนไทยจะบริโภคปลาเพิ่มขึ้นทุกๆ 1 กก./คน/ปี เราก็ยังมีปลาเพิ่มขึ้นถึง 66,000 ตัน/ปี จากฐานประชากร 66 ล้านคน แค่เราหยุดธุรกิจปลาป่น by catch ซึ่งก็คือ การหยุดทำลายสัตว์น้ำไปถึง 1 ล้านตัน กุ้ง หอย ปู ปลาเหล่านั้นก็จะเติบโตเต็มที่ คนไทยก็จะมีอาหารทะเลกินอย่างเหลือเฟือ
2. ผลิตภัณฑ์ปลาป่นของประเทศไทยในปี 2558 ผลิตได้ประมาณ 420,000 ตัน แต่เราส่งออกไปขายยังต่างประเทศถึง 159,500 ตัน ที่เหลือใช้ภายในประเทศ คำถามจึงมีว่าในเมื่อปลาป่นเป็นส่วนทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำที่เป็นอาหารโปรตีนของสังคมไทยโดยรวม
ทำไมเราถึงยังปล่อยให้มีการทำลาย และตอบสนองกลุ่มธุรกิจปลาป่นที่มีไม่กี่ครอบครัว แต่ได้ทำลายอาชีพของชาวประมงชายฝั่งใน 22 จังหวัด ซึ่งมีอยู่กว่า 500,000 ครอบครัว ประชากรกว่า 1 ล้านคนที่เป็นชาวประมง ให้ต้องอดอยากยากจน???
3. ปี 2558 ประเทศไทยนำเข้าปลาป่น 31,100 ตัน และที่ทำจากเนื้อไก่ป่น เนื้อหมูป่น ซึ่งสามารถนำเข้าได้อย่างเสรี 330,200 ตัน กากถั่วเหลือง 2,694,748 ตัน ดังนั้นเราควรพิจารณายุติการส่งออกปลาป่น by catch โดยทันที
ธุรกิจอาหารสัตว์ที่ต้องใช้ปลาป่นที่มีโปรตีนสูงอย่างการเลี้ยงกุ้ง ไก่/หมูวัยอ่อน หรือแม่พันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ท่านต้องเสียสละ หรือเห็นแก่ความมั่นคงทางอาหารของสังคมโดยรวม โดยการไปนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่มามีส่วนร่วมรุมกันทำร้ายทำลายพี่น้องคนไทยด้วยกัน.