เปิดโพลวันเยาวชนปี 59 ชี้ เผชิญสารพัดปัญหา ทั้งปัจจัยเสี่ยง ความรุนแรง ครอบครัวแตกแยก ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีพื้นที่ปลอดภัย เรียกร้องรัฐออกนโยบายปกป้อง ด้าน “ยูนิเซฟ” เปิดตัวแอปพลิเคชันยูรีพอร์ต หวังเป็นช่องทางผลักดันสู่นโยบาย
วันนี้ (20 ก.ย. 59) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ร่วมกับ 30 องค์กร อาทิ องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติประจำปี 2559 ในงานมีเวทีเสวนาหัวข้อ “เสียงเด็กและเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย” ทั้งนี้ มีตัวแทนเยาวชนจาก 4 ภาคทั่วประเทศ ร่วมสะท้อนปัญหาและผลกระทบต่อเด็กเยาวชน รวมถึงการนำแอปพลิเคชันยูรีพอร์ต (U-Report) มาใช้เป็นเป็นช่องทางผลักดันสู่การออกนโยบาย
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เปิดเผยผลสำรวจของมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายฯลงพื้นที่สำรวจ “ปัญหาเด็กและเยาวชน กับการมีส่วนร่วมทางสังคม” ในกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษา 1,661 ราย จาก 4 ภาคทั่วประเทศ พบว่า เกินครึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง เมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมคิดและตัดสินใจ พบว่า 42.26% แค่ร่วมคิดแต่ไม่เคยได้ร่วมตัดสินใจ และ 18.42% ไม่มีโอกาสทั้งร่วมคิดและร่วมตัดสินใจ ปัญหาที่เยาวชนต้องเผชิญ ได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน 18.45% เหล้า บุหรี่ พนัน 18.20% แหล่งมั่วสุม 16.19% สื่อไม่สร้างสรรค์ 13.67% พื้นที่ไม่ปลอดภัย 11.80% การถูกกีดกันทางสังคม 7.59%
ทั้งนี้ ที่มาของปัญหาเกิดจากกฎหมายการบังคับใช้อ่อนแอความความไม่เท่าเทียม ขาดทักษะชีวิต มีทัศนคติเชิงลบ ครอบครัวอ่อนแอ และนโยบายรัฐบาลไม่เอื้ออำนวย ทำให้ส่งผลตามมา ได้แก่ครอบครัวแตกแยก สุขภาพจิตคุณภาพชีวิตแย่ ไม่มีความปลอดภัยในชีวิต ขาดโอกาสทางการศึกษา
“สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่เยาวชนอยากให้เกิดขึ้นจริง คือ ส่งเสริมพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์ 23.03% ครอบครัวชุมชนโรงเรียนใส่ใจแก้ไขปัญหา 18.83% เยาวชนมีส่วนร่วม 16.87% ที่สำคัญ 10.19% ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายปกป้องเด็กและเยาวชนที่เป็นจริง ทั้งนี้ สิ่งที่เยาวชนต้องการมีส่วนร่วมแก้ปัญหามากที่สุด คือ การศึกษา 28.34% รองลงมาสุขภาพ 12.19% ความรุนแรง 11.09% เพศ 11.56% และการเมือง 2.88% อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนชัดเจนว่า เยาวชนต้องการให้ผู้ใหญ่รับฟังเสียงของเขาบ้าง ขอให้เขาได้มีโอกาสร่วมแก้ไขปัญหา มีพื้นที่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือทำ” นายธีรภัทร์ กล่าว
นายคงเดช กี่สุขพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศ (ดิจิทัล) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า เสียงของเยาวชนมีความสำคัญตามหลักขั้นพื้นฐานของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในกว่า 190 ประเทศ ที่ร่วมลงนามเป็นภาคี และในยุคดิจิทัลนี้ ยูนิเซฟได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการเข้าถึงเด็กและเยาวชนของเทคโนโลยีการสื่อสารจึงได้ริเริ่มให้มีระบบยูรีพอร์ต ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชนให้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านระบบโพลในรูปแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบัน มีมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ที่เข้าร่วมใช้งานระบบยูรีพอร์ตและมีสมาชิกที่เรียกว่า ยู-รีพอร์เตอร์ (U-Reporter) มากกว่า 2 ล้านคน โดยหลักการของยูรีพอร์ต คือ จะมีคณะกรรมการยูรีพอร์ตในการคิดประเด็นคำถามที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเพื่อสอบถามยูรีพอร์เตอร์ในแต่ละเดือน ซึ่งสมาชิกเหล่านี้จะสามารถตอบกลับความคิดเห็นได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน U-Report จากนั้นคำตอบจะถูกรวบรวมและแสดงผลบนเว็บไซต์ ซึ่งผู้ที่กำลังติดตามประเด็นดังกล่าวอยู่ สามารถนำไปใช้ได้ทันที เช่น การนำเสนอข่าว นำไปเป็นข้อมูลให้กับภาครัฐเอกชน เอ็นจีโอ นักวิชาการ โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ทำได้ง่ายด้วยการดาวน์โหลดแอป U-Report หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://thailand.ureport.inหรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/UReportThailand
“เชื่อว่า ระบบนี้จะช่วยให้เปลี่ยนเสียงทุกเสียงของเด็กและเยาวชนให้กลายเป็นแรงผลักดันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมทั้งในระดับปฏิบัติการระดับกิจกรรมไปจนถึงเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายโดยยูรีพอร์ตนี้จะเป็นเครื่องมือในการรวบรวมความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมาก ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยผ่านทางแอปพลิเคชันและไม่มีการเปิดเผยตัวตนผู้ที่ตอบแบบสอบถาม” นายคงเดช กล่าว
ด้าน นางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับเยาวชนน้อยมากทั้งที่เขาควรจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้เกิดคุณภาพในทุกระดับ ซึ่งต้องเน้นที่การส่งเสริมสร้างกระบวนการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมมีกระบวนการพื้นที่สื่อสร้างสรรค์รวมถึงจัดกระบวนการสภาพแวดล้อมรอบตัวให้มีความปลอดภัย มีสื่อดี ๆ ที่ช่วยสร้างการเรียนรู้และเกิดภูมิคุ้มกันที่ดีซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เขาจะซึมซับจนเกิดเป็นความรับผิดชอบมีมิติเชิงบวก ดังนั้น กระบวนการทำงาน คือ ต้องให้เด็กเยาวชนได้ลงมือทำแก้ปัญหาจนเกิดเป็นการเรียนรู้ และเกิดการยอมรับจากผู้ใหญ่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในที่สุด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่