กลุ่มนักเรียน - นักศึกษา จี้ พม. ออกนโยบายแก้ปัญหาที่กระทบเยาวชน ทั้งความรุนแรง ขาดโอกาสทางสังคม ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์
วันนี้ (30 ก.ย.) เวลา 10.30 น. นายสุวิชัย อินธิสุคนธ์ แกนนำเครือข่ายเด็กเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง นำกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พร้อมด้วย มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และองค์กรด้านเด็กและเยาวชน กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผ่านทาง นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อเรียกร้องให้ พม. เร่งออกนโยบายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงอย่างจริงจัง
นายณัฐพงษ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายฯได้ลงพื้นที่สำรวจเด็กเยาวชน 1,661 รายจากทั่วประเทศ พบว่า เยาวชนต้องเผชิญสารพัดปัญหา ได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน 18.45% เหล้าบุหรี่ยาเสพติดการพนัน 18.20% แหล่งมั่วสุม 16.19% สื่อไม่สร้างสรรค์ 13.67% พื้นที่ไม่ปลอดภัย 11.80% การถูกกีดกันทางสังคม 7.59% โดยที่มาของปัญหานั้นเด็กเยาวชนมองว่าเกิดจากกฎหมายการบังคับใช้อ่อนแอความความไม่เท่าเทียม ขาดทักษะชีวิต มีทัศนคติเชิงลบ ครอบครัวอ่อนแอ และนโยบายรัฐบาลไม่เอื้ออำนวย ทำให้ส่งผลตามมา ได้แก่ ครอบครัวแตกแยก สุขภาพจิตคุณภาพชีวิตแย่ ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ที่น่าสนใจคือ เกินครึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมคิดและตัดสินใจ พบว่า 42.26% แค่ร่วมคิดแต่ไม่เคยได้ร่วมตัดสินใจ และ 18.42% ไม่มีโอกาสทั้งร่วมคิดและร่วมตัดสินใจ
“แม้ปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญกับเด็กเยาวชนมากขึ้น แต่ก็อยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพอใจนัก ทั้งที่เขาควรจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้เกิดคุณภาพในทุกระดับ ซึ่งต้องเน้นที่การส่งเสริมสร้างกระบวนการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมมีกระบวนการพื้นที่สื่อสร้างสรรค์รวมถึงจัดกระบวนการสภาพแวดล้อมรอบตัวให้มีความปลอดภัย มีสื่อดี ๆ ที่ช่วยสร้างการเรียนรู้และเกิดภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เขาจะซึมซับจนเกิดเป็นความรับผิดชอบมีมิติเชิงบวก ดังนั้น กระบวนการทำงานคือต้องให้เด็กเยาวชนได้ลงมือทำ แก้ปัญหาจนเกิดเป็นการเรียนรู้ และเกิดการยอมรับจากผู้ใหญ่จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในที่สุด” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายสุวิชัย อินธิสุคนธ์ แกนนำเครือข่ายเด็กเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า จากปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น เครือข่ายเด็กเยาวชนฯ ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อ พม. ดังนี้ 1. ขอให้มีนโยบายมาตรการที่ชัดเจนในการปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ 2. การจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กเยาวชน ลดพื้นที่เสี่ยง เพิ่มพื้นที่ปลอดภัย มีสื่อดีที่สามารถสร้างการเรียนรู้และเกิดภูมิป้องกันได้ 3. จัดกระบวนการเสริมศักยภาพเด็กเยาวชน เพิ่มทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม และ 4. ส่งเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ขอให้เด็กเยาวชนได้มีโอกาสร่วมแก้ไขปัญหา มีพื้นที่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือทำ
นายสุวิชัย กล่าวด้วยว่า ล่าสุด เครือข่ายฯได้ร่วมกับ Unicef ประเทศไทย นำระบบยูรีพอร์ต ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชน ให้ร่วมแสดงความคิดเห็น ผ่านระบบโพลในรูปแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน มีสมาชิกที่เรียกว่า ยูรีพอร์ตเตอร์ (Ureporter) โดยในแต่ละเดือนจะมีแบบสอบถามที่เกี่ยวข้องกับเด็กเยาวชน ซึ่งสมาชิกเหล่านี้จะสามารถตอบกลับความคิดเห็นได้ง่าย ๆผ่านแอปนี้ จากนั้นคำตอบจะถูกรวบรวมและประเมินผล ผ่านเว็บไซต์ทันที เชื่อว่า ระบบนี้จะช่วยให้เกิดนโยบายระดับสูง เพราะทุกเสียงของเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ และเครือข่ายหวังว่าจะมีโอกาพัฒนาช่องทาง กลไกในการสื่อสารประเด็นเสียงเด็กเยาวชน จากยูรีพอร์ตเตอร์ ส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้กับกระทรวง เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไปในอนาคตด้วย
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวภายหลังจากรับหนังสือ ว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่เยาวชนนำเสนอ ซึ่ง พม. มีกลไกยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ทั้งนี้ วันที่ 20 ก.ย. ซึ่งเป็นวันสิทธิเด็กเราคงมีการวางกรอบแนวทางร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่