กลุ่มเครือข่ายเยาวชน ยื่น ศธ. คัดค้าน สพฐ. จัดกิจกรรม “Smashed” ร่วมกับ องค์กรหน้าฉากธุรกิจเหล้า ห่วงสร้างทัศนคติการดื่มผิด ๆ ให้เยาวชนในสถานศึกษา จี้ ศธ. อย่าหลงกลตกเป็นเหยื่อ
วันนี้ (29 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วย เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และกลุ่มนักเรียน นักศึกษาจากหลายสถาบันกว่า 30 คน นำโดย นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้ ศธ. ยุติการจัดกิจกรรมโครงการ “Smashed วัยใสไกลแอลกอฮอล์” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกออล์ เนื่องจากมูลนิธิดังกล่าวมีบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าและจำหน่ายสุราต่างชาติรายใหญ่ในไทยอยู่เบื้องหลัง และกำลังมีการจัดกิจกรรมเข้าหาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนกว่า 40 แห่งในพื้นที่ กทม. โดยมี รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. เป็นผู้รับเรื่อง
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอเรียกร้อง 4 เรื่อง คือ 1. ขอคัดค้านการเข้ามาจัดกิจกรรมดังกล่าวในสถานศึกษา โดยอ้างการให้ความรู้ผลกระทบจากการดื่ม และการดื่มอย่างรับผิดชอบมาบังหน้า แต่แฝงด้วยการสร้างความคุ้นชิน และรู้สึกดีกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติเมื่อโตขึ้น มุ่งสู่การเป็นนักดื่มในอนาคต ยากที่เด็กนักเรียนจะเท่าทัน 2. ขอให้ ศธ. มีนโยบายที่ชัดเจน ไม่สนับสนุนให้สถานศึกษาร่วมกิจกรรมกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบ และองค์กรหน้าฉากของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. ขอเรียกร้องให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์และผู้บริหารสถานศึกษา แสดงจุดยืนต่อต้านอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และองค์กรหน้าฉาก และ 4. ขอให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มทุกราย หยุดทำกิจกรรมที่มุ่งเข้าหาเด็กและเยาวชน และแสดงความรับผิดชอบสังคมด้วยการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไปดูแลครอบครัวของเหยื่อจากน้ำเมาที่ตายปีละกว่า 2.6 หมื่นคน และพิการอีกมากมาย ซึ่งไม่เคยแสดงความรับผิดชอบมาก่อน และยังโยนความผิดให้ลูกค้าตนเองว่าดื่มอย่างไม่รับผิดชอบ
“ที่ผ่านมา ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการทำกิจกรรมผ่านองค์กรหน้าฉากที่จัดตั้งขึ้น ด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ และอ้างว่าคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเปลือกนอกจะสอดแทรกถึงพิษภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่บ้าง แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริง คือ ปลูกฝังแนวคิดให้เด็กและเยาวชนมองว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ เป็นสินค้าธรรมดาที่มีขายตามท้องตลาด โตแล้วใคร ๆ ก็ดื่มกัน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือตัวผู้ดื่มเอง ซึ่งแนวคิดนี้เป็นความจริงเพียงบางส่วน แต่เลี่ยงที่จะกล่าวถึงปัจจัยสำคัญคือ ตัวผู้ผลิต ผู้ขาย มาตรการทางภาษี การจำกัดการเข้าถึง ตลอดจนการควบคุมกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งมีงานวิจัยรองรับชัดเจนทั่วโลกว่าเป็นมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้ผล” นายธีรภัทร์ กล่าว
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนประมาณ 17 ล้านคน เป็นนักดื่มเยาวชนถึง 2.5 ล้านคน ส่วนที่ดื่มหนักแบบหัวราน้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้น และที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ทุกปีจะมีนักดื่มหน้าใหม่ที่เข้าสู่วงจรนี้ปีละกว่า 250,000 คน เด็กและเยาวชนในสถานพินิจร้อยละ 40.8 ก่อคดีหลังจากการดื่ม สาเหตุสำคัญของการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ประการหนึ่ง คือ การทำการตลาดทั้งทางตรงและทางอ้อมของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ที่ทำให้รู้สึกว่าแอลกอฮอล์เป็นสินค้าธรรมดาที่ไม่มีพิษภัย ซึ่งตรงข้ามกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ศธ. ต้องเท่าทัน อย่าหลงกล เพราะจะตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจดังกล่าว โดยยืนยันว่า องค์กรเหล่านี้หวังปลูกฝังทัศนคติการดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก และเยาวชนแบบหยั่งรากลึก
ด้าน รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้อมูลที่ทางเครือข่ายฯ ได้มา ซึ่งต้องกลับไปดูในข้อกฎหมายว่า สามารถดำเนินการได้หรือไม่ โดยสิทธิในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ถือเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งทุกคนสามารถเข้ามาดำเนินการได้ แต่ก็ต้องย้ำไปยัง สพฐ. ให้ตรวจสอบการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในสถานศึกษาให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม และกำชับไปยังโรงเรียนให้เข้มงวดตรวจสอบรูปแบบของกิจกรรมว่ามีอะไรแอบแฝงหรือไม่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่