ปัตตานี - เครือข่ายครูสอนศาสนาและประชาสังคมภาคใต้ ยื่นหนังสือให้ผู้ว่าฯ ปัตตานี แถลงเหตุผลคนชายแดนใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันไม่มีการบิดเบือน แต่ไม่รับเพราะเนื้อหา
วันนี้ (15 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกของเครือข่ายครูสอนศาสนา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือโรงเรียนปอเนาะ รวมถึงเครือข่ายสตรี และภาคประชาสังคมในชายแดนใต้ราว 300 คน ได้รวมตัวกันละหมาดฮายัตที่มัสยิดกลางปัตตานี พร้อมนัดอ่านแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลโต้ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า มีการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทำให้ผลการลงคะแนนเสียงประชามติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาไม่รับร่าง
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการจัดงาน ผู้นำเครือข่าย 4 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปเจรจาที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้กลุ่มผู้จัดงานตัดสินใจยกเลิกการอ่านแถลงการณ์ หันไปยื่นจดหมายให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีแทน โดยเนื้อหาของจดหมายระบุว่า การที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นการตัดสินใจหลังจากที่ได้อ่านร่างแล้ว และผู้นำศาสนาไม่ได้บิดเบือนเนื้อหาร่างแต่อย่างใด เพียงแต่ส่งบทบัญญัติมาตราที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องต่อคนในพื้นที่ให้อ่านโดยเป็นการคัดลอกแบบคำต่อคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดเกี่ยวกับสิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิทางการศึกษา และสิทธิด้านสาธารณสุข
นายมังโสด หมะเต๊ะ ประธานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดแดนภาคใต้เผยว่า ตามกำหนดเดิมนั้น เครือข่ายทั้งหมดซึ่งประกอบด้วย กลุ่มโรงเรียนตาดีกา โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนสอนศาสนา และกลุ่มสตรีจะรวมตัวกันที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี เพื่อละหมาดฮายัต เพื่อขอให้เกิดสันติสุข แล้วจากนั้นจะอ่านแถลงการณ์ชี้แจงถึงสาเหตุที่คนในจังหวัดชายแดนใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่สมาชิกบางคน เช่น นายกสมาคมสถาบันปอเนาะ ประธานสมาพันธ์ครูสอนศาสนาจังหวัดชายแดนใต้ ประมาณ 3-4 คน ไม่สามารถเดินทางมาถึงมัสยิดกลางได้ เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญไปพบที่จวน จึงได้เปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมที่มัสยิดกลางเป็นการละหมาฮายัตแทนเพื่อขอให้เกิดความสันติสุข หลังจากนั้นจึงไปยื่นหนังสือให้แก่เจ้าหน้าที่ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด และแถลงการณ์ที่เตรียมไว้นั้นก็ต้องเปลี่ยนเป็นจดหมายเปิดผนึกแทนแต่เนื้อหาอันเดียวกัน
นายมังโสด ระบุว่า สาเหตุที่เครือข่ายฯ ต้องออกมาแสดงจุดยืน ก็เพราะที่ผ่านมามีข่าวว่าสาเหตุที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากกลุ่มผู้นำศาสนา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามไปบิดเบือนข้อมูลจนทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่รับร่างฯ ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้น ผู้นำศาสนาไม่ได้บิดเบือนข้อมูล เผยแพร่เนื้อหาตามในร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับชี้ว่า การไม่รับร่างฯ ไม่ใช่เพราะคนเหล่านี้บิดเบือนข้อมูล แต่เป็นเพราะความเข้าใจของประชาชนที่ได้อ่านเนื้อหาจากเอกสารที่ผู้นำศาสนาส่งไปให้ ก่อนหน้านี้ ประชาชนไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์เพื่อนำไปศึกษาแต่อย่างใด
นายมังโสด กล่าวอีกว่า มาตราที่สำคัญๆ ที่ครูสอนศาสนา และผู้นำทางศาสนาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบโดยคัดลอกแบบคำต่อคำ ได้แก่ มาตรา 31 และ 67 และมาตราที่เกี่ยวกับการศึกษา ได้แก่มาตรา 54 และมาตราที่เกี่ยวข้องต่อสิทธิด้านการสาธารณสุข และสิทธิในการรักษาพยาบาล
สำหรับมาตรา 31 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค.นั้น บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
และมาตรา 67 บัญญัติว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”
ในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้นำด้านการศึกษาและศาสนาได้ทำงานอย่างหนักด้วยการค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่ง และสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้รับการแจกจ่ายเพื่อจะได้นำมาศึกษาและเผยแพร่อย่างถูกต้องในหมู่มุสลิม ขณะเดียวกัน ก็ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญมาบรรยายให้ความรู้ประกอบด้วย
โดยเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวข้องต่อศาสนา การศึกษา สาธารณสุข รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่พบว่าสิทธิของประชาชนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 นอกจากนี้ การที่ในช่วงใกล้วันออกเสียงประชามติ กกต. ได้จัดส่งจุลสารประชาสัมพันธ์ซึ่งมีเนื้อหาไม่สอดคล้องต่อร่างรัฐธรรมนูญหลายส่วนถือเป็นการหลอกลวง และผิดหลักการศาสนาอิสลาม จึงเป็นเหตุให้ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอำเภอใกล้เคียงที่นับถือศาสนาอิสลามไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญรวมถึงคำถามพ่วงในที่สุด แม้จะมีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามโน้มน้าวชักจูงให้เห็นชอบก็ตาม
“ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญในเนื้อหาด้านการบริหารและการปกครองไม่มีการกระจายอำนาจ และให้สิทธิแก่ชาวมุสลิมมลายู รวมถึงไม่สอดคล้องต่ออัตลักษณ์ และบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชาชนรวมถึงกลุ่ม และองค์กรในพื้นที่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกสาเหตุที่พวกเราไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญรวมถึงคำถามพ่วง” จดหมายเปิดผนึกระบุ
ภายหลังจากยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีแล้ว เครือข่ายทั้งหมดได้แยกย้ายกันเดินทางกลับ รวมถึงผู้นำศาสนาที่ถูกเชิญตัวมายังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนหน้านั้น