คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบ และระงับจุลสารการออกเสียงประชามติของ กกต. ระบุ มีเนื้อหาเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายประชามติ เนื้อหาบางอย่างไม่มีในบางมาตรา
วันนี้ (1 ส.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งสำนักงาน ก.พ. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบจุลสารการออกเสียงประชามติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อาจเข้าข่ายการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ประกอบมาตรา 55 และมาตรา 56
โดย นายเรืองไกร กล่าวว่า ได้รับจุลสารการออกเสียงประชามติของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ส่งมาทางไปรษณีย์ เมื่ออ่านดูข้อความในจุลสารดังกล่าว ได้พบข้อความที่อาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนกฎหมายประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ประกอบมาตรา 55 และมาตรา 56 ด้วย โดยข้อความที่ปรากฏในจุลสาร มีหลายแห่งที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง
อาทิ เรื่องการศึกษา ซึ่งในจุลสารระบุว่า เรียนฟรี 14 ปี แต่มาตราที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่มี อีกทั้งเรื่องการบริการสาธารณสุขที่ในจุลสาร ระบุว่า ทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างเสมอภาค และเท่าเทียม แต่ในร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่ระบุไว้เช่นนั้น มีการตัดหรือเติมถ้อยคำไปจากตัวบทรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีนี้จะมีผลกระทบทำให้การทำประชามติ ไม่เป็นไปโดยเที่ยงธรรม ตามมาตรา 55 และมาตรา 56
ทั้งนี้ หากไม่มีการสอบสวน หรือออกคำสั่งใด ๆ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถูกตรวจสอบ หลังผลประชามติออกมา ตนจะมาร้องค้าน 2 องค์กรนี้ ภายใน 24 ชั่วโมง อีกครั้ง ฐานไม่ดำเนินการใด ๆ ซึ่งเรื่องนี้ควรมาแจ้งให้นายกฯ ทราบโดยตรง เพราะยังมีเวลาเหลืออีก 5 - 6 วันก่อนถึงวันประชามติ เพื่อจะได้ระงับยับยั้งเรื่องจุลสารดังกล่าว ให้มีเกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า จึงเรียนมาเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) และอำนาจของหัวหน้า คสช. ตามความในรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 44 เพื่อสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. และ กรธ. ว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และบทกฎหมายอื่น คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มาตรา 210 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 หรือไม่ และขอได้โปรดพิจารณาด้วยว่า ควรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ดำเนินการกับของ กกต. และ กรธ. ตามแนวทางที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 44 / 2559 ไปแล้วหรือไม่