xs
xsm
sm
md
lg

“คณาจารย์ ม.อ.” ดับเครื่องชน “ผบ.มทบ.42” ล่าชื่อจี้อธิการฯ ป้องบุคลากร-เสรีภาพทางวิชาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรณี “ผบ.มทบ.42” คุกคามนักวิชาการยากจบ! เผยมีการรวบรวมรายชื่อคณาจารย์ และอดีตอาจารย์ในสังกัด ม.อ.ทุกวิยาเขต เพื่อทำบัญชีหางว่าวแนบท้ายหนังสือเปิดผนึกส่งถึง “อธิการบดี” ให้แสดงความกล้าหาญ และปกป้องบุคลากรในสังกัด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่ใช้ชื่อว่า Goo Badman โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กตัวเองช่วงเย็นวานนี้ (25 พ.ค.) โดยแนบสำเนาหนังสือที่ พล.ต.วิรัชช์ กมลศิลป์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 (มทบ.42) ค่ายเสนาณรงค์ (ค่ายคอหงส์) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เรื่องขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งได้ถูกตีความในเชิงปิดกั้น และคุกคามทางวิชาการจนเป็นข่าวเกรียวกราวในช่วง 3 วันมานี้ พร้อมมีข้อความเชิญชวนให้คณาจารย์ และอดีตอาจารย์ ม.อ.ทุกวิทยาเขตที่ไม่เห็นด้วยร่วมลงชื่อ หรือแจ้งชื่อ นามสกุล และสังกัด เพื่อรวบรวมนำไปแนบท้ายหนังสือเปิดผนึกที่จะส่งอธิการบดี ม.อ.ต่อไป
 
สำหรับเนื้อหาของโพสต์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้ “เนื่องจากมีอาจารย์หลายท่านของ ม.อ.ได้ให้ความเห็นต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และถูกคุกคามจากทางราชการตามหนังสือแนบ ผมจึงเรียนเชิญคณาจารย์ และอดีตอาจารย์ ม.อ.อ่าน และหากท่านเห็นด้วยขอความกรุณาร่วมลงชื่อ แจ้งชื่อ นามสกุล สังกัดวิทยาเขต หรืออดีตสังกัดก่อนเกษียณ หากไม่ต้องการเปิดเผยชื่อหรือไม่เคยเล่น Facebook กรุณาส่งชื่อของท่านยัง อ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ e-mail : sutthichai.n@psu.ac.th
 
นอกจากนี้แล้ว ในช่วงท้ายโพสต์ยังได้แนบเนื้อห่าร่างหนังสือเปิดผนึกที่จะจัดส่งให้อธิการบดี ม.อ.ไว้ด้วย โดยระบุว่า ฉบับปรับปรุง 20.16/25.05.59 ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ จดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง หนังสือขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของ มทบ.42 เรียน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
ตามที่ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ได้มีหนังสือถึงท่านอธิการบดีเพื่อขอความร่วมมือในการทำความเข้าใจต่อบุคลากรให้ทราบถึงวิธีการดำเนินงานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ นั้น คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดังมีรายนามแนบท้ายจดหมายนี้เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามเสรีภาพในทางวิชาการ ซึ่งไม่อาจยอมรับได้  จึงขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยืนยันในหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ดังนี้
 
1.ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดเห็นต่อประเด็นโครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพา คงไม่ใช่ความไม่เข้าใจถึงวิธีการดำเนินงานในโครงการดังกล่าว อย่างที่ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 กล่าว หากแต่เป็นมุมมองต่อประเด็นปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูล และความรู้ในทางวิชาการที่แตกต่างกัน
 
ทั้งนี้ หากเจ้าของโครงการเห็นว่า มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูล หรือยังขาดการพิจารณาข้อมูลใดๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรที่จะนำเสนอข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน มากกว่าที่จะใช้อำนาจในทางตรง หรือทางอ้อม เพื่อกำหนดให้คิดเห็นไปในทางเดียวกันแต่เพียงอย่างเดียว ความแตกต่างหลากหลายของความคิดเห็นจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด หากแต่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนถกเถียง อันจะนำไปสู่การพัฒนาในทางวิชาการ และการสร้างความเข้าใจร่วมกัน
 
เสรีภาพในทางวิชาการจึงเป็นสารัตถะของการดำรงความเป็นสถาบันการศึกษา หากปราศจากซึ่งเสรีภาพดังกล่าวแล้ว มหาวิทยาลัยก็ไม่อาจที่จะปฏิบัติภารกิจของตนในการพัฒนา และสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อให้สังคมก้าวหน้าต่อไปได้ เสรีภาพในทางวิชาการจึงเป็นหลักการสำคัญที่มหาวิทยาลัยจะต้องยืนยัน และปกป้องรักษาเอาไว้ และไม่พึงกระทำการใดๆ เพื่อตอบสนองต่อการคุกคามเสรีภาพดังกล่าว
 
2.การดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและวิถีชีวิตของประชาชน และชุมชนอย่างกว้างขวาง จำเป็นต้องอาศัยการพูดคุยถกเถียงอย่างรอบด้านถึงข้อดี ข้อเสีย เพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดของคนในสังคมก่อนการตัดสินใจ
 
กระบวนการดังกล่าวจะเป็นไปได้ก็แต่โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยได้รับข้อมูลข่าวสาร และองค์ความรู้ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และควรถือเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่จะนำองค์ความรู้ทางวิชาการมาสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปสู่ข้อสรุปที่สังคมยอมรับร่วมกันได้
 
ในทางตรงกันข้าม การดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ ที่มาจากการสั่งการของรัฐแต่ฝ่ายเดียว โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ย่อมรังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมต่อไปไม่สิ้นสุด มหาวิทยาลัยไม่พึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมเช่นนั้น
 
อนึ่ง มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นสูง ควรจะมีบทบาทนำในการสร้างเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ โดยการนำเสนอข้อมูลในทางวิชาการที่ถูกต้อง และรอบด้าน ทั้งนี้ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติ และสร้างการยอมรับร่วมกัน จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ขอแสดงความนับถือ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังจากที่ Goo Badman โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กตัวเองด้วยเนื้อหาดังกล่าวได้ไม่นาน ก็มีผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้าไปกดไลก์ และแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา อีกทั้งมีคณาจารย์ และอดีตอาจารย์ รวมถึงอาจารย์พิเศษของ ม.อ.จำนวนนับร้อยรายแจ้งชื่อประสงค์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเปิดผนึกที่จะส่งให้อธิการบดี ม.อ.ในครั้งนี้ด้วย
 
----------------------------------------------------------------------------------------
 
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
 
- มทบ.42 ร่อนหนังสือจี้อธิการ ม.อ.ทำความเข้าในกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา “ดร.สมพร ช่วยอารีย์” เจอแจ็กพอร์ต 
 
- สื่ออิสระ จชต.จี้ทหารหยุดคุกคามทางวิชาการต่อ “ดร.สมพร” ที่ ม.อ.ปัตตานี
 
- เครือข่ายพลเมืองสงขลาวอน “ผบ.มทบ.42” อย่าทำเกินหน้าที่ แนะเป็นตัวกลางเปิดเวทีให้ข้อมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน 
 
- เดือด! “ประสิทธิชัย” ซัดทหาร “โง่บัดซบ” หลังสั่งอธิการ ม.อ.จัดการคนต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
 
- “อดีตประธาน ทปอ.” ฟันธงทหารทำไม่เหมาะสม “ศิษย์เก่าดีเด่น” จี้ ผบ.มทบ.42 ขอโทษ ม.อ.
 
- “คณบดี ม.ทักษิณ” เรียกร้องผู้บริหารมหา’ลัยปกป้องพื้นที่วิชาการ-หนุนบุคลากรสู่ปัญญาชนสาธารณะ
 
- ภาค ปชช.นัดหมายตบเท้าเข้าค่าย มทบ.42 จี้ทหารหยุดคุกคามนักวิชาการต้านถ่านหิน
 
- NGOs ใต้แถลงการณ์จี้ทหาร มทบ.42 หยุดจำกัดเสรีภาพของนักวิชาการเพื่อสังคม
 
- เครือข่าย ปชช.บุกค่ายเสนาณรงค์ ยื่นจดหมายเปิดผนึกจี้ มทบ.42 หยุดคุกคามนักวิชาการต้านถ่านหิน
 
- กลุ่ม YPD. แถลงการณ์จี้ทหาร มทบ.42 หยุดจำกัดเสรีภาพนักวิชาการ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น